รีเซต

แล้งสลับท่วม โจทย์หินท้าทายรัฐ ‘เอาให้อยู่’ อย่าซ้ำเติมคนไทยยุคโควิด-สงคราม

แล้งสลับท่วม โจทย์หินท้าทายรัฐ ‘เอาให้อยู่’ อย่าซ้ำเติมคนไทยยุคโควิด-สงคราม
มติชน
7 มีนาคม 2565 ( 09:11 )
71
แล้งสลับท่วม โจทย์หินท้าทายรัฐ ‘เอาให้อยู่’ อย่าซ้ำเติมคนไทยยุคโควิด-สงคราม

จากสภาพอากาศในปัจจุบันที่คาดเดาได้ยาก เป็นเหตุให้มีหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป สร้างความเสียหายในพื้นที่เกษตร ถือเป็นปัญหาซ้ำซากที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปีแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ยังไม่นับรวมผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

 

รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดของโลกจากการที่รัสเซียโจมตียูเครน ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก กระทบตลาดเงินตลาดทุนผันผวนหนัก และยังดันราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนราคาขายปลีกในประเทศพุ่งขึ้นแทบทุกวัน กดดันเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพงขึ้น

 

ล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 7 จังหวัด 36 อำเภอ ในพื้นที่ภาคใต้ ยังโดนน้ำท่วมไปเต็มๆ ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลา สาเหตุจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยประกอบกับลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคใต้มีคลื่นลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

 

⦁ท่วมใต้อ่วม7จังหวัด
จากการสำรวจของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ปัจจุบันยังมี 4 จังหวัด 11 อำเภอ ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ได้แก่ 1.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ คือ อ.ปากพนัง และ อ.ชะอวด ส่วนการช่วยเหลือนั้น โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช ดำเนินการบริหารจัดการประตูระบายน้ำในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำและลดผลกระทบน้ำท่วมขัง รวมถึงเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยเพิ่มเติมอีกด้วย 2.นราธิวาส ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัย3 อำเภอ ได้แก่ อ.แว้ง สุไหงโก-ลก และ อ.สุไหงปาดี ส่วนการช่วยเหลือนั้น เบื้องต้นโครงการชลประทานนราธิวาส ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งควบคุมการระบายน้ำผ่านอาคารชลประทาน และติดตามการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล

 

3.ปัตตานี ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัย 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง แม่ลาน หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์ ขณะที่การช่วยเหลือนั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีเปิดบานอาคารปลายคลองระบายน้ำทุกแห่ง เพื่อพร่องระบายน้ำออกทะเลอ่าวไทยผ่านคลองระบายน้ำสายต่างๆ และสำนักงานชลประทานที่ 17 ส่วนเครื่องจักรกล จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย และ 4.สงขลา ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นาทวี และ อ.รัตภูมิ ส่วนการช่วยเหลือนั้น เบื้องต้นได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึงและทันท่วงที ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 4 จังหวัด ดังกล่าวจากคลี่คลายในสัปดาห์นี้ต่อไป

 

ส่วนผลกระทบด้านการเกษตร จำแนกเป็น ด้านพืช 6 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และ จ.สงขลา เกษตรกร 71,427 ราย

 

พื้นที่ 89,252 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 56,330 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 14,720 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 18,202 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจ ความเสียหายด้านประมง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และ จ.สงขลา เกษตรกร 802 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (บ่อปลา) 417 ไร่ กระชัง 7,427 ตารางเมตร (ตร.ม.) อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายด้านปศุสัตว์ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง และ จ.ยะลา เกษตรกร 13,210 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 235,371 ตัว แบ่งเป็น โค 32,616 ตัว กระบือ 1,221 ตัว สุกร 6,417 ตัว แพะและแกะ 14,452 ตัว สัตว์ปีก 180,665 ตัว ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างตีมูลค่าความเสียหาย

 

⦁วางแผนช่วยเหลือ
จากผลกระทบดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรฯยังได้มอบหมายให้หน่วยงานระดับกรม ได้แก่ กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ทั้งระยะสั้นระยะกลาง เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว กรมปศุสัตว์ ประเมินสถานการณ์และจัดทำแผนการอพยพสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดเตรียมบุคลากร เวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์ กรมประมง ตรวจสอบ กำชับ เจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ดุร้าย (จระเข้) และสนับสนุนเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆ และเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง โดยให้เตรียมการป้องกันพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพืชผลที่มีมูลค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ กรมพัฒนาที่ดิน ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง

กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ประเมินสถานการณ์และเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหรือข้อมูลด้านหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือต่อไปอีกด้วย

⦁อุตุฯเตือนรับมือฝน
ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนเรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย” ฉบับที่ 1 โดยระบุว่า ช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นด้วย โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

⦁รัฐผนึกกำลังรับมือภัยแล้ง
นอกจากประเด็นน้ำท่วมที่ภาครัฐจะต้องเร่งบริหารจัดการแล้ว เรื่องต่อไปที่หน่วยงานรัฐ และประชาชนต้องเตรียมตัวรับมือ คือ ฤดูร้อนที่มาพร้อมกับภัยแล้ง ซึ่งจากความกังวลในเรื่องนี้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเริ่มปฏิบัติการไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำในปัจจุบันของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณอยู่ที่ 51,304 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 67% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 27,367 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุอ่าง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2564 ปัจจุบันมีมากกว่าปี 2564 จำนวน 10,164 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง

สอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2565 ของ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า จากสถานการณ์ปริมาณน้ำในปัจจุบันโดยรวมถือว่าดี แต่นอกเขตชลประทานยังควบคุมได้ยากส่วนในเขตตามแผนที่อยู่ในแผนสามารถควบคุมได้ เมื่อหมดฤดูแล้งก็เข้าสู่ฤดูฝน ห่วงแน่นอนแต่ยังไม่สามารถกำหนดว่ามีพายุหรือมรสุมล่วงหน้าได้ขนาดนั้น ซึ่ง สทนช.ก็ทำงานใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน อาทิ กรมอุตุฯ และจิสด้า เป็นต้น

“ดังนั้น จึงได้มีการปรับแผนจากเดิมที่กว่าจะกำหนดมาตรการฤดูฝน ต้องรอให้ถึงเดือนเมษายน ปัจจุบันจึงได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ในเบื้องต้นแล้ว เพราะที่ผ่านมาการทำงานอาจช้าไป หลังจากนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ” เลขาธิการ สทนช.ระบุ

ต้องติดตามว่าแผนต่างๆ ที่รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่เผชิญทุกปี จะสำเร็จดั่งหวัง หรือประชาชนต้องตั้งการ์ดสูงเผชิญปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไป!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง