รีเซต

"วิกฤติการเงินวัยเกษียณ" สัญญาณอันตราย คนไทยอยากทำงานต่อ หรือมีเงินไม่พอ

"วิกฤติการเงินวัยเกษียณ" สัญญาณอันตราย คนไทยอยากทำงานต่อ หรือมีเงินไม่พอ
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2568 ( 10:15 )
12

คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่อยากเกษียณ หลายคนอยากทำงานต่อ อยากให้ขยายอายุเกษียณไปจนถึง 65 ปี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นในยุคปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ใครหลาย ๆ คนใฝ่ฝันว่าช่วงเวลาของการเกษียณเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ได้พักผ่อน มีเวลามากพอได้ทำในสิ่งที่รัก หลังจากที่ผ่านการทำงานมายาวนานมากกว่า 30 ปี จริง ๆ แล้วคนไทยยังอยากทำงานต่อ หรือว่ามีเงินไม่พอที่จะเกษียณ

มีผลสำรวจจากนิด้าโพล ออกมานะครับ ในการสอบถามผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในประเด็นที่ว่า “ผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปี แล้วยังต้องการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพต่ออีกหรือ ?” โดยผลสำรวจระบุว่า คนไทยมากกว่า 57% ยังอยากทำงานต่อ ยังไม่อยากเกษียณ รวมถึงอยากให้ขยายอายุเกษียณงานจากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี โดยเกือบ 80% ของผู้ที่เห็นด้วยนั้นให้เหตุผลเพราะว่า สุขภาพยังดี ยังสามารถทำงานสร้างประโยชน์ได้ รองลงมา 77% ระบุว่ามีเวลาทำงานพอที่จะสร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง และ 36% ระบุว่า สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลลูกหลานได้ ไม่กลายเป็นภาระ 

ส่วนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และอยากเกษียณอายุนั้น เกือบ 70% ให้เหตุผลว่า ปัญหาสุขภาพ รองลงมา 37% ระบุว่า เสียโอกาสทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ถ้าหากต้องทำงานต่อ 34% ระบุว่า เวลาในการได้รับสิทธิประโยชน์เงินประกันชราภาพ/เงินบำเหน็จ/เงินบำนาญต้องเลื่อนออกไป และ 7% ระบุว่าเป็นการตัดโอกาสการเข้ามาทำงานของคนรุ่นใหม่

พอฟังมาถึงตรงนี้ก็อาจจะบอกได้ว่า คนไทยยังมีความต้องการทำงานต่อ แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดการสำรวจในประเด็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ในปัจจุบันยังทำงานอยู่หรือไม่ 65% ระบุว่าไม่ได้ทำงานแล้ว โดยมากกว่า 50% ให้เหตุผลว่า “สุขภาพไม่ดี” ซึ่งมีเพียง 26% ของผู้ที่ไม่ทำงานแล้วที่ระบุว่า “มีเงินสำหรับเกษียณเพียงพอแล้ว”

และเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด 35% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่ยังทำงานอยู่ จะพบว่าสาเหตุที่ยังต้องทำงานอยู่มากกว่า 80% เพราะว่า “ต้องการรายได้” ซึ่งก็สะท้อนภาพอีกมุมหนึ่งว่าคนไทย ”ยังไม่พร้อมที่จะเกษียณอายุ” เนื่องจากมีเงินใช้ที่ไม่เพียงพอหลังจากเกษียณ

และเมื่อนำมาเทียบเคียงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ แล้วในปี 2567 ที่ผ่านมาเนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 20% ของประชากรทั้งหมด หรือราว ๆ 14 ล้านคน นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณมีสัดส่วนถึง 21% หรือเกือบ 3 ล้านคน และมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีถึง 84% หรือเกือบ 12 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าการไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ที่ตำกว่าปีละ 30,000 บาทต่อปี อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

สอดคล้องกับผลสำรวจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่าคนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท เป็นสัญญานอันตรายที่กำลังบอกเราว่า “วิกฤติการเงินวัยเกษียณ” กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแนวโน้มก็มีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถ้าหากผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรืออาจจะไม่มีรายได้เลย ได้รับการดูแลจากลูกหลานก็อาจจะทุเลาเบาบางปัญหาลงไปได้ แต่ก็จะกลายเป็นภาระสำหรับคนในวัยทำงาน ที่ในปัจจุบันลำพังรายได้ที่จะนำมารับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างที่จะตึงตัวมากอยู่แล้ว

แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร จริง ๆ แล้ววิธีการรับมือวัยเกษียณมีหลักการที่ง่ายมาก นั่นคือการเตรียมแหล่งเงินออม หรือเงินทุนไว้ให้เพียงพอสำหรับการเกษียณ ฟังดูง่าย แต่กลับยากเหลือเกินในการปฏิบัติจริงให้ได้บรรลุเป้าหมาย

เพราะจริง ๆ แล้วคนไทยหลาย ๆ คนยังเข้าใจผิด หรือยังไม่เห็นภาพว่า เป้าหมายในชีวิตที่สำคัญ และต้องใช้เงินเยอะที่สุด และทำได้ยากที่สุดคืออะไร หลาย ๆ คนจะตอบว่าการซื้อบ้านเพราะมีมูลค่าสูงเป็นภาระหนี้สินที่ยาวนาน หรือการเลี้ยงดูลูกรับผิดชอบส่งเสียเรียนหนังสือซึ่งก็ใช้เงินไม่น้อย และยังใช้เวลาที่ยาวนานอีกด้วยจนกว่าลูกจะสามารถรับผิดชอบตัวเองได้

ไม่ปฏิเสธครับว่าทั้ง 2 เป้าหมายนั้นสำคัญ และใช้เงินจำนวนไม่น้อย และก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การใช้ชีวิตหลังเกษียณ” กลับเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ต้องใช้เงินมากที่สุด และสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ยากมาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะหลาย ๆ คนให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณเป็นสิ่งสุดท้าย ต้องการเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิตที่จับต้องได้ก่อน และค่อยเริ่มคิดถึงการเกษียณเมื่อมีอายุมากขึ้น ใกล้กับวัยเกษียณแล้ว

ทีนี้เรามาดูกันว่าถ้าเราจะเกษียณอายุอย่างสุขเกษม ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการเงิน เราจะต้องเตรียมแหล่งเงินทุนสำหรับเกษียณไว้เท่าไหร่ สมมติว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินต่อเดือนหลังเกษียณอยู่ที่ 30,000 บาท ก็จะเท่ากับปีละ 360,000 บาท ซึ่งถ้าเราเผื่อช่วงเวลาการใช้ชีวิตอยู่ที่ 25 ปี เราก็จำเป็นที่จะต้องมีเงินไว้ใช้สำหรับเกษียณมากถึง 9 ล้านบาท

นี่เป็นการคำนวนแบบพื้นฐานก่อนนะครับ ยังไม่มีการคำนวนเงินเฟ้อเข้าไป ซึ่งเมื่อเราคำนวนเงินเฟ้อเข้าไปด้วย คิดในเรทที่เป็นมาตรฐานปกติที่ 2.5% ต่อปี เราจะต้องเตรียมเงินสำหรับเกษียณไว้มากกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใครหลาย ๆ คนบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แล้วถ้ามันจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนนี้จริง ๆ จะมีทางไหนที่สามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินในการเกษียณได้

เอาเป็นวิธีการแรกก่อน นั่นคือใช้การลงทุนหลังเกษียณเข้ามาช่วยทุ่นแรงในการเตรียมเงินเกษียณของเรา ซึ่งถ้าเราลงทุนหลังเกษียณให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เมื่อนำมาปรับค่าด้วยเงินเฟ้อ 2.5% แล้วนั้น จะพบว่าเราต้องการเงินทุนสำหรับเกษียณที่ 6.7 ล้านบาท ลดลงไปเกือบครึ่งจากตัวเลขเมื่อสักครู่นี้ที่ 12 ล้านบาท ซึ่งหลาย ๆ คนเริ่มมองเห็นภาพว่ามีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

ทีนี้แล้วเราจะหาแหล่งเงินทุนจากไหนได้บ้างสำหรับการเกษียณอายุจำนวน 6.7 ล้านบาท คำตอบนั้นมีหลากหลาย และก็มีวิธีการมากมายครับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “เงื่อนไขของเวลา” ซึ่งเป็นปัจจัยเดียวที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ ผ่านแล้วผ่านเลยไป ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณในอายุ 55 ปี เราจะมีเวลาเก็บสะสมเงินทุนสำหรับเกษียณ 6.7 ล้านบาทเพียง 5 ปีเท่านั้น ซึ่งถ้าเราคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยที่ 5% เราจะต้องเก็บเงินเพื่อลงทุนในทุกเดือน ๆ ละ 98,520 บาท ซึ่งหลาย ๆ คนบอกว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะมันมากกว่ารายได้ที่ได้รับต่อเดือนด้วยซ้ำไป

แต่ถ้าเรามีเวลามากกว่านั้น เราก็จะมีโอกาสสะสมเงินทุนสำหรับเกษียณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่นถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 50 ปี เราจะต้องสะสมเงินเพื่อลงทุนเดือนละ 43,148 บาท

ถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 45 ปี เราจะต้องสะสมเงินเพื่อลงทุนเดือนละ 25,067 บาท

ถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 40 ปี เราจะต้องสะสมเงินเพื่อลงทุนเดือนละ 16,300 บาท

ถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 35 ปี เราจะต้องสะสมเงินเพื่อลงทุนเดือนละ 11,251 บาท

ถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 30 ปี เราจะต้องสะสมเงินเพื่อลงทุนเดือนละ 8,051 บาท

และถ้าเราเริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 25 ปี หลังจากที่เราเริ่มทำงาน เราจะต้องสะสมเงินเพื่อลงทุนเพียงแค่เดือนละ 5,898 บาท เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใครหลาย ๆ คนสามารถทำได้

ความสุขหลังเกษียณจะยังคงเป็นสิ่งสวยงามที่ใครหลาย ๆ คนเฝ้ารอเพื่อเป็นรางวัลแห่งการพักผ่อนในช่วงท้ายของชีวิต ถ้าเราเริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณที่มากขึ้น เราก็มีโอกาสที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเกษียณอายุได้อย่างที่ต้องการ และสามารถดำเนินชีวิตหลังเกษียณได้โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระทางการเงินให้กับลูกหลาน หรือบุคคลรอบข้าง เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเรามีความสามารถที่มากพอในการเกษียณเพื่อไม่ให้เป็นภาระจากรุ่นสู่รุ่น

แต่เงื่อนไขของเวลานั่นเป็นตัวแปรที่สำคัญ ที่ใครหลาย ๆ คนมองข้ามไป ประกอบกับการต้องใช้ความอดทน ความมีวินัยในการเก็บออม และลงทุน เป็นระยะเวลายาวนานเป็นสิบ ๆ ปี ยิ่งทำให้การบรรลุเป้าหมายในการเกษียณอายุนั่นยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราอดทนผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี และที่สำคัญ เมื่อเราประสบความสำเร็จในการวางแผนเกษียณแล้ว อย่าลืมส่งต่อให้กับลูกหลาน เพราะมรดกที่ล้ำค่าที่สุดไม่ใช่แค่เงินทอง แต่คือการส่งต่อวินัยทางการเงินเพื่ออนาคตให้กับคนรุ่นต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง