ใครจ่าย? ใครรอด? เมื่อ “ภัยพิบัติ” กำลังเขย่า ตลาดประกันภัยโลก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า น้ำท่วม พายุ หรือคลื่นความร้อน ซึ่งหลายกรณีมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกอย่างมหาศาล
หนึ่งในผลกระทบหลักคือการเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติ ซึ่งทำให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนในระดับที่สูงกว่าที่เคยเป็นมา ความสูญเสียที่ไม่อาจคาดการณ์ได้เหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน บริษัทประกันภัยจึงจำเป็นต้องปรับขึ้นเบี้ยประกันภัย แต่การขึ้นราคาดังกล่าวในบางกรณีกลับทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการประกันภัยได้ หรือเลือกที่จะไม่ต่อสัญญา นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชายฝั่งทะเล พื้นที่ที่เกิดไฟป่าบ่อย หรือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บริษัทประกันภัยบางแห่งได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาด เนื่องจากประเมินว่าไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงได้อีกต่อไป
สถานการณ์นี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นจริงใหม่ทางตลาด” (New Market Reality) ซึ่งหมายถึงการที่อุตสาหกรรมประกันภัยไม่สามารถดำเนินธุรกิจแบบเดิมได้อีกต่อไป บริษัทต่าง ๆ ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และพัฒนาแบบประกันภัยใหม่ ๆ ที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละบุคคลหรือองค์กร
ในบางประเทศ รัฐบาลและบริษัทเอกชนเริ่มมีการจัดตั้งกองทุนร่วมรับความเสี่ยง หรือพัฒนาโมเดลการประกันภัยรูปแบบใหม่เพื่อให้ยังสามารถให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ แม้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
อย่างในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2025 โลกเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงอย่างไฟป่าและพายุ ซึ่งส่งผลให้บริษัทประกันภัยทั่วโลกต้องรับมือกับความเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าความเสียหายจากการประกันภัยรวมกว่า 3.02 ล้านล้านบาท (ประมาณ 84,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานของบริษัทนายหน้าประกันภัย Gallagher Re ตัวเลขนี้นับเป็นครึ่งปีแรกที่มีความเสียหายสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งในปีนั้นยอดความเสียหายทั้งปีแตะระดับ 4.9 ล้านล้านบาท (ประมาณ 136,000 ล้านดอลลาร์)
แค่เฉพาะไฟป่าที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2025 ก็มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.44 ล้านล้านบาท (ประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งหมดทั่วโลก หนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือ “ไฟป่าพาลิเซดส์” ที่ลุกลามตลอดถนนแปซิฟิกโคสต์ไฮเวย์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จนทำให้ชาวบ้านหลายหมื่นคนต้องตัดสินใจว่าจะสร้างบ้านใหม่หรือย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย
ด้านบริษัท State Farm General ซึ่งเป็นผู้ให้บริการประกันภัยรายใหญ่ที่สุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่าได้รับการเคลมมากกว่า 8,700 รายการ และได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้วกว่า 36,000 ล้านบาท (ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์) ส่งผลให้บริษัทต้องยื่นขอปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันบ้านเฉลี่ย 22% ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ พายุทอร์นาโด ลมแรง และลูกเห็บที่พัดถล่มภาคใต้และมิดเวสต์ของสหรัฐในช่วงกลางเดือนมีนาคม ก็สร้างความเสียหายรวมกว่า 1.18 ล้านล้านบาท (ประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์) โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-16 มีนาคม มีพายุรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งเพียงช่วงเวลาดังกล่าวก็สร้างความเสียหายให้ภาคประกันภัยกว่า 288,000 ล้านบาท (ประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์) นับเป็นเหตุพายุที่สร้างความเสียหายมากเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์การประกันภัยของสหรัฐ
ในขณะที่สหรัฐแบกรับความเสียหายหลัก รายงานระบุว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมีมูลค่าความเสียหายจากการประกันภัยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยมียอดรวมไม่ถึง 360,000 ล้านบาท (ต่ำกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นเพียงครั้งที่สองตั้งแต่ปี 2006 ที่ยอดความเสียหายทั่วโลก (ไม่รวมสหรัฐ) ลดต่ำกว่าหลัก 10,000 ล้านดอลลาร์ เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐคือ แผ่นดินไหวในเมียนมาและประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายสูงถึง 36,000 ล้านบาท (ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์) หลังการประเมินและจ่ายเคลมเสร็จสิ้น
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งในด้านการบริหารความเสี่ยง การกำหนดราคา และการให้บริการ ความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่คือความเป็นจริงใหม่ที่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมต้องเผชิญและหาทางรับมืออย่างยั่งยืน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
