รีเซต

คิกออฟแพคเกจอีวี 2ค่ายรถจีนประเดิมร่วมโครงการ เปย์ส่วนลด เปิดศึกชิงลูกค้า

คิกออฟแพคเกจอีวี 2ค่ายรถจีนประเดิมร่วมโครงการ เปย์ส่วนลด เปิดศึกชิงลูกค้า
มติชน
21 มีนาคม 2565 ( 09:11 )
68
คิกออฟแพคเกจอีวี 2ค่ายรถจีนประเดิมร่วมโครงการ เปย์ส่วนลด เปิดศึกชิงลูกค้า

โลกปัจจุบันมีกระแสความนิยม หรือเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางรายได้ของประเทศ

 

รัฐบาลจึงมีนโยบายมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่มากขึ้นเพื่อทำให้ไทยมุ่งสู้เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือ 0 ได้ในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนและสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าเจ้าสำคัญ เช่นเดียวกับปัจจุบันที่ไทยคือศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์สันดาปภายใน

 

⦁ส่วนลดอีวีเริ่มต้น1แสนบาท
สำหรับสิทธิประโยชน์ส่วนลดของรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% (บีอีวี) จาก 8% ลดเหลือ 2% เงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามขนาดแบตเตอรี่ของรถยนต์ ตั้งแต่ 7 หมื่น-1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถจักรยานยนต์ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน และสุดท้าย การลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หากราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ส่วนรถยนต์ที่มีราคาแนะนำ 2-7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดสูงสุด 20% โดยรวมทุกส่วนลดแล้ว คาดว่าผู้ซื้อจะได้รับส่วนลดเริ่มต้น 1 แสนบาทต่อคันขึ้นไป

 

โดยกรมสรรพามิตได้ให้ความสำคัญและความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ด้วยการให้ค่ายรถยนต์ชี้แจงรายละเอียดโครงสร้างราคา ต้นทุนการนำเข้า ค่าบริหารจัดการ และส่วนลดที่จะมอบให้กับลูกค้า มาให้กรมพิจารณาอนุมัติก่อน เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงยังได้กำหนดให้ค่ายรถยนต์ ห้ามทำการปรับโฉม (ไมเนอร์ เชนจ์) อาทิ เปลี่ยนอุปกรณ์ ฟังก์ชั่นการใช้ทำงานเพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มราคารถยนต์เป็นเวลา 2 ปี รวมถึงห้ามนำเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล ไปใช้ในส่วนลดกำไรมาตรฐานกับลูกค้า เพราะปกติตัวแทนจำหน่ายและค่ายรถยนต์ จะมีส่วนของแถม และส่วนลดให้ลูกค้าอยู่แล้ว อาทิ ไฟตัดหมอก ล้อแม็กหรือให้ส่วนลดตัวเงิน แต่ส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้นี้จะเป็นส่วนที่เพิ่มเติม ไม่รวมกับโปรโมชั่นอื่นๆ แต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ การให้ส่วนลด และเงินอุดหนุนของรัฐบาล เป็นการจูงใจให้ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า สำหรับช่วงตามปี 2565-2566 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านในระยะแรก และเพื่อการทดลองตลาดภายในประเทศ โดยหลังจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขให้ค่ายรถยนต์ ต้องเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และผลิตให้ได้ตามจำนวนที่กำหนดในสัญญา เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ต่อไป

 

⦁หลายค่ายขนรถร่วมมอเตอร์โชว์2022
เกาะติดความชัดเจนของมาตรการตลอดจนความสนใจของค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วม พบว่า วันที่ 21 มีนาคมนี้ กรมสรรพามิตจะมีการลงนามสัญญาการเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ากับ 2 ค่ายรถชื่อดัง จากประเทศจีน คือ เอ็มจี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ ผลจากการลงนามดังกล่าวจะทำให้ทั้ง 2 ค่ายจากจีนวางจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล็อตที่ได้รับส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ได้ทันงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน 2565

 

แน่นอนว่าจะกระตุ้นความสนใจของประชาชนที่กำเงินรอมานานแล้ว

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ขณะนี้กระแสตอบรับของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง มีหลายคนอยากจะไปดูตัวรถจริงๆ โดยในงาน มอเตอร์โชว์ 2022 นี้ คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% ปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด จากหลายยี่ห้อ อาทิ เอ็มจี, เกรท วอลล์, บีเอ็มดับเบิลยู และเบนซ์ ถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ได้จัดงานมา

 

สำหรับมาตรการส่วนลดทางภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลนั้น หากราคารถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ 1 ล้านต้นๆ แล้วได้ส่วนลดโดยรวมประมาณ 1.5 แสนบาท อาจทำให้ราคาเหลืออยู่ราว 8 แสนบาทต่อคัน ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้คนสนใจซื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในเรื่องของสถานีชาร์จไฟที่ภาครัฐกำลังผลักดันอยู่

 

“มาตรการภาษีและเงินอุดหนุนนั้นเป็นสิ่งดี ถ้าค่ายรถเข้าร่วมมากขึ้น เชื่อว่าในงานมอเตอร์โชว์ 2022 นี้ จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นการวัดว่าความต้องการซื้อของประชาชนจะสูงแค่ไหน โดยมีมาตรการเป็นตัวเร่งสำคัญให้ผู้ประกอบการรถยนต์ที่ลังเลอยู่ตัดสินใจนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้าไทยมากขึ้น และนำไปสู่การสร้างฐาน ลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเงื่อนไขในปี 2567-2569 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแน่นอน” สุรพงษ์กล่าว

 

โดยรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะได้เห็นจัดแสดงและจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ 2022 นั้น ส่วนใหญ่จะเป็น รถยนต์นั่งหรือรถเก๋ง ส่วนรถกระบะไฟฟ้านั้น คิดว่าคงยังไม่มีการจำหน่ายในเร็วๆ นี้ เนื่องจากในต่างประเทศเองก็กำลังศึกษาและพัฒนาอยู่

 

⦁ปี’65ลุ้นยอดขายรถ8แสนคัน
รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ดี รถยนต์สันดาปภายใน หรือรถใช้น้ำมัน ยังคงจำหน่ายได้ดี มีคนสนใจซื้อต่อเนื่อง เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังถือว่ามีราคาสูง ส่วนประเภทรถซึ่งเป็นที่นิยมมาตลอดทุกปี คือ รถกระบะ เพราะเป็นเครื่องมือทำมาหากินสำคัญ เมื่อเกษตรกรรายได้ดีขึ้น หรือกลุ่มค้าปลีกรายได้ดี จะส่งผลให้มีความจำเป็นในการใช้รถกระบะเพื่อขนส่งสินค้ามากขึ้น กำลังซื้อรถกระบะก็จะมากขึ้น

 

“ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในไทยปี 2565 คาดว่าจะจำหน่ายได้ 8 แสนคันต่อปี ยอดขายดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่จำหน่ายได้ 7.5 คันต่อปี แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความรุนแรง ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ว่าจะบานปลายหรือไม่ หากยืดเยื้อจะทำให้การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์มีปัญหา และเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูง อาทิ น้ำมัน จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นตาม ส่งผลกระทบต่อทั้งการผลิตและกำลังซื้อของประชาชน” สุรพงษ์ทิ้งท้าย

 

แพคเกจอีวี คือก้าวสำคัญของไทยสู่ฐานการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จะสำเร็จหรือแป๊ก เดี๋ยวรู้กัน!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง