รีเซต

"คุกคามทางเพศ" ในที่ทำงาน: ภัยเงียบที่คนไทย 1 ใน 4 ต้องเผชิญ!

"คุกคามทางเพศ" ในที่ทำงาน: ภัยเงียบที่คนไทย 1 ใน 4 ต้องเผชิญ!
TNN ช่อง16
4 มิถุนายน 2567 ( 19:58 )
51
"คุกคามทางเพศ" ในที่ทำงาน: ภัยเงียบที่คนไทย 1 ใน 4 ต้องเผชิญ!

ข้อมูลชุดนี้เปิดเผยจากผลสำรวจของ สสส. ร่วมกับ นิด้าโพล สำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน วันที่ 9-16 พ.ค. 2567 กลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป 2,000 คน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน ซึ่งพบการคุกคาม และ ล่วงละเมิดตั้งแต่วาจา ไปจนถึงการกอด จูบ และ บีบบังคับ


โดยพบว่าเกือบ 1 ใน 4 หรือ 23.5% เคยเห็นการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ขณะที่ 6.3% หรือ 126 คน เคยถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ถูกกระทำมากที่สุดคือด้วยวาจา 50% พูด-วิจารณ์สัดส่วนร่างกาย และถึงขั้นขอหรือชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ 2.88% ด้านกิริยา จ้องมองแทะโลมด้วยสายตามากที่สุด 86.21%


ส่วนการคุกคามด้านร่างกายพบว่า 70.83% ถูกจับมือ แตะไหล่ แขน หลัง 66.67% เข้ามาใกล้หรือเบียด 8.33% ลูบ คลำ ต้นคอ บ่า หลัง 4.17% ถูกกอดจูบ และ 4.17% เคยถูกใช้กำลังบีบบังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศ กลุ่มตัวอย่างที่ถูกคุกคามทางเพศ 62.5% ได้รับข้อความส่อไปทางเพศ 25% ได้รับภาพเคลื่อนไหวลามก 12.5% ได้รับภาพร่างกายหรืออวัยวะเพศ บุคคลที่เป็นผู้คุกคามทางเพศอันดับหนึ่ง คือ เพื่อนร่วมงาน 81.75% หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา 16.67% ลูกค้า/ผู้รับบริการ 8.73% ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา 5.56% ผู้บริหาร/เจ้าของบริษัท 3.17% 


ส่วนมาตรการที่อยากให้หน่วยงานมี เพื่อจัดการกับการคุกคามทางเพศ กลุ่มตัวอย่างทั้งที่ถูกคุกคามและพบเห็นการคุกคาม 33.5% อยากให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้กระทำในลักษณะต่างๆ  30.4% มีนโยบายป้องกันที่ชัดเจน 25.8% มีช่องทางร้องเรียนสายตรงผู้บริหาร 25.25% มีฝึกอบรมพนักงาน


เมื่อถามผู้ถูกคุกคามทางเพศว่า ทำอย่างไรต่อจากนั้น  38.10% ไม่ทำอะไรเลย อีก 33.33% ใช้วิธีต่อว่า 3.17% ขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่อยู่ในบริเวณนั้น มีไม่ถึง 3% ที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกหรือแจ้งความ เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างที่เคยพบเห็นการคุมคามทางเพศ ส่วนใหญ่ 55.32% ไม่ทำอะไรเลย แต่น่ายินดีว่าอีก 29.57% เข้าไปต่อว่า 8.09% แจ้งหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา


นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่าข้อมูลจากผลสำรวจที่พบว่าผู้ถูกคุกคามและผู้พบเห็นการคุกคามทางเพศ ส่วนใหญ่เลือกจะนิ่งเฉย เพราะกังวล ว่าหากร้องเรียนหรือแจ้งความจะได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง


ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าการร้องเรียนของเหยื่อการคุกคามทางเพศมายังมูลนิธิฯ พบว่าเกิดจากทั้งเพื่อนร่วมงาน และ ผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้างาน ซึ่งมีการร้องเรียนเป็นจำนวนมากในหลากหลายองค์กร แต่ข้อมูลที่ตรงกันคือส่วนใหญ่เลือกจะปิดปากเงียบ และ ซุกปัญหาให้อยู่ใต้พรม เพราะแต่ละองค์กรขาดมาตรการในการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศที่ชัดเจนในสถานที่ทำงาน 


"มีกรณีหนึ่งเหตุเกิดขณะผู้ร้องเรียนฝึกอบรมเพื่อเป็นพนักงานต้อนรับของสายการบินแห่งหนึ่ง ปรากฎว่าถูกอาจารย์ผู้ฝึกอบรมคุกคามทางเพศ เมื่อไปแจ้งความดำเนินคดี ตำรวจไม่รับเพราะไม่มีหลักฐาน แต่พอมาร้องเรียนกับมูลนิธิฯจึงได้ส่งหนังสือไปยังองค์กร เมื่อผู้ก่อเหตุทราบก็ลาออกจากการเป็นอาจารย์ทันทีจึงไม่สามารถสอบสวน หรือ เอาผิดได้ ถือเป็นอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าองค์กรทั้งภาครัฐ และ เอกชนยังขาดมาตราการในการรับมือกับการคุกคามทางเพศ รวมถึงไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ถูกคุกคามได้" นายจะเด็จ ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของปัญหา 


ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  ชี้ว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งปรับกรอบความคิดของสังคมให้เข้าใจถึงภัย และ ความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเป็นสิ่งจำเป็น แต่กุญแจสำคัญยังคงเป็นการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการกำหนดนิยามการคุกคามเช่นอะไร คือการคุกคามด้วยสายตา การแบ่งระดับของการคุกคามที่ชัดเจน พร้อมบทลงโทษในแต่ละพฤติการณ์ 


นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. มองว่าการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกสถานที่ การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อป้องกัน ต่อต้าน การคุกคามทางเพศ ทุกที่ ทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ


โดยยกระดับการป้องกันการคุกคามทางเพศที่เข้มข้นขึ้นด้วยมาตรฐานสากล 1.ตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ 2.มีแนวปฏิบัติการรักษาความลับ 3.จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของ สสส. เรื่องการปกป้อง คุ้มครองการคุกคามทางเพศ 

นอกจากนี้ยังเตรียมจะขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบ โดยจะไม่สนับสนุน หรือร่วมดำเนินงาน ทั้งนี้ สสส. มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานป้องกันการคุกคามทางเพศ พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์ความรู้ ชุดข้อมูลวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบ ติดต่อที่ 02 343 1500 Facebook : สสส. หรือ Facebook นับเราด้วยคน เพื่อร่วมสานพลังสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ


การคุกคามทางเพศ ถือเป็นปัญหาที่นานาชาติให้ความสำคัญ เช่นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติทั่วโลก ต้องลงนามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในหลักการการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ  

ข้อมูลชุดดังกล่าวตอกย้ำว่าปัญหาการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เหยื่อยังรอความช่วยเหลือ ผู้ที่พบเห็นยังอยากให้มีการแก้ไข ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเหยื่อ ยังต้องการความปลอดภัย  

การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงพฤติกรรมทั้งการกระทำ วาจา สายตา ที่เป็นการคุกคามทางเพศ การกำหนดมาตรการจัดการผู้กระทำ และช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ถือเป็นกุญแจสำคัญป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง