นาซากำลังพัฒนาหุ่นยนต์งูสำรวจใต้ผิวน้ำแข็งดวงจันทร์เอนเซลาดัส
TNN ช่อง16
16 เมษายน 2566 ( 12:51 )
105
ภายหลังข้อมูลการสำรวจจากยานอวกาศของนาซาทำให้ดวงจันทร์เอนเซลาดัส กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการสำรวจสำคัญเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพื้นผิวของดวงจันทร์เต็มไปด้วยแผ่นน้ำแข็งและภายใต้แผ่นน้ำแข็งอาจมีมหาสมุทรขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ ซึ่งโดยหลักการแล้วน้ำในสถานะของเหลวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต
โครงการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจและค้นหาสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายงูหรือปลาไหลมีชื่อว่า Exobiology Extant Life Surveyor (EELS) อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของห้องปฏิบัติการเจพีแอล หรือ Jet Propulsion Laboratory (JPL) โดยทีมวิศวกรของนาซาที่กำลังออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์รองรับภารกิจสำรวจสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและของเหลว หุ่นยนต์สามารถแทรกตัวเข้าไปในรอยแยกของดวงจันทร์เอนเซลาดัสและสามารถเคลื่อนที่ไปจนถึงน้ำของเหลวใต้พื้นผิวดาว
นอกจากหุ่นยนต์จะติดตั้งระบบขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพยังต้องติดตั้งอุปกรณ์ยึดจับและใบพัดสำหรับการเคลื่อนที่ใต้น้ำ รวมไปถึงระบบการติดต่อสื่อสารกับยานที่จอดบนผิวดาวและส่งข้อมูลการสำรวจกลับมายังโลก
ทีมงานวิศวกรของห้องปฏิบัติการเจพีแอลได้นำต้นแบบหุ่นยนต์ไปทำการทดสอบในสถานที่หลายแห่งบนโลกที่มีลักษณะเป็นแผ่นน้ำแข็ง เช่น ธารน้ำแข็งแอทะแบสกา (Athabasca) ประเทศแคนาดา และภูเขาไฟ Mount Meager ในประเทศแคนาดาเช่นเดียวกัน ความท้าทายของการพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้อยู่ที่คุณสมบัติในการทนทานต่อความเย็นและความร้อนในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน
สำหรับดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของดาวเสาร์ ก่อนหน้านี้มียานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 ของนาซาโคจรเข้าใกล้ดวงจันทร์เอนเซลาดัสในปี 1980 ยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 ของนาซาโคจรเข้าใกล้ดวงจันทร์เอนเซลาดัสในปี 1981 และยานแคสซีนี-ไฮเกนส์ ของนาซาโคจรเข้าใกล้ดวงจันทร์เอนเซลาดัสในปี 2004
โครงการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจและค้นหาสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายงูหรือปลาไหลมีชื่อว่า Exobiology Extant Life Surveyor (EELS) ปัจจุบันยังไม่มีกำหนดการเดินทางที่ชัดเจนหรือแถลงการณ์ภารกิจอย่างเป็นทางจากนาซา คาดว่ากระบวนการทั้งหมดอยู่ในช่วงของการวิจัยพัฒนาและทดสอบหุ่นยนต์รุ่นใหม่เท่านั้น แม้ว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัสจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการสำรวจเช่นเดียวกับดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Robotics.JPL.NASA.gov