รีเซต

รัฐเปิดเกมรุกแพคเกจอีวี เจรจาค่ายรถชิงเค้ก-ปักหมุดฐานผลิตภูมิภาค

รัฐเปิดเกมรุกแพคเกจอีวี เจรจาค่ายรถชิงเค้ก-ปักหมุดฐานผลิตภูมิภาค
มติชน
15 เมษายน 2565 ( 09:23 )
81

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์โลกที่ใส่ใจสภาพอากาศ หวังเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษ โดยผู้ที่ทดลองซื้อรถอีวีมาขับพบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง จนมีการนิยามกำลังซื้อนี้ว่า “ของเล่นคนรวย”

 

⦁รถอีวีไม่ใช่ของเล่นคนรวยอีกต่อไป
กระทั่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(แพคเกจอีวี) ที่จัดหนักทั้งการมอบส่วนลด ลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า จนราคารถยนต์ถูกลงหลักแสนบาท ทำให้ตลาดรถอีวีไม่ใช่ของเล่นคนรวยอีกต่อไป แต่จะเป็นยานพาหนะที่คนไทยส่วนใหญ่จับต้องได้

 

ขณะเดียวกันด้วยเทรนด์อีวีของโลกที่แรงและเร็ว ยังกดดันให้ไทยต้องรีบออกมาตรการดังกล่าว เพื่อปักหมุดการเป็นฐานการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียน ต่อยอดจากการเป็นฐานผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ไออีซี) ในปัจจุบัน และรัฐบาลยังคาดหวังให้นโยบายอีวีสร้างการจดจำให้กับประชาชน และเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ที่เผชิญสารพัดปัจจัยมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

จากข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 6.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ

 

ปี 2564 ประเทศไทยผลิตรถยนต์รวม 1.7 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในสากล (โปรดักส์แชมเปี้ยน) ส่งออกไปกว่า 160 ประเทศทั่วโลก คือ รถปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโค คาร์) และรถจักรยานยนต์คุณภาพสูง โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในประเทศที่มีศักยภาพกว่า 2,000 ราย และแรงงานประมาณ 750,000 คน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทย แปลงสภาพจากฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน พัฒนาและเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% (บีอีวี) บอร์ดอีวีจึงกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ภายในปี 2568 คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และภายในปี 2573 จะขยับเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

 

⦁ค่ายรถยึกยักร่วมแพคเกจอีวี
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (แพคเกจอีวี) ครอบคลุมรถยนต์นั่งไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอ และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ออกกฎหมายเพิ่มเติม รวมทั้งมีมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี ทั้งการลดอัตราภาษีนำเข้าซีบียู การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการ และการให้เงินอุดหนุน 70,000-150,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่ง และรถกระบะไฟฟ้า ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และการให้เงินอุดหนุน 15,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีราคาไม่เกิน 150,000 บาท ในช่วงปี 2565-2568

 

รวมทั้ง การยกเว้นอากรสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการในการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญ 9 รายการ อาทิ แบตเตอรี่ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมมาตรการต้องทำสัญญา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด อาทิ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อชดเชยการนำเข้าในปี 2565-2566 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน หรือมากกว่า

 

เบื้องต้นช่วง 2 ปีแรกจะอนุญาตให้นำเข้ามาทำตลาดในไทย จากนั้นในปีที่ 3 ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษ ตามเงื่อนไข ในเอ็มโอยู ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาไว้ อาทิ เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต

 

หลังแพคเกจอีวีถูกประกาศอย่างเป็นทางการได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ขณะที่ค่ายรถที่ตัดสินใจเข้าร่วมทันทีมีเพียง 2 รายจากจีน คือ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายรถแบรนด์ HAVAL และ ORA โดยเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิตแล้ว

 

ล่าสุด ยังมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอีกหลายรายแสดงความสนใจและเข้ามาทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท อรุณพลัส ในเครือ ปตท. บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย และบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ เมนูแฟคเจอริ่ง(ประเทศไทย) ตลอดจนค่ายญี่ปุ่นแสดงความสนใจเช่นกัน

 

⦁ก.อุตฯมั่นใจสิ้นปียอดใช้แตะ1หมื่นคัน
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความเห็นต่อตลาดอีวีของไทยว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าบีอีวี ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบว่า มียอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า บีอีวี สะสมในปี 2563 รวมประมาณ 2,000 คัน และปี 2564 มียอดการจดทะเบียน บีอีวี รวมประมาณ 4,000 คัน จึงคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมียอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า บีอีวี สะสมรวมประมาณ 10,000 คัน ซึ่งจะเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

ที่มาความมั่นใจดังกล่าว มาจากตัวเลขการจองรถยนต์ในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 หรือ งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน 2565 จบงานสรุปยอดจองรถยนต์ภายในงานรวม 33,936 คัน เพิ่มขึ้น 13.6% จากปี 2564 จำนวนนี้เป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 3,000 คัน คิดเป็น 10% เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างครบวงจร ประกอบกับในงานยังมีการแนะนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงมีแคมเปญกระตุ้นยอดขายของค่ายรถ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจจอง

 

⦁บอร์ดอีวีแก้เกมบินเจรจาค่ายญี่ปุ่น
ล่าสุดมีข้อมูลจากกระทรวงการคลังว่า ค่ายรถยนต์โตโยต้า แสดงความสนใจขอเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 18 เมษายนนี้ หากลงจริงจะเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายแรกที่ร่วมแพคเกจนี้จากนั้น ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ บอร์ดอีวีจะจัดคณะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ในญี่ปุ่นทุกค่าย เป้าหมายดึงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเข้าร่วมแพคเกจอีวี เพื่อผลักดันและสนับสนุนการลงทุนรถอีวีในประเทศไทย

 

ภายใต้แพคเกจอีวีจะต้องใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทดำเนินการตลอด 4 ปี ปัจจุบันได้รับงบกลางสนับสนุนแล้ว 3 พันล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือจะมีการจัดสรรต่อไป แสดงให้เห็นว่านโยบายนี้รัฐทุ่มทุกทาง ซึ่งกระแสตอบรับจากประชาชนก็เป็นไปด้วยดีเช่นกัน เวลานี้จึงอยู่ที่ค่ายรถแต่ละรายจะสนใจชิงเค้กก่อนนี้ขนาดไหน ลุ้นฝีมือบอร์ดอีวี!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง