รีเซต

ลงทุน‘บีซีจี’ พลิกเศรษฐกิจไทย ตอบโจทย์โลก ใต้เงื่อนไขนับถอยหลังเลือกตั้ง

ลงทุน‘บีซีจี’ พลิกเศรษฐกิจไทย ตอบโจทย์โลก ใต้เงื่อนไขนับถอยหลังเลือกตั้ง
มติชน
4 เมษายน 2565 ( 09:19 )
55

นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 แพร่เชื้อไปทั่วโลก เศรษฐกิจทั่วโลกช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต่างได้รับผลกระทบรุนแรง ทุกประเทศมุ่งค้นวัคซีนป้องกัน ตัวโรคกลายพันธุ์จนความรุนแรงลดลง ทั่วโลกกลับมาดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจจนเริ่มปกติ รวมถึงประเทศไทย แม้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะคลายล็อกจนการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว แต่ก็ต้องเผชิญผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เกิดวิกฤตพลังงานดันราคาสินค้า ประชาชนได้รับผลกระทบ รายจ่ายเพิ่ม กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดตลอดปีนี้

 

⦁ทีดีอาร์ไอห่วงปัจจัยลบสกัดลงทุน
สแกนเครื่องมือรัฐบาลที่ใช้ต่อสู้วิกฤตซ้อนวิกฤตครั้งนี้ ระยะสั้นยังเป็นมาตรการเยียวยา โดยเฉพาะด้านพลังงาน ขณะที่ระยะกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดปี 2565 และอนาคต ด้วยภาวะท่องเที่ยวไม่แน่นอนสูง ไทยจำเป็นต้องพึ่งภาคการส่งออก รวมทั้งการลงทุนจากรัฐและเอกชน ซึ่งรัฐบาลมุ่งเป้าดึงต่างชาติลงทุนประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบโจทย์บีซีจี

 

แผนดังกล่าวมีความเป็นไปได้แค่ไหน นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า หากเทียบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไทย การระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ผลในระยะสั้นไม่ดีกับการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย แต่ใช่ว่าจะไม่มีธุรกิจที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเลย เพราะยังมีการลงทุนเพื่อการส่งออก หรือการลงทุนในธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

 

อย่างไรก็ดี ในด้านการลงทุนไทยยังมีเรื่องที่ดีอยู่บ้าง เพราะปัจจุบันไทยหันมาเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือบีซีจีมากขึ้น เป็นเทรนด์ของโลก หลายหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐเริ่มให้ความสนใจและส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้น โดยบีซีจีจะเกิดการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวต่อไป

 

⦁วูก้ากดยุคทองลงทุนเหลือ50%
นณริฏ กล่าวเสริมว่า การลงทุนระยะกลาง ปัจจุบันภาครัฐเริ่มจับทางได้ค่อนข้างดี คือการดึงกลุ่มบีซีจี ส่งผลให้เกิดโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ พอได้เห็นเม็ดเงินลงทุนในช่วงนี้ อาทิ ดิจิทัล แอสเซท หรือการลงทุนประเภทบิทคอยน์ นอกจากนี้ คาดว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากความกังวลเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง กรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ จีน รัสเซีย ยูเครน ไต้หวัน จนเป็นเหตุให้นักธุรกิจในประเทศเหล่านั้นมีโอกาสเบนเข็มย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ยังไม่ได้ช่วยให้การลงทุนทุกประเภทกลับมา ตอนนี้ยังกลับมาเป็นหย่อมๆ เพราะการลงทุนจะฟื้นกลับมาเต็มที่เศรษฐกิจไทยจะต้องกลับมาดีก่อน

 

ส่วนความคาดหวังของรัฐที่ต้องการให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการลงทุน นณริฏ ประเมินว่า ตอนนี้ความสำเร็จกับไม่สำเร็จเท่ากันที่ 50% เนื่องจากปัจจุบันไทยไม่ได้อยู่ในยุคทองของเศรษฐกิจแบบเดิมคือ หยิบจับหรือลงทุนอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด บวกกับโลกในอนาคตเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้ ไม่แน่นอน เสี่ยงสูง หรือที่เรียกว่า วูก้าจึงทำให้ภาพปีแห่งการลงทุนของไทยไม่ชัดเจน จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว และโควิด-19 จะผ่านพ้นไป สรุปคือยังไม่มีทางที่ไทยจะกลับไปสู่ยุคทองได้ง่ายๆ

 

สำหรับเศรษฐกิจปีนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือเศรษฐกิจโลก อาทิ ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ แนวโน้มสงครามรัสเซียกับยูเครน และเศรษฐกิจจีนจะเกิดวิกฤตอีกหรือไม่ สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างสวยหรูมากนัก แต่ข่าวดีที่พอมีให้เห็นคือ เศรษฐกิจไทยโตมาจากฐานต่ำ เมื่อปี 2563 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ ติดลบ 6.1% และเมื่อปี 2564 เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวบวก 1.6% ส่วนในปีนี้เดิมทีดีอาร์ไอคาดการณ์ 4% แต่ด้วยปัจจัยลบจึงได้ปรับประมาณการเหลือ 3% แม้จะดีกว่าปีก่อนหน้า แต่ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับไปเท่ากับปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

 

ส่วนการทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับปัจจัยลบว่าจะส่งผลกระทบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์หรือไม่ อาทิ ประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐ ถ้าควบคุมได้จะถือเป็นข่าวดี สถานการณ์ไม่ร้ายแรงอย่างที่คาด ตอนนี้จึงได้แต่ลุ้นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะไม่รุนแรงและลากยาว ส่วนปัจจัยในประเทศต้องติดตามว่าภาครัฐจะวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวต่อไปอย่างไร

 

⦁ลุ้นรัฐฟื้นศก.-เกาะติดเกมเลือกตั้ง
นณริฏ ระบุว่า มี 2 คำถาม คือ 1.เมื่อไหร่ภาครัฐจะเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือพยายามหาทางทำให้ภาคประชาชน และธุรกิจ กลับฟื้นขึ้นมาได้ 2.ภาครัฐจะกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูหรือไม่ หากภาครัฐหันกลับมาเริ่มโหมดฟื้นฟู หรือเริ่มมองภาพระยะยาวมากขึ้นบวกกับปัญหาโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี กลายเป็นโรคประจำถิ่นจริง จะถือเป็นข่าวดีเป็นปัจจัยบวกสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบไม่สะดุดได้ต่อไป

 

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุน การฟื้นเศรษฐกิจ แต่อีกหนึ่งปัจจัยคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ สนามแรกของปีนี้คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน และคาดว่าระยะถัดไปรัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีลาออกหรือยุบสภา ช่วงปลายปี 2565 หรือหลังจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) หรืออาจจะลากยาวอยู่จนครบเทอมในช่วงกลาง 2566 ก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้ประชาชนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแน่นอน เรื่องนี้จึงมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจะเตรียมแผนและพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน รวมถึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งใจทำงาน จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ และช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นเช่นกัน

 

“ทั้งหมดนี้ ท้ายสุดต้องอยู่ที่ว่าเมื่อถึงวันนั้นจริงๆ การเมืองจะคลี่คลายอย่างไร ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้งในอนาคต รัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีอายุการทำงานถึงเมื่อไหร่ ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่ ถ้าปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกช่วยทั้งเรื่องดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง รวมถึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตมากกว่า 3% ได้อีกด้วย” นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอทิ้งท้าย

 

ปฏิบัติการมุ่งลงทุนบีซีจีจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย หรือติดหล่มการเมือง จนสถานการณ์พลิกอีกด้าน รอติดตาม!!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง