รีเซต

รู้จัก "Sexual Harassment การคุกคามทางเพศ" ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว!

รู้จัก "Sexual Harassment การคุกคามทางเพศ" ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว!
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2566 ( 12:00 )
86

ทำความรู้จัก "Sexual Harassment การคุกคามทางเพศ" ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อถูกกระทำควรทำอย่างไร แนะวิธีป้องกัน


ไม่ว่าจะเพศชาย หรือเพศหญิงอาจตกเป็นเหยื่อของ Sexual Harassment หรือ การคุกคามทางเพศ ได้ทั้งนั้น และสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากในยุคดิจิทัลที่ใคร ๆ สามารถเข้าถึงได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นคนที่ถูกกระทำมักจะไม่ค่อยออกมาบอก หรือแจ้งความเอาผิดผู้กระทำ เพราะสังคมไทยจะมีความเชื่อ และมีวิธีคิดที่ประหลาด คือจะมีการคิดว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายผิด โยนความผิดให้ผู้ถูกกระทำว่าเป็นคนไม่ดี หรือกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming)



Sexual Harassment คืออะไร

Sexual Harassment คือ การกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ในการร่วมรัก โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของหลายประการ ดังนี้

-การแสดงออกทางวาจา (Verbal Conduct) เช่น พูดจาล่วงเกิน พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย หรือพูดเล่นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น

-กิริยาท่าทาง หรือการแทะโลมทางสายตา (Visual Conduct) เช่น การจ้องมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น

-การสัมผัสทางร่างกาย (Physical Conduct) เช่น พยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบไหล่ เป็นต้น

-การส่งข้อความในเชิงอนาจาร (Written Conduct) เช่น เขียนจดหมาย หรือพิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ รวมไปถึงการส่งรูปภาพร่างกาย หรืออวัยวะเพศให้แก่ผู้อื่น


ผลกระทบที่ตามมาจากการถูก Sexual Harassment 


ผลกระทบมีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลเสียต่อเหยื่อ ทั้งในระยะสั้นและยาว เพราะการถูก Sexual Harassment นับเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจที่ทำให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัว คุกคาม และไม่ปลอดภัย

-ผลทางร่างกาย (Physical Effects) มีอาการทางกายที่ตามมาจากความเครียด ส่งผลต่อร่างกายได้ทุกระบบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการกินการนอนได้

-ผลทางจิตใจ (Emotional / Mental Health Effects) กังวล เศร้าซึม โกรธ รู้สึกผิด โทษตัวเอง หมดความมั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นกับอนาคตที่จะมาถึง รู้สึกอ่อนแอ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD


การป้องกันตนเองไม่ให้โดน Sexual Harassment

-ไม่เพิกเฉย ผู้ถูกกระทำไม่ควรเพิกเฉย เพราะการเพิกเฉยไม่ได้ช่วยให้การคุกคามทางเพศหยุดลง ต้องแสดงออกถึงความไม่พอใจ รู้จักพูดปฏิเสธเมื่อถูกคุกคาม

-ร้องเรียน หรือพูดคุยกับผู้มีอำนาจในโรงเรียน หรือในองค์กร เช่น คุณครู ตำรวจ เจ้านาย เป็นต้น

-ให้ความช่วยเหลือ หากอยู่ในสถานการณ์ หรือพบเห็นผู้ถูกกระทำไม่ควรเพิกเฉย โดยอาจใช้วิธีห้าม หรือขอร้องให้หยุดการกระทำนั้น เพราะการพบเห็นเหตุการณ์แต่เพิกเฉยเท่ากับว่าเราเป็นส่วนร่วมในการกระทำนั้นด้วย


เมื่อถูกคนใกล้ตัว Sexual Harassment ควรทำอย่างไร 


Sexual Harassment สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใดหรือในสถานการณ์ไหน สิ่งที่ยากในการจัดการกับ Sexual Harassment เนื่องจากบางครั้งผู้กระทำเป็นผู้อาวุโส มีอำนาจ สามารถให้คุณให้โทษกับเหยื่อ เป็นคนที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นคนดี บางครั้งผู้กระทำมีการข่มขู่เหยื่อร่วมด้วย ทำให้เหยื่อไม่สามารถบอกใครและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้


1. เอาตัวเองออกจากสังคมหรือสถานการณ์เสี่ยง หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนหรือสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิด Sexual Harassment หากจำเป็นให้คิดวิธีป้องกันตัวเอง หาทางหนีทีไล่ เช่น ส่งสัญญาณให้เพื่อนมาดึงตัวไป

2. บอกปฏิเสธกับผู้กระทำ ตั้งสติ ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังถูก Sexual Harassment หากเป็นไปได้ให้พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นก่อน หรือกล้าที่จะปฏิเสธ บอกผู้กระทำว่าสิ่งที่ผู้กระทำทำอยู่เป็นสิ่งที่ผิด

3. เล่าให้คนที่ไว้ใจฟัง เล่าเรื่องและระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้คนที่เราไว้ใจฟัง ขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือ

4. แจ้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการเรื่องนี้คิดวางแผนให้รอบคอบว่าจะแจ้งใครบ้างและในรูปแบบไหน บางครั้งโลกไม่ได้ยุติธรรมกับเราเสมอไป เช่น การร้องเรียนอาจทำให้ถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเดิม อาจต้องแจ้งกับหลายหน่วยงานและหลายคนเพื่อให้มีพยาน

5. บันทึกหลักฐานรูปแบบต่างๆ เช่น การอัดเสียง อัดคลิป ภาพถ่าย การเขียนบันทึกไดอะรี่ การแค้ปข้อความเก็บไว้ เพื่อไว้ใช้ในการดำเนินการสอบสวนหรือทางกฎหมาย




ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลเพชรเวช / รงพยาบาลมนารมย์ 

ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง