รีเซต

ชำแหละนิยาม‘คนจน’ ลุยเชื่อมเลข ปปช. 13 หลัก เลิกตกหล่น เลิกซ้ำซ้อน!!

ชำแหละนิยาม‘คนจน’ ลุยเชื่อมเลข ปปช. 13 หลัก เลิกตกหล่น เลิกซ้ำซ้อน!!
มติชน
7 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:07 )
106

จากกระแสข่าวที่มีมานานนับปี ว่ากระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะทำการทบทวนผู้ได้รับสิทธิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่ปัจจุบันมีจำนวน 13.45 ล้านคน ในที่สุด การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ได้เห็นชอบ เรื่องการเปิดรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่แล้ว จำนวน 20 ล้านคน

 

โดยจะเปิดลงทะเบียนและคัดกรองในช่วงไตรมาสที่ 3ของปี 2565 และเริ่มใช้สิทธิใหม่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิจริง 17 ล้านคน และมีการตั้งของบประมาณสำหรับโครงการในปีงบประมาณ 2566 ไว้ถึง 6 หมื่นล้านบาท

 

เงื่อนไข ได้แก่ 1.มีสัญชาติไทย 2.มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 3.ไม่เป็นบุคคลตามที่ประกาศ 4.รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี 5.ทรัพย์สินทางการเงินส่วนบุคคลและเฉลี่ยต่อครอบครัวต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคน 6.กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 7.ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต และ 8.ต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และสำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

⦁หลากหลายนิยามคนจน
นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นณริฏ พิศลยบุตร ให้ความเห็นการทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ว่า รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการมานานกว่า 5 ปี ถึงเวลาทบทวนแล้ว และควรจะทำเร็วกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีวิกฤตการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แทรกเข้ามา ทำให้คนจนก่อนมีโควิด กับคนจนในช่วงโควิดนั้นเปลี่ยนแปลงไป

 

ในเรื่องของจำนวนผู้ได้รับสิทธิที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจทางสถิติ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พบว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนคน ซึ่งรวมแล้วอยู่ที่ 4-5 ล้านคน แม้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่ถือว่าเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ยังคงเป็นปัญหาแบบเดิม คือ เมื่อใช้ค่าสถิติดูข้อมูลจะเห็นว่า คนจนตามสถิติมีความแตกต่างกับคนจนตามข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

ดังนั้น ภาครัฐไม่ได้ช่วยแค่คนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี แต่ครอบคลุมไปถึง ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาท-1 แสนบาทด้วย ในแง่จำนวน จึงคิดว่าไม่เป็นเรื่องที่เลวร้ายเพราะมีมิติในเรื่องของโควิดเข้ามาด้วย

 

สอดคล้องกับที่ว่า ทำไมภาครัฐต้องเปิดรับสมัครถึง 20 ล้านคน ก็เพราะเวลาของบประมาณ หน่วยงานรัฐ ไม่สามารถตั้งงบต่ำได้ เพราะถ้าตั้งกรอบไว้เพียง 15 ล้านคนแต่พอรับสมัครจริง มีจำนวน 17 ล้านคน จะไม่มีงบดูแลได้ทั่วถึง แต่ถ้าตั้งเกินไว้ ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือ และงบส่วนที่เหลือจะถูกดึงกลับไปใช้ในด้านอื่นๆ แทน ดังนั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลใจ กับการที่รัฐบาลตั้งตัวเลขการลงทะเบียนไว้ถึง 20 ล้านคน

 

⦁2 รูรั่วทำสวัสดิการไม่ถึง ปปช.
“นณริฏ” กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่ากังวลกว่า คือ ประสิทธิภาพในการคัดกรองที่ภาครัฐยังทำได้ไม่ค่อยดี ในรอบผ่านๆ มา จากข้อมูลทางสถิติ ไทยมีคนจนเพียง 4-5 ล้านคน ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ได้มีสิทธิรับบัตรคนจนกว่า 13 ล้านคน น่าจะครอบคลุมแล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการสำรวจจริง กลับมีคนจนตกหล่นไปจำนวน 30-40% ของคนจนตามสถิติ หมายถึง กลไกการคัดกรองเดิมนั้นมีปัญหา คนที่ยากจนจริงหลุดออกไปจากระบบพอสมควร ในทางกลับกัน คนที่ไม่ควรจะได้สิทธิ ก็เข้ามาในโครงการจำนวนหนึ่ง

 

โดยภาครัฐได้แก้ไขปัญหา โดยเอากลุ่มที่พบว่าตกหล่นเมื่อปี 2560-2561 ให้ไปติดต่อกับธนาคารเพื่อเข้ารับการช่วยเหลืออีกครั้ง ซึ่งอยากให้ภาครัฐเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปเพราะยังมีคนยากจน โดยเฉพาะในรอบใหม่ที่จะเปิดลงทะเบียน อาจจะเจอกับปัญหาเดิม คือ บางคนไม่ทราบเรื่อง บางคนอยู่ไกลจากการรับข่าวสาร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ถือว่าเป็นรูรั่วที่หนึ่ง

 

รูรั่วที่สองคือประเทศไทย มีสวัสดิการเยอะจนเกินไป อาทิ ประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ถ้าหากนำข้อมูลมากาง จะพบว่ามันเยอะมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักอยู่แล้ว น่าจะเห็นว่าใครได้สวัสดิการใดแล้วบ้าง ส่วนการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่นี้ จะเน้นดูในเรื่องรายได้หรือสินทรัพย์ แต่สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมคือ นำกลไกมาดึงคนที่เข้าไม่ถึงมาอยู่ในระบบ และต้องมีการนำข้อมูลเลข 13 หลักมาใช้ร่วมด้วยเพื่อค้นหาคนยากจนที่แท้จริง และป้องกันปัญหาการได้รับสิทธิซ้ำซ้อน

 

⦁หัวใจสำคัญคือเลข 13 หลัก
“การนำเลข 13 หลักมาใช้นั้น เป็นหัวใจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งคนตกหล่น และสิทธิซ้ำซ้อนได้ เข้าใจว่ารัฐบาลมีเจตนาที่ดี และพยายามพัฒนามาเรื่อยๆ แต่ยังไปไม่ถึงอุดมคติ คือการที่ใช้ข้อมูลเลข 13 หลัก มาสะท้อนสวัสดิการทั้งหมดว่า ใครได้สวัสดิการช่วยเหลืออื่นไปแล้ว แต่ทำไมยังได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการอยู่ หรือบางคนเข้าไม่ถึงสวัสดิการใดๆ เลย” นณริฏเน้นย้ำ

 

สำหรับวงเงินช่วยเหลือในบัตรสวัสดิการนั้น จะให้วงเงินเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะมีเงื่อนไขกำกับไว้ มีบางทฤษฎี ระบุว่าควรให้เป็นเงินสด เพื่อให้คนที่ได้รับสิทธินำไปใช้ตามสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละคน เช่น ในกรณีที่บัตรสวัสดิการมีเงื่อนไขใช้ค่ารถโดยสารเท่านั้น แต่ผู้ถือบัตรนั้น มีที่ทำงานใกล้ที่พัก จนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินค่ารถโดยสาร จึงไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการส่วนนี้

 

“ดังนั้น จึงเป็นอีกมุมมองที่คิดว่าภาครัฐควรจะยืดหยุ่น แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่อยากให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย โดยการให้ผู้ถือบัตรไปใช้ได้เฉพาะร้านค้ารายย่อยเท่านั้น ในสองมุมมองนี้ก็ควรจะต้องรักษาสมดุลกันให้ดี” นณริฏทิ้งท้าย

 

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องเชื่อมโยงข้อมูลจริงจัง ลดปัญหาความซ้ำซ้อน ให้คนจนทั้งหมดเข้าถึง ไม่ถูกทอดทิ้งแบบที่ผ่านมา!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง