รีเซต

รบ.จนมุม เฉือนภาษีดีเซล3บ. เซ่น...น้ำมันโลกพุ่ง กองทุนถังแตก เงินกู้อืด!!

รบ.จนมุม เฉือนภาษีดีเซล3บ. เซ่น...น้ำมันโลกพุ่ง กองทุนถังแตก เงินกู้อืด!!
มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:11 )
84

ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งเอาๆ จนมีการพยากรณ์ว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสจะพุ่งทะลุ​ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากราคาพุ่งไปถึงจุดนั้น ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยจะพุ่งกระฉูดทะลุ​ 40 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลรัฐประกาศคุมราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เครื่องมือดูแลอย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคงเอาไม่อยู่แน่นอน​

 

⦁กองทุนถังแตกกู้​20,000ล.โปะแต่สะดุด
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯอยู่ในภาวะถังแตก​ ฐานะติดลบกว่า 18,000 ล้านบาท​ ภารกิจหลักใช้อุดหนุนดีเซลเกือบ 4 บาทต่อลิตร ที่ผ่านมา​แม้​คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติขยายกรอบเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ จาก​​ 20,000​ ล้านบาทเป็น​ 30,000 ล้านบาท แต่ราคาน้ำมันดิบ​ ทั้งเบรนท์ เวสต์เท็กซัส และดูไบ​ ที่ยืนเหนือระดับ 90 เหรียญสหรัฐ และกำลังใกล้ระดับ 95 เหรียญ ส่งผลให้วงเงินกู้ดังกล่าวอาจไม่เพียงพอในการดูแล​ หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม​ ราคาโลกทะลุ​100 เหรียญ​เหตุการณ์คงวิกฤต

 

อัพเดตกระบวนการกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ปัจจุบันกำลังง่วนกับการกู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท แต่กระบวนการไม่ราบรื่นนัก เพราะหลังการเปิดให้สถาบันการเงินเสนอวงเงินกู้ มีธนาคารเสนอตัว 3 แห่ง คือ กรุงไทย ออมสิน และกสิกรไทย แต่ทั้งหมดมีกระบวนการภายใน อาทิ การเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารอนุมัติ จึงต้องใช้เวลาดำเนินการ ขณะที่ กสนช.มีแรงกดดันจากราคาน้ำมัน จึงเจอกันครึ่งทาง ขีดเส้นกระบวนการกู้ต้องสำเร็จภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้

 

แม้ สกนช.จะพยายามอย่างเต็มที่ แต่อีกมุม ราคาน้ำมันดิบกลับพุ่งแรงกว่า หลายคนจึงเริ่มเสนอให้กู้เงินเพิ่มขยายเพดานถึง 50,000 ล้านบาท ด้วยสภาพจริงของกองทุนน้ำมันฯ แม้จะอยากกู้เงินใจจะขาดแต่ใช่ว่าธนาคารเจ้าของเงินจะอยากปล่อย เพราะเงื่อนไขสำคัญคือ แผนการใช้หนี้ต้องชัดเจนว่าจะมีรายได้พอ ซึ่งธนาคารปัจจุบันยังคาดการณ์ยาก

 

⦁เปิด4สาเหตุดันราคาน้ำมันแพง
ย้อนดูราคาน้ำมันโลกที่พุ่งแรงครั้งนี้ เดิมทุกฝ่ายคาดว่า เมื่อฤดูหนาวหมดลงราคาพลังงานจะลดลงด้วย กลับไม่ใช่สาเหตุหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะมี 4 ปัจจัยหลักที่ส่งกระทบรุนแรงกว่า คือ 1.เศรษฐกิจในประเทศหลักทั้งสหรัฐ สหภาพสหภาพยุโรป และจีน รีบาวน์หลังจากได้รับการกระตุ้นอย่างมหาศาล ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเริ่มกลับมา 2.พายุเฮอริเคน IDA และ Nicholas ได้ทำให้การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโกหยุดพักไปพักใหญ่ รวมทั้งคลังสำรองน้ำมันของสหรัฐ ก็พิการไปพักนึงเหมือนกัน

 

3.การประชุม COP26 ทำให้หลายประเทศยกเลิกการใช้ถ่านหิน แล้วกลับมาใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แทน ทำให้ราคาแอลเอ็นจีแพงขึ้น ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ อาทิ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ได้ลดการผลิตหรือยกเลิกการส่งออกถ่านหิน ทำให้ราคาถ่านหินกลับมาพุ่งกระฉูดเช่นกัน และ 4.การเมืองระหว่างประเทศที่มีการทะเลาะกันของมหาอำนาจใหญ่ ทำให้ราคาพลังงานผันผวน

 

⦁สถานการณ์คับขันคลังเฉือนภาษีดีเซล3บาท
สถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันทำให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยื้อไม่ไหว ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

เดิมกระทรวงการคลัง โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิเสธการลดภาษีมาตั้งแต่ปลายปี 2564 โดยขอใช้วิธีลดภาษีเป็นทางเลือกสุดท้าย จนกระทั่งปัจจุบันสถานการณ์สุกงอม กองทุนน้ำมันฯต้านไม่อยู่ เครื่องมือภาษีจึงถูกนำมาใช้งาน

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 19 พ.ศ.2565 ปรับปรุงการใช้พิกัดอัตราสรรพสามิต สินค้าน้ำมันดีเซลใหม่มีผลทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะลดลงประมาณลิตรละ 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 และหลังจากนั้นให้กลับไปใช้อัตราภาษีเดิม

 

รายละเอียดการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน มีดังนี้ น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ภาษีเดิม 6.44 บาท ลดเหลือ 3.44 บาท น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ภาษีเดิม 6.44 บาท ลดเหลือ 3.44 บาท

 

ขณะที่น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมไม่เกิน 4% อัตราเดิม 6.44 บาท ลดเหลือ 3.44 บาท น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 4% แต่ไม่เกิน 7% เดิมเก็บภาษี 5.99 บาท ลดเหลือ 3.20 บาท น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 7% แต่ไม่เกิน 9% ภาษีเดิม 5.93 บาท ลดเหลือ 3.17 บาท

 

⦁รัฐปาดเหงื่อสูญเสียรายได้1.7หมื่นล้านบ.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงสาเหตุที่กระทรวงการคลังต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลว่า ทำเพื่อพยุงราคาน้ำมันนั้น เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง แม้ว่าที่ผ่านมา ครม.จะอนุมัติให้สามารถกู้เงินได้ 3 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยังติดปัญหากู้เงินไม่ได้เนื่องจากเรื่องงบการเงิน เพราะกองทุนได้เปลี่ยนสถานภาพจากนิติบุคคล เป็นองค์การมหาชน คาดว่าจะสามารถกู้ได้ในเดือนมีนาคม 2565 และกองทุนยังต้องอุดหนุนทั้งเรื่องดีเซล และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ด้วย

 

ส่วนกรณีที่บางฝ่ายกังวลเรื่องการสูญเสียรายได้จะมีผลต่อการปิดหีบงบประมาณนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมองว่า หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น การจัดเก็บรายได้จะกลับมา ส่วนจะมีผลต่อการปิดหีบรายได้ในปีงบประมาณ 2565 หรือไม่นั้น จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

 

ผลจากการลดภาษีดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังชี้แจงว่า จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้รวม 17,000 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 5,700 ล้านบาท พร้อมระบุว่า การลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร จะลดตามสัดส่วนความเข้มข้นของเนื้อน้ำมัน สาเหตุที่กำหนดการลดภาษีถึงเดือนพฤษภาคม 2565 เพราะคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะทยอยปรับลดลงในช่วงนั้นตามปัจจัยน้ำมันโลก และความเสี่ยงในเรื่องของรัสเซีย-ยูเครนด้วย

 

⦁ปชช.เซ็งลดจริงแค่2บาท อีก1บาทอุ้มกองทุน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ด้วยสถานการณ์กองทุนน้ำมันฯที่ง่อนแง่น วงเงิน 3 บาทที่ลด จึงส่งถึงประชาชนแค่ 2 บาท ขณะที่อีก 1 บาท ถูกนำไปใช้ดูแลกองทุนน้ำมันฯ บรรยากาศความดีใจของประชาชนจึงไม่เต็มที่นัก

 

นั่นเพราะหลายคนทราบดีว่า หากไม่ดูแลกองทุนน้ำมันฯเลย สุดท้ายอาจไม่เหลือเครื่องมืออีกเลย กอปรกับราคาน้ำมันของไทยเคลื่อนไหวตามราคาโลกที่ปัจจุบันมีหลายปัญหารุมเร้า เพียงแต่โจทย์หลักคือ เมื่อรัฐบาลรู้ปัญหาต้องเร่งตัดสินใจ ลุยแก้ทีละสเต็ป และสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจอย่างทันท่วงที

ไม่ใช่มัวมะงุมมะงาหรา กล้าๆ กลัวๆ ไม่ต่างกับรัฐบาลที่บริหารงานไม่เป็น!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง