รีเซต

เปิดประเทศปั๊ม‘เศรษฐกิจ’ทั่วไทย หวัง‘กำลังซื้อ-ท่องเที่ยว-ลงทุน’ดีดกลับ

เปิดประเทศปั๊ม‘เศรษฐกิจ’ทั่วไทย หวัง‘กำลังซื้อ-ท่องเที่ยว-ลงทุน’ดีดกลับ
มติชน
9 พฤษภาคม 2565 ( 09:08 )
70

ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤต จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญยุค “ข้าวยากหมากแพง” ทั่วไทย หันหน้าไปทางไหน มีแต่เสียงบ่น “ของแพง แต่ค่าแรงเท่าเดิม” ส่งผลค่าครองชีพครัวเรือน ถีบตัวสูงขึ้นๆ

 

แม้ผ่านไตรมาสแรกของปี 2565 ไปแล้ว แต่ชีพจรเศรษฐกิจไทย ภายใต้วิกฤตโลก ยังคงเปราะบางจากสารพัดปัจจัยรุมเร้า ล่าสุด กูรูเศรษฐกิจหลายสำนัก ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เหลือ 3.0-3.5% และเริ่มเห็นหั่นลงต่ำกว่า 3% เหลือ 2.6-2.8% แล้ว

 

ทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร “มติชน” จึงได้สำรวจเศรษฐกิจ 5 ภาค จากเสียงสะท้อนของประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาค หอการค้าไทย ต่างพูดไปในทิศทางเดียวกัน หลังรัฐบาลเปิดประเทศวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ทั้งการบริโภค การลงทุนและการท่องเที่ยวแม้ยังกลับมาไม่ 100% อย่างน้อยทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พร้อมสะท้อนปัจจัยที่ต้องติดตามในครึ่งหลังปีนี้

 

⦁อีอีซี-ส่งออกผลไม้หนุน‘ตะวันออก’
เริ่มที่ ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกได้คาดการณ์ว่าปี 2565 เศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% เพิ่มจากปีก่อนที่เติบโต 3-4% โดยการบริโภค ลงทุนและท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปีนี้ หลังคนคลายกังวลเรื่องโควิดและรัฐประกาศการเปิดประเทศ ทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาคึกคักขึ้นพบว่า มีนาคม-เมษายน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 50% ส่วนการจ้างงานกลับมาแล้ว 61% การลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีการลงทุน 509 โครงการ มูลค่า 247,000 ล้านบาทการค้าชายแดนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 12% และกำลังลุ้นส่งออกผลไม้ช่วง 3-4 เดือนที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด คาดว่าสร้างรายได้เพิ่มอีกหลาย 10,000 ล้านบาท

 

การลงทุนอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง เพราะอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งไตรมาส 2 นี้ จะเห็นลงทุนโครงการใหญ่ เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีเปิดตัวใหม่ แม้ซัพพลายเริ่มล้นตลาดแล้วก็ตาม

 

สิ่งที่น่าห่วง คือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เจอหลายเด้ง ทั้งภาระหนี้และขีดความสามารถด้านการแข่งขัน รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน สินค้าแพง กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันมาช่วยเสริมมาตรการต่างๆ ที่จะสิ้นสุดมิถุนายนนี้ เพราะถ้าไม่มีมาตรการ จะทำให้กำลังซื้อชะงัก

 

⦁แห่ปักหมุด‘อีสาน’รับไฮสปีดลาว
ด้าน สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) กล่าวว่าปี 2564 เศรษฐกิจภาคอีสานไม่โต คาดปีนี้เติบโต 3.5% เพราะหลังเปิดประเทศเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาคึกคัก ทั้งกำลังซื้อและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการโรงแรมเพิ่ม 30% หาก สปป.ลาว ลดขั้นตอนตรวจโควิดเพื่อผ่านแดน จะยิ่งคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการขนส่ง ได้อานิสงส์จากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ขณะนี้มีนักลงทุนสนใจลงทุนศูนย์ขนส่งสินค้ารอแล้ว

 

ภาคอีสานมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางหลายด้าน ทำให้การลงทุนยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจบริการและโลจิสติกส์ส่วนอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีนักลงทุนส่วนกลางกลับเข้ามาหาซื้อที่ดินที่อุดรธานี ขอนแก่น โคราช และหนองคาย เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ อยากให้รัฐบาลเร่งพัฒนาทั้ง 4 จังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขับเคลื่อนการลงทุนเชื่อมโยงจังหวัดโดยรอบและเพื่อนบ้าน โดยแยกงบพัฒนาออกจากงบประมาณจังหวัด และขอให้รัฐออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 อีกครั้ง กระตุ้นกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นไม่ให้สะดุด

 

⦁ภาคกลางหง่อยซึมทุกเซ็กเตอร์
ฟาก ธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมภาคกลาง ยังไม่พื้นตัว ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และค่าครองชีพยังสูงขึ้น ปัจจุบันภาคการบริโภค ภาคท่องเที่ยว ภาคประชาชน ทุกเซ็กเตอร์ยังอยู่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก แต่รายได้เท่าเดิม ขณะที่การลงทุนก็ขยายตัวลดลง เริ่มมีโรงงานปิดตัว และย้ายฐานการผลิตส่วนการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นเฉพาะพื้นที่โซนติดทะเล เช่น เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน จะมียอดพักโรงแรมค่อนข้างเต็ม และหลังเปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นและทำให้เศรษฐกิจภาคกลางทั้งปีนี้โต 3.0-3.5%

 

ขอให้รัฐออกมาตรการช่วยเรื่องค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 เราเที่ยวด้วยกันเพื่อช่วยธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว โดยให้หน่วยงานราชการจัดประชุมสัมมนาต่างจังหวัดในช่วงวันธรรมดา เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อเพราะกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่ปกติต้องใช้เวลา 2 ปี

 

⦁เปิดประเทศปลุก‘เหนือ’ไม่ขึ้น
สำหรับ สมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือกำลังซื้อยังซบเซา จากค่าครองชีพสูงขึ้น คาดหวังหลังเปิดประเทศจะคึกคัก และส่งผลดีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภาคเหนือมากขึ้น ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นอีกครั้ง ตอนนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้ยอดพักโรงแรมไม่ถึง 10% ด้านการลงทุนยังชะลอตัว ไม่มีการลงทุนใหม่ ซึ่งจากต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรัดกุมด้านการลงทุน และเพื่อเพิ่มรายได้ นอกเหนือ จากการค้าชายแดนที่เป็นรายได้หลัก กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ มีแผนจะเปิดตลาดส่งออกสินค้าไปที่ประเทศฮังการี และสาธารณรัฐเช็กในปี 2566 นี้

 

เมื่อถามถึงกำลังซื้อ ประธานเหนือย้ำ ช่วงนี้กำลังซื้อยังซบเซา ขอให้รัฐต่อมาตรการคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ในช่วงที่ค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพง ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน

 

⦁‘ใต้’นักท่องเที่ยวไหลเข้า-ลงทุนสุดเหงา
ปิดท้าย วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า แม้จะมีโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง แต่หลังรัฐเปิดประเทศ คาดหวังว่าเศรษฐกิจภาคใต้จะฟื้นตัวแม้ขณะนี้อยู่ในช่วงโลว์ซีชั่น แต่เริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามากขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นถึงปลายปี 2565 เมื่อการท่องเที่ยวดี ทำให้รายได้ของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีรายได้จากทำสวนเกษตรที่ราคาเริ่มดีขึ้น ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ล่าสุด ปาล์มน้ำมันราคาอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ถึงแม้มีรายได้เพิ่ม แต่รายจ่ายก็เพิ่มตาม จากราคาน้ำมันและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 20%

 

การลงทุนภาคใต้ชะลอตัวตั้งแต่มีโควิด โดยเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 4-5% ต่อปี โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่มีการลงทุนเลย เพราะมีปัญหาต้นทุนการขนส่งที่สูงกว่า จึงไม่จูงใจเอกชน ยกเว้นลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการส่งออก เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ยังไปได้ดีขณะที่การลงทุนด้านอื่นชะลอตัวและปิดตัวไปมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลเร่งรัดจัดสรรเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ให้เติบโต เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ 2 ครั้งที่ภูเก็ตและกระบี่ แต่ยังไม่มีการผลักดันโครงการ เช่น รถไฟสายใหม่สุราษฎร์-พังงา-ภูเก็ต เชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย หากโครงการเกิดจะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้เฟื่องฟู

 

ข้างต้นนั้น ถือเป็นเสียงสะท้อนแท้จริงจากผู้คลุกคลีกับเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งรัฐบาลส่วนกลาง จะได้รับรู้ข้อเสนอที่คนพื้นที่ตัวจริง เสียงจริง ใครต้องการอะไร พร้อมไปกับต้องลุ้นอีก 7 เดือนที่เหลือ “เศรษฐกิจไทย” ขยายตัวบวกหรือเสมอตัว!!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง