รีเซต

ส่องอนาคตโดมิโน‘ประกันภัย’ กูรูหุ้น-การเงิน ส่งสัญญาณกะรุ่งกะริ่ง

ส่องอนาคตโดมิโน‘ประกันภัย’  กูรูหุ้น-การเงิน ส่งสัญญาณกะรุ่งกะริ่ง
มติชน
31 มกราคม 2565 ( 09:11 )
62

การระบาดโควิด-19 เรียกได้ว่าส่งผลกระทบแบบครอบจักรวาล เหมือนมาตรการป้องกันโควิด-19 ครอบจักรวาล ที่สาธารณสุขพยายามให้ทั้งหน่วยงานเอกชน รัฐบาล และประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดที่รุนแรงและลากยาว จนศักยภาพในการดูแลรักษาของโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ เหมือนช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงสูงสุด (พีค) ของการระบาดโควิด เนื่องจากเห็นยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2 หมื่นคนต่อวัน ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง200 คนต่อวัน

⦁โควิดทุบทุกธุรกิจทรุด
ผลกระทบของโควิด ลุกลามไปตั้งแต่ภาคการท่องเที่ยวการลงทุน การอุปโภค-บริโภค ซึ่งเรียกได้ว่าแทบไม่มีธุรกิจใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ ขึ้นอยู่แค่ว่าจะมากหรือน้อยเท่าใดเท่านั้นเอง โดยหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิดอย่างรุนแรง คือ ธุรกิจประกันภัย ที่ได้ออกกรมธรรม์ประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งดึงดูดใจด้วยเบี้ยประกันจ่ายที่อยู่เพียงหลักร้อยถึงพันต้นๆ เท่านั้น แต่สามารถเคลมประกันได้ในหลักหมื่นขึ้นไปจนถึงหลักแสนบาท ทำให้เมื่อสถานการณ์การระบาดโควิดยังไม่คลายตัวก็มีผู้ซื้อประกันจำนวนหลายล้านคน

ในช่วงการระบาดโควิดที่พุ่งถึงจุดพีค มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น ก็เห็นการทยอยเคลมประกันจากกรมธรรม์ที่ทำไว้ ซึ่งพอยอดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจประกันโดยเฉพาะบริษัทที่โดดลงมาเล่นประกันโควิดในสัดส่วนมากๆ ก็เห็นแรงแผ่วในการจ่ายค่าเคลมประกัน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และการดูแลรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อทุกระดับอาการ รวมถึงการสมทบค่าดูแลเพิ่มเติม เมื่อต้องเข้ารับการรักษาแบบนอนที่โรงพยาบาลด้วย

⦁หุ้นบริษัทประกันเสี่ยง‘รุ่งริ่ง’
แรงสะท้อนผลกระทบโควิดที่ทำธุรกิจประกันสั่นสะเทือน พิจารณาได้จากหุ้นหมวดอุตสาหกรรมประกันภัย และประกันชีวิต หรือ INSUR ที่ดัชนีล่าสุดอยู่ที่ระดับ 15,210.65 จุดติดลบ 6.72 บาทต่อหุ้น หรือ 0.04% จากทั้งหมด 18 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งขณะนี้มี 4 บริษัทแล้วที่ทยอยปิดธุรกิจหรือขอถอนใบอนุญาติประกันภัยโควิด เพราะทนแบกรับภาระสำรองเงินเพื่อรอจ่ายกรมธรรม์โควิดไม่ไหว ที่ออกมาในสื่อต่างๆ ทั้งชื่อ อาคเนย์ ประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย เอเชียประกันภัย และเดอะ วัน ประกันภัย

กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) ระบุว่า ภาพรวมตลาดหุ้น ในกลุ่มหุ้นประกันภัยเชื่อว่ายังได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากที่สหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2564 ออกมาดี โดยคาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะได้ประโยชน์โดยตรงจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับขึ้น แต่กลุ่มที่ได้ประโยชน์รองลงมาคือหุ้นกลุ่มประกัน เพราะได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) ที่ปรับขึ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่กลุ่มประกันมีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุดในพอร์ต

หากธนาคารกลางสหรัฐ ลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) และทำการขึ้นดอกเบี้ยทันที รวมถึงปรับลดงบดุลเพิ่ม จะส่งผลให้ตลาดทั่วโลก รวมถึงไทยในช่วงไตรมาส 1/2565 ผันผวนค่อนข้างมาก จากการดึงสภาพคล่องกลับที่เร็ว เพราะตามปกติแล้วหากตลาดคาดการณ์วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นล่วงหน้าถูกต้อง การปรับพอร์ตจะล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน แต่ตอนนี้กำลังเกิดความเสี่ยงที่ล่าช้า เพราะธนาคารกลางสหรัฐทำเร็วกว่าที่คิด

“การดึงสภาพคล่องกลับจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกผันผวนได้ ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยมองว่ารอบนี้จะไม่กระทบไม่มากเหมือนรอบปี 2556 แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว และการลดคิวอีเร็วกว่าคาด เพราะเม็ดเงินที่เข้ามาในตลาดเอเชียต่ำกว่าในช่วงปี 2556 ทำให้มีส่วนต่างอยู่ค่อนข้างมาก และเงินเฟ้อเอเชียยังไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้เมื่อเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวมาก อัตราดอกเบี้ยก็จะไม่ได้ขึ้นตามสหรัฐทุกประเทศ ภาพของแรงกดดันต่อหุ้นไทยและเอเชียจะน้อยกว่า” กิติชาญกล่าว

⦁ฟันธงธุรกิจประกันเหนื่อยยาว
แนวโน้มธุรกิจประกันในปี 2565 ต้องเรียกว่าเป็นอีกปีที่ต้องเหนื่อยอีกสักระยะ โดย อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ธุรกิจประกันในปี 2565 ความร้อนแรงน่าจะมีไม่มากนัก เพราะมีบริษัท 4 รายที่ปิดตัวไปแล้ว ส่วนบริษัทที่เหลือก็ยังมีความเสียหายจากการระบาดโควิดอยู่ ทำให้ไม่สามารถประมาทในการดำเนินธุรกิจได้ โดยแนวทางในการแก้ปัญหาตอนนี้ ประเมินว่าคงแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว เนื่องจากการบอกเลิกกรมธรรม์ก็ต้องใช้เวลาสักระยะ ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยมามากแล้ว ทำให้บางบริษัทไม่สามารถดำเนินการอะไรได้แล้ว

“ความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัยต้องพิจารณากันวันต่อวัน เพราะขึ้นอยู่กับการระบาดโควิด-19 เป็นหลัก หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่น และพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจะรุนแรงขึ้น เพราะปัญหาตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับโควิด ซึ่งไม่สามารถเข้าไปแก้ไขอะไรได้แล้ว” อานนท์กล่าว

⦁ทิศทางเบี้ยประกันโตในอัตราต่ำ
เบี้ยโควิด-19 ในปี 2565 คงมีไม่เท่าปี 2564 แน่นอน โดยปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 263,200 ล้านบาท เติบโต 4.2% เมื่อเทียบจากช่วงปี 2563 แบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ (motor)เติบโต 0.3% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (nonmotor) เติบโต 9.5% ซึ่งหลักๆ มาจากเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน ที่เติบโตได้ 4.3% จากงานรับประกันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) และการรับประกันสินค้าส่งออกนำเข้าเติบโตดีขณะที่ประกันสุขภาพรวมประกันภัยโควิด-19 เติบโต 121.3%และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เติบโต 8.2%

ส่วนในปี 2565 คาดการณ์เบี้ยประกันภัยรับรวมจะอยู่ที่ 267,100-269,800 ล้านบาท เติบโตประมาณ 2-3% ต่อปีใกล้เคียงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3.5-4.5% ต่อปี แต่เบี้ยประกันยังจะต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่เติบโตเป็น 2 เท่าของจีดีพีได้

การระบาดโควิดในปี 2565 ยังไม่จบ ซึ่งต้องรอดูทิศทางความชัดเจนในเดือนมิถุนายนนี้ ว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเท่าใด เนื่องจากกรมธรรม์โควิดส่วนใหญ่มีผลดูแลจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ มากกว่า 2 ล้านสัญญา หลังจากนั้นจะหมดอายุความคุ้มครอง ทำให้บริษัทประกันสามารถพิจารณาตัวเอง และเห็นความชัดเจนของธุรกิจว่าจะเดินหน้าไปได้ดีมากน้อยเท่าใดได้

ถอดบทเรียนจากกรณีที่เกิดขึ้น ด้านเอกชนก็มองว่าต้องรอบคอบขึ้น ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การหารือร่วมกับภาครัฐ จะต้องคุยกันตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัฐ สามารถเห็นภาพในทิศทางเดียวกันให้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจประกันมากที่สุด เพราะหากมองในส่วนกรมธรรม์โควิดอย่างเดียว อาจพูดว่าบริษัทประกันเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ ที่ยกเลิกการคุ้มครองกลางทางแบบนี้ แต่หากประเมินจากผู้ออกประกันภัยกลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโควิด ก็มีมากเช่นกัน ทำให้ต้องมองภาพรวมของอุตสาหกรรม มากกว่ามองเป็นรายกลุ่ม และยังสะเทือนไปถึงนโยบายออมแห่งชาติ !!

แม้ความจริงบริษัทไม่เลิกกรมธรรม์จะดีที่สุด แต่หากไม่เลิกกรมธรรม์แล้วต้องล้มลายหรือปิดกิจการ ความเสียหายมีมากกว่า ทำให้ต้องเลือกแล้วว่า จะยอมเสียแขน หรือเสียชีวิต เพราะภาพตอนนี้ไม่เสียอะไรเลย เป็นไปไม่ได้แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง