พิษภาษี-เศรษฐกิจ ทุบราคาที่ดินร่วง 10% เปิด 10 ทำเลยังพุ่งแรง “วิทยุ”ทะยานวาละ3 ล้าน
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯและปริมณฑลในไตรมาส1/2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวดีจะสูงถึง 14.8% ต่อปี สาเหตุราคาที่ดินลดลงจากภาวะปกติถึง10% เกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องกว่า 2 ปี จากการระบาดโควิด-19 ยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัย และการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการซื้อที่ดิน เพื่อคุมภาระภาษีที่เป็นต้นทุนพัฒนาโครงการใหม่
“ภาวะราคาที่ดินที่เปลี่ยนแปลงน้อย สะท้อนว่าในมิติด้านอุปทานแม้เจ้าของที่ดินต้องการขายที่ดินเพื่อลดภาระภาษีที่ดิน แต่ความต้องการซื้อมีจำกัด เพราะไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงวางแผนการเปิดโครงการใหม่และไม่ซื้อที่ดินเป็นแลนด์แบงก์ ลดภาระภาษี”นายวิชัยกล่าว
นายวิชัยกล่าวว่า การขยายตัวของราคาที่ดินในไตรมาสที่ 1/2565 พื้นที่โดดเด่นจะอยู่รอบนอกกรุงเทพฯ เช่น ย่านบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ซึ่งเป็นย่านที่มีการขยายตัวบ้านแนวราบจำนวนมาก ถัดมาเป็นย่านนนทบุรีและปากเกร็ด เพราะได้รับประโยชน์รถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี จะเริ่มเปิดให้บริการในปลายปี 2565 นี้
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลเก็บภาษีที่ดิน100% ทำให้มีการนำที่ดินออกมาขายมากขึ้น แต่ราคาขายเและการซื้อขายยังทรงตัว เพราะปิดการขายได้ยาก จากราคาที่ดินแพง มีการเปลี่ยนมือในบางทำล เช่น ย่านสาทรซื้อขายสูงกว่า 2 ล้านบาทต่อตารางวา(ตร.ว.) ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ได้เปลี่ยนเป็นเกษตรไปแล้ว
นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรัรบราคาที่ดินในปี 2565 คาดว่าย่านศูนย์กลางธุรกิจหรือซีบีดี ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง โดย 10 ทำเลที่มีราคาเสนอขายสูงที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ วิทยุ 3 ล้านบาทต่อตร.ว. ,สยาม 2.9 ล้านบาทต่อตร.ว. ,ชิดลม 2.8 ล้านบาทต่อตร.ว. , สุขุมวิท-ทองหล่อ 2.6 ล้านบาทต่อตร.ว. ,สุขุมวิท- อโศก 2.55 ล้านบาทต่อตร.ว. เพลินจิต 2.5 ล้านบาทต่อตร.ว. ,สาทร 2.5 ล้านบาทต่อตร.ว. ,สีลม 2 ล้านบาทต่อตร.ว., สุขุมวิท-เอกมัย 1.8 ล้านบาทต่อตร.ว.และเยาวราช 1.7 ล้านบาทต่อตร.ว.