รีเซต

วัดพลังเครื่องยนต์‘ภาคส่งออก’ แรงส่งเป้าหมายจีดีพีถึงฝั่ง4% ชู3เหตุการณ์หนุน‘ที่สุด’ปีเสือ

วัดพลังเครื่องยนต์‘ภาคส่งออก’ แรงส่งเป้าหมายจีดีพีถึงฝั่ง4%  ชู3เหตุการณ์หนุน‘ที่สุด’ปีเสือ
มติชน
3 มกราคม 2565 ( 09:19 )
56
วัดพลังเครื่องยนต์‘ภาคส่งออก’ แรงส่งเป้าหมายจีดีพีถึงฝั่ง4%  ชู3เหตุการณ์หนุน‘ที่สุด’ปีเสือ

ขึ้นปีใหม่ 2565 มาพร้อมความหวังและความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย ว่าจะมีหวังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง หรือลุ่มๆ ดอนๆ ซ้ำรอยปีที่ผ่านมา ด้านความกังวล ก็มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้งในสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” แม้ช่วงเทศกาลปีใหม่ รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เดินทางกลับบ้านข้ามจังหวัด จัดกิจกรรม และออกนอกบ้านเพื่อการสังสรรค์ ซึ่งก็กังวลว่าหลังกลับเข้าทำงานปกติแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนและการระบาดจะรุนแรงหรือไม่ เรื่องนี้ไม่แค่ประเทศไทย ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเผชิญและกังวลเหมือนๆ กัน

 

ดังนั้น การสำรวจพลังเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง!!

เมื่อสอบถามหน่วยงานภาครัฐและซีอีโอภาคธุรกิจ ยังมีมุมมองทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ที่เหมือนคือ ปี 2565 การพึ่งพารายได้ภาคท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจน่าจะรั้งท้าย ที่แตกต่างกันคือ อันดับความสำคัญของภาคการบริโภค ภาคส่งออก และภาคลงทุน บางก็ให้ภาคบริโภคผนึกลงทุนรัฐเป็นอันดับแรก บางส่วนยังเชื่อมั่นว่าแม้ไทยจะพึ่งพาบริโภคในประเทศแต่สัดส่วนรายได้จากภาคส่งออกก็ยังสูงกว่าภาคบริโภคในประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ยังติดกับดักการเงินการคลังที่ไม่คล่องตัวมากนัก

 

วันนี้จึงโฟกัสถึงทิศทางส่งออกปี 2565…

⦁‘ส่งออก’แกนขับเคลื่อนจีดีพี

เริ่มที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวล่าสุดหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ไว้ว่า การส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์หลักต่อการขับเคลื่อนประเทศ คาดการณ์ว่าปี 2565 ส่งออกจะขยายประมาณ 4% มีมูลค่า 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 9 ล้านล้านบาท สูงขึ้นกว่าปี 2564 ที่ส่งออกขยายตัวประมาณ 16% และสร้างรายได้เข้าประเทศ 8.58 ล้านล้านบาท ซึ่งประเมินบนปัจจัย คือ เศรษฐกิจโลกโต 4.5% ค่าเงินบาทเฉลี่ย 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบ ราคาเกษตร สถานการณ์โควิด ขนส่งโลจิสติกส์ และทูตพาณิชย์ทั่วโลกส่งแผนงาน ซึ่งการที่ส่งออกปีนี้เพิ่มได้อีกกว่า 4 แสนล้านบาท ประเมินจากการส่งออกดีต่อเนื่องในกลุ่ม สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้า Work from Home สินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ และวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้า

 

ขณะที่การเผยแพร่ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ผลวิเคราะห์จากธนาคารและนักวิชาการ มองในทิศทางส่งออกบวกต่ำ ในอัตราแค่ 5-8% เพราะยังเชื่อว่าแม้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และปัจจัยหนุนสำคัญคือ การที่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลกมีแผนใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เช่น สหรัฐเตรียมอัด 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 20% ของจีดีพีสหรัฐ เพื่อการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจสหรัฐจากผลกระทบโควิดระบาด ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ และยกระดับการบริหารและการใช้ผ่านระบบเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวถึง 5% ในปีนี้ แต่การส่งออกอาจติดขัดเรื่องระบบขนส่งโลจิสติกส์จากโควิดระบาดอยู่ ต้นทุนแพงหลังอั้นมานาน 2-3 ปี ทำให้ความสามารถแข่งขันด้านราคาไทยลดลง และอุปสรรคสำคัญที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องอีกนาน คือ การรวมกลุ่มประเทศในการเปิดเสรีการค้าและลดอุปสรรคระหว่างกัน ที่มาพร้อมกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

 

⦁รายได้เข้าไทย2.8แสนล้านดอลล์

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่งออกปี 2565 มีโอกาสขยายตัว 5% และมีมูลค่า 278,322.28 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2564 ขยายตัว 14% และมีมูลค่า 264,062.89 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็นส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 9% มูลค่า 41,059.72 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ขยายตัวได้ดีมากในกลุ่มนี้ คือ ข้าว 7% ยางพารา 10% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 5% อาหาร 5% น้ำตาลทราย 90% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ขยายตัว 5% สินค้าหลักคือ ยานพาหนะและชิ้นส่วน 7% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 5% เครื่องใช้ไฟฟ้า 5% เครื่องประดับและอัญมณี 3% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก 5% วัสดุก่อสร้าง 5% สิ่งทอ 7% ผลิตภัณฑ์ยาง 5%


เคมีภัณฑ์ 5% เครื่องจักรและชิ้นส่วน 5% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 3% รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูป 5% และสินค้าอื่นอีก 1,208 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

“นอกจากนานาประเทศใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลต่อการเพิ่มนำเข้าสินค้าและดีต่อการส่งออกไทยเพิ่มได้ตามแล้ว การเปิดเสรีการค้ากรอบ RCEP ที่มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ไทยจะได้ประโยชน์มาก สร้างรายได้ทดแทนส่วนที่เสียเปรียบในกรอบเอฟทีเอ ซึ่งเวียดนามทำเอฟทีเอแล้วกับ 50 ประเทศ แต่ไทยมีแค่ครึ่งเดียวหรือ 20 ฉบับ เมื่อสมาชิก 15 ประเทศใน RCEP บังคับใช้แล้วจะมีสินค้ากว่า 3 หมื่นรายการภาษีนำเข้าเป็น 0% ช่วยเพิ่มส่งออกไทยไปญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย จากนี้ก็ผลักดันต่อการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น แม้ไทยกับเวียดนามอยู่ใน RCEP และมีสินค้าส่งออกคล้ายกันมาก แต่เราก็จับมือเป็นพันธมิตร ล่าสุดตั้งสภาพหอการค้าไทย-เวียดนามแล้ว RCEP จะเป็นพลังสำคัญส่งออกนับจากปีนี้ อีกเรื่องที่ดีต่อไทยในปีนี้ คือ การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 ถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ระดับโลกครั้งแรกในไทยรอบหลายปี และนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำ APEC 21 เขตเศรษฐกิจมาประชุมพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นก้าวบันไดการสร้างความมั่นใจประเทศไทยอีกเวทีหนึ่ง นี่คืออีกพลังจากนี้”

 

⦁ประโยชน์หลังเปิด RCEP

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลง RCEP เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากไทยสามารถขายสินค้าและบริการได้มากขึ้นโดยสามารถส่งออกไปตลาด RCEP ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ ครอบคลุมประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก มีประชากร 2,300 ล้านคน หรือ 30.2% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวม 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33.6% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก ข้อมูลล่าสุด 11 เดือน 2564 การค้าไทยกับ RCEP มีมูลค่ารวม 2.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 1.50 แสนล้านเหรียญสหรัฐ RCEP จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโอกาสส่งออกทั้งสินค้าและภาคบริการ ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในตลาด RCEP ได้มากขึ้นจาก FTA ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะ RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ เหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ โอกาสสิทธิพิเศษทางสินค้าเพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าของภาคธุรกิจไทยในตลาด RCEP จากการที่90-92% ของสินค้าส่งออกไทย จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าเมื่อส่งไปที่ตลาด RCEP โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมถึงแต้มต่อด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ โอกาสขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น กฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความชัดเจนและตรงกระบวนการผลิตจริงมากขึ้น โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น อาทิ อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ปลาทูน่ากระป๋อง รวมถึงสร้างโอกาสขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนในไทยและภูมิภาค ด้านการเปิดตลาด ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคี RCEP อาทิ จีน (บริการด้านสังคมสำหรับผู้สูงอายุ) เกาหลีใต้ (เกมออนไลน์) ออสเตรเลีย (โรงพยาบาล) ทางกลับกัน การเปิดตลาดของไทยในสาขาที่มีความขาดแคลน เช่น วิจัยและพัฒนา ซ่อมบํารุงชิ้นส่วนอากาศยาน/เรือขนาดใหญ่ หุ่นยนต์สําหรับอุตสาหกรรม และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve ตามนโยบายรัฐบาล

ข้างต้นล้วนเป็นเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศยังต้องพึ่งพาภาคส่งออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง