ไซด์เอฟเฟ็กต์ภาษีที่ดิน 100% ซ้ำเติมธุรกิจ ‘แลนด์ลอร์ด’พลิกทำ‘เกษตร-ตลาดนัด’
ด้วยสถานการณ์ยังไม่เอื้อ จึงเกิดปรากฏการณ์ “ยังไม่พร้อมจ่าย” จากธุรกิจทั่วไทย หลังรัฐบาลฝ่าทุกวิกฤต ประกาศเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตรา 100% ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565
มีคำชี้แจงจาก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า รัฐเก็บภาษีที่ดินเพื่อปรับอัตราให้ทันสมัย เทียบกับประเทศอื่นรายได้ภาษีของไทยยังน้อย เข้าใจว่าเป็นความตระหนก จึงนำที่ดินไปปลูกกล้วยแต่อัตราภาษีไม่ได้สูง เพราะปรับขึ้นแบบให้เราปรับตัว
ขณะที่ขุนคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ย้ำถึงผลกระทบรายได้ท้องถิ่นที่หายไปไม่น้อยกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท จึงต้องเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะ 2 ปีที่ลด 90% เหลือจ่ายจริง10% เพื่อช่วยลดภาระผู้เสียภาษี รัฐต้องชดเชยรายได้ท้องถิ่น แต่ด้วยงบมีจำกัด ทำให้ชดเชยได้แค่ปี 2563
จุดประสงค์ แนวคิด และหลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่รัฐต้องการนำมากระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
⦁ธุรกิจอ่วมจี้ต่ออายุลด90%
พลันที่รัฐส่ง “สัญญาณ” ทำให้ธุรกิจออกมาเรียกร้องให้คงลด 90% ไปอีก 2 ปี ถึง 3 ครั้ง โดย อธิป พีชานนท์รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นโต้โผ แต่ดูเหมือนเสียงเรียกร้องยังดังไม่พอที่รัฐบาลปัจจุบันจะเหลียวกลับมาดู
“อธิป” กล่าวย้ำมาตลอดว่า ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอให้ขยายเวลาลดภาษี 90% ไปก่อน และขอเวลารอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือเก็บแบบขั้นบันได พร้อมยื่นคำร้องขอจากทุกธุรกิจที่ออกพูดเป็นเสียงเดียวกัน “ไม่พร้อมจ่าย” เนื่องจากธุรกิจแบกรับภาระและเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงวันนี้ พบว่า สภาพทางธุรกิจส่วนใหญ่รายได้ไม่เหมือนเดิม บางรายหยุดกิจการ แต่เมื่อมีทรัพย์สินยังอยู่ก็ต้องมีภาระภาษีเพิ่ม ซึ่งภาษีที่ดินประเมินจากมูลค่าทรัพย์สิน หากธุรกิจไหนอยู่ย่านเศรษฐกิจจะกระทบหนัก เช่น โรงแรม 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ถึงรัฐเก็บภาษี 100% รายได้ก็ไม่เข้าเป้า เพราะคนไม่มีเงินจ่ายและจะมีผลกระทบตามมาอีกมาก
ล่าสุด นายกสมาคมโรงแรมไทย มาริสา สุโกศล หนุนภักดีออกมาผสมโรง ว่า เก็บภาษีที่ดิน 100% กระทบธุรกิจโรงแรม 93.6% ผู้ประกอบการหมดแรงจะไปต่อ เพราะอัตราภาษีที่เก็บสูงกว่ารายได้ที่ยังขาดทุนจากผลกระทบโควิด 2 ปี ขอให้รัฐพิจารณาเก็บภาษีธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะอีกครั้ง โดยลด90% อีก 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจกลับมาฟื้นตัว หรือเก็บแบบขั้นบันได เช่น เพิ่มปีละ 5-10% หากเก็บเต็มอัตรา กระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ อาจเลิกกิจการ ปิดชั่วคราว ขายให้ต่างชาติ
⦁แลนด์ลอร์ดแห่ทำเกษตร-ตลาดนัด
ด้านกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถึงจะได้รับลดหย่อนภาษี 90% ใน 3 ปีนับจากได้รับใบอนุญาตจัดสรรหรือก่อสร้าง แต่หากมีที่ดิน และสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมอยู่ในมือจำนวนมาก ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย
ปัจจุบันจึงเห็นผู้ประกอบการทยอยนำที่ดินรอการพัฒนา หรือ “แลนด์แบงก์” ออกมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะทำเลกลางเมือง ราคาที่ดินแพงลิ่ว ที่มีการแปลงสภาพเป็น “ที่ดินเกษตรกรรม” เพื่อจะได้เสียภาษีในอัตราถูกลง ซึ่งในกฎหมายก็เปิดช่องให้ทำได้ จึงกลายเป็นแฟชั่นตามมา ที่ดินที่เคยว่างหลายแปลง เห็นมะพร้าว มะม่วง มะนาว กล้วย หรือพืชสวนครัวที่หลากหลายชนิดบนที่ดิน ริมถนนทั่วประเทศ เป็นอีกภาพที่แปลกตา!!
อย่างที่ดิน 24 ไร่ คิดเป็นมูลค่าหมื่นล้าน ติดถนนรัชดาภิเษก ภาพเต็มไปด้วยต้นมะนาว จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ปลายปี 2562 หรือปลูกกล้วยและมะนาว บนที่ดิน 27 ไร่ ถนนเทียมร่วมมิตร อีกแปลงที่ดินกว่า 300 ไร่ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ เต็มไปด้วยต้นมะม่วงหลากพันธุ์ ล่าสุดบนที่ดิน 200 ไร่ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และที่ดิน 4 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 18 ก็เต็มด้วยผักผลไม้ ยิ่งใกล้ใช้อัตราภาษีที่ดินเต็มร้อย ซึ่งปีนี้ต้องเสียภาษีเพิ่มจากเคยเสีย 10 เท่า เมื่อลงพืชผักผลไม้ไม่ทัน หันถางหญ้าปรับที่รกร้าง ราดดินราดปูน พัฒนาเป็นตลาดนัด หรือลานจอดรถ ติดประกาศขายและปล่อยเช่ายาวอย่างคึกคักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา
⦁อสังหาฯเร่งระบายสต๊อก-แลนด์แบงก์
มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ภาษีที่ดิน 100% ทำให้เอกชนตั้งตัวไม่ทัน ทุกคนคาดหวังรัฐจะลด 90% ให้ เพราะโควิดยังระบาดและเศรษฐกิจยังไม่เอื้อ ซึ่งภาษีที่ดินจะซ้ำเติมตลาดอสังหาฯทำให้กำลังซื้อชะลอตัว เมื่อเจ้าของโครงการมีภาระเพิ่มอาจจะปรับราคาบ้านขึ้น คนมีแลนด์แบงก์คงไม่เร่งพัฒนา แต่จะพัฒนาเป็นเกษตรกรรมแทนเพื่อลดภาระ มีให้เห็นหลายพื้นที่
ไม่ต่างจากภาพของ ศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวเสริมว่าบริษัทอสังหาฯได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน 100% หมด แต่จะมากน้อยแตกต่างกัน ในปีนี้และปีหน้าจะเริ่มเห็นการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น เช่น ทำเป็นตลาดนัดให้เช่า ในส่วนของบริษัทมีที่ดินและสต๊อกคอนโดยังขายไม่หมดอยู่ ทำให้ปีนี้มีภาระภาษีเพิ่มจากปีที่แล้ว 2 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท
ด้าน โอภาส ศรีพยัคฆ์ ซีอีโอ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ระบุว่า ปีนี้มีภาระภาษีเพิ่มจากเคยจ่าย 3 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท เพราะยังมีสต๊อกคอนโดคงเหลือ 3,000 ยูนิต ส่วนที่ดินเปล่ายังเดินหน้าซื้อเพิ่ม โดยปีนี้เตรียมงบไว้ 4,000 ล้านบาท แต่จะซื้อมาแล้วพัฒนาในทันที จะไม่ถือครองเกิน 1 ปี
สอดคล้องกับ ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า บริษัทจะไม่ซื้อที่ดินเก็บสะสมไว้เหมือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแลนด์แบงก์ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท จะดำเนินการควบคู่กันไปโดยนำบางส่วนพัฒนาโครงการเป็นเฟส และบางส่วนนำมาขายส่วนสต๊อกคอนโดเหลือ 1,000 ยูนิต ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีมากนัก
ข้ามโซนไปเมืองท่องเที่ยว ธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจภูเก็ตยังเดือดร้อนทั้งเกาะจากผลกระทบโควิด นักท่องเที่ยวหายไป 80% ทำให้รายได้ลดลงมาก ยังต้องเสียภาษีที่ดิน 100% ขณะนี้ธุรกิจอสังหาฯก็ชะลอลงทุน คนมีที่ดินเปล่านำไปพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อลดภาระ และมีบางรายขายให้นายทุนที่มาซื้อในราคาพิเศษ ส่วนธุรกิจโรงแรมบนเกาะกว่า 2 พันแห่ง ยังเปิดบริการแค่ 30% หากรัฐเก็บภาษีจะเพิ่มภาระ และไม่มีเงินจ่าย
⦁‘ทีดีอาร์ไอ’แนะช่วยรายธุรกิจ
มีข้อเสนอจาก นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้รัฐเดินหน้าเก็บภาษี 100% เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ แต่หากธุรกิจเดือดร้อน เช่น โรงแรม ยื่นเสนอต่อท้องถิ่นชะลอการจ่าย 1-2 ปีหรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยไม่เสียค่าปรับ ส่วนผู้มีที่ดินมูลค่าสูง ควรนำมาพัฒนา เพราะปัจจุบันภาษีที่ดินมีช่องโหว่และข้อยกเว้นมากมาย ทำให้เจ้าของที่ดินเสียอัตราที่ถูกลง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกที่รัฐลดให้ 90% เพราะกระทบรายได้ท้องถิ่นและรัฐไม่มีเงินชดเชย ขณะที่ภาษีที่ดินนับว่าเป็นภาษีที่ดีที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด
จากเสียงสะท้อนข้างต้น ต้องติดตามผลงานหลังรัฐเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดิน 100% แล้ว รายได้ที่คาดหวังไว้ 42,686 ล้านบาท จะมาตามนัดหรือไม่ ในเมื่อเสียงร้อง “ไม่พร้อมจ่าย 100%” ยังดังไม่หยุด!!