โค้งสุดท้ายปี’64 ลงทุนหุ้น-ทอง กูรูเตือนต้องทันเกม‘ไปต่อ-ถอยร่น’
ก้าวเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2564 อย่างเต็มตัว หลังจากผ่าน 9 เดือนแรกมาได้อย่างโชคช่วย โดยเฉพาะในภาคการลงทุนฉบับสั้น อย่างหุ้น ทองคำ เนื่องจากปัจจัยรบกวนระหว่างทางนั้นสูงมาก รวมถึงการเข้ามาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โจมตีรูปแบบการลงทุนและตลาดการเงิน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อความเสี่ยงมากบ้างน้อยบ้างหมุนเวียนสลับกันไปมา และเกิดการสะสมในแต่ละสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไป
เราได้เห็นการเหวี่ยงขึ้นลงของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น สกุลเงินดิจิทัล อสังหาริมทรัพย์ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ อีกทั้งได้เห็นความไม่ปลอดภัยของราคาที่ปรับขึ้นหรือปรับลงอย่างร้อนแรง พร้อมจำนวนถี่มากสุดหากเทียบกับหลายวิกฤตที่ผ่านมา ตลาดเงินทุนผูกติดกับภาวะผันผวนสูงมามากตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2563 ถึงทุกวันนี้
และอีก 3 เดือนจะเกิดอะไร กูรูมีคำตอบ…
⦁ตลาดหุ้นไทยยังไปต่อ
ชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน) ตลาดหุ้นไทย ปิดที่ระดับ 1,605.68 จุด หรือปรับตัวขึ้นเพียง 1.13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 (เมษายน-มิถุนายน) ที่ปิดระดับ 1,587.79 จุด แต่หากเทียบกับสิ้นปี 2563 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 156.33 จุด หรือปรับดีขึ้น 10.79% สำหรับตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/2564 (ตุลาคม-ธันวาคม) ยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ไว้ที่ระดับ 1,700 จุด มีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น ทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต ผลมาจากการปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการปรับฐานระยะสั้นเนื่องจากมูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ที่สูงขึ้น
ดังนั้น ประเด็นที่ต้องจับตาคือ สถานการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากอาจสร้างความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มหุ้นที่ยังสามารถไปต่อได้ ชิปหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง การเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะหนุนการเปลี่ยนผ่านไปยังภาคบริการ ส่วนหุ้นธนาคาร ในระยะสั้น คาดว่าอาจสะดุดได้ จากแนวโน้มกำไรอ่อนแอลงในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่สร้างโอกาสระยะยาว ในการเข้าซื้อจากการพักฐาน โดยคงให้น้ำหนักมากกว่าตลาด เนื่องจากมีงบดุลที่แข็งแกร่ง ขณะที่ราคาหุ้นค่อนข้างถูก ซื้อขายเพียง 0.8 เท่าของมูลค่าหุ้นทางบัญชี รวมถึงคาดว่าจะมีการเปิดเมืองได้ปลายไตรมาส 4/2564 ทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบเร่งตัวขึ้น และสร้างอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของสินเชื่อ โดยที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะฟื้นตัวคลายกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ได้ด้วย
⦁ดัชนีก้าวสู่1,700จุดเร่งฟื้นศก.
บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ต่อไตรมาส 4/2564 ไว้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไตรมาส 4 นี้เป็นต้นไป หลังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีขึ้น และเกิดตัวเลขติดเชื้อรายใหม่คลี่คลายลง มองอีกว่าการกลับมาเปิดเศรษฐกิจใหม่ในรอบนี้คาดว่าจะแข็งแรงขึ้นจากผู้ได้รับวัคซีนโควิดมีจำนวนสูงขึ้น จากสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงเป้าหมาย 50 ล้านโดส และจะมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส รวมประมาณ 26.1% ซึ่งเอื้อต่อการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อควบคู่การเปิดเมือง
รวมถึงคาดว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยโค้งสุดท้ายของปี โดยแม้ตลาดหุ้นจะค่อนข้างผันผวนตามแรงกังวลของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี)ของสหรัฐ แต่ในการวิเคราะห์ชี้ว่าไม่กังวลมากนัก หากพิจารณาจากสถิติปี 2556-2557 พบว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่จะผันผวนและปรับลงช่วงที่มีการเริ่มส่งสัญญาณลดคิวอี (มาตรการอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ) ในปี 2556 โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย และกระแสเงินทุนพลิกมาไหลออกหลังซื้อสุทธิในปี 2552-2556 ประมาณ 1.9 แสนล้านบาทแต่เมื่อเริ่มลดคิวอีแล้วในปี 2557 ตลาดหุ้นส่วนใหญ่สามารถปรับตัวขึ้นได้โดยเฉพาะดัชนีหุ้นที่ปรับขึ้นมาดีกว่าภาพรวมตลาดรวมมากที่สุด ส่วนการปรับลดคิวอีช่วงปลายปี 2564 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มองว่าไม่ส่งผลลบต่อหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีสถานะซื้อในหุ้นไทยอยู่แล้ว
ในการวิเคราะห์ระบุอีกว่า ตั้งแต่เริ่มอัดฉีดมาตรการคิวอีปี 2563 นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 2.3 แสนล้านบาท และให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวซึ่งมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทยในปี 2565 ส่วนประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐที่สร้างความผันผวนแก่ตลาดเป็นระยะๆ พร้อมกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก และไม่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งแนวโน้มค่าเงินบาทจะมีโอกาสอ่อนค่าต่อในระยะสั้น แต่หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ตามคาดประเมินว่าจะทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสพลิกมาแข็งค่าปี 2565 จากการพลิกกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และสถิติในอดีตค่าเงินบาทแกว่งตัวสัมพันธ์กับแนวโน้มเศรษฐกิจมากกว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ย คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะปิดปี 2565 ที่ 1,770 จุด หากดัชนีปรับลงมาที่ระดับ 1,600 จุด หรือต่ำกว่า แนะนำเป็นจังหวะทยอยสะสมเพื่อลงทุนระยะกลาง-ยาวต่อไป
⦁ทองคำติดร่างแห‘ผันผวน’
ตลาดทองคำที่ถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสุดในการลงทุนก็ยังมีทิศทางผันผวนต่อเนื่องแต่ยังมีความหวังทำกำไร โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง กล่าวถึงแนวโน้มตลาดทองคำ ว่าช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวนมาก ต้นเดือนตุลาคมราคาทองคำสปอตปรับลดลงแรงทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 เดือน แตะ 1,680 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หลังจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนกรกฎาคมออกมาแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น 943,000 ตำแหน่ง ดีกว่าตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 870,000 ตำแหน่ง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินมาตรการคิวอี แต่หลังจากนั้นราคาทองคำสปอตฟื้นตัวกลับอย่างต่อเนื่อง จนยืนเหนือ1,800 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้
ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อทองคำกลับเข้ามาจากความกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้คาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอเวลาการปรับลดวงเงินมาตรการคิวอี และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐบางตัวอ่อนแอ โดยมองว่าในระยะถัดไปทองคำยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก แม้มีปัจจัยกดดันทำให้ราคาผันผวนเป็นระยะ แต่เชื่อว่าทองคำอาจไม่เจอแรงเทขายเหมือนเดือนกันยายนของทุกปี หรือช่วงที่ผ่านมาของทั้งปี ทำให้ยังสามารถลงทุนได้แต่ต้องรอจังหวะการย่อตัว และขายทำกำไรในช่วงที่ราคาปรับขึ้นมาเพียงพอแล้ว
เหลือเพียง 3 เดือนสุดท้ายของปี การลงทุนสินทรัพย์เคลื่อนไหวอย่างหุ้นและทองคำที่ต่อปีซื้อขายกันหลายแสนล้านบาท จะไปได้มากน้อยเท่าใด เรียกได้ว่าประเมินได้ยาก และนักลงทุนต้องทั้งเก่งและเฮง