แพทย์เตือนดื่มแอลกอฮอล์ทุก 1 แก้วอายุสั้นลง 30 นาทีเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดเสวนา ถอดรหัสมะเร็งกับสุรา ปัญหาชีวิตคนไทย เนื่องในโอกาส วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ระบุว่า โรคมะเร็ง เกิดจากเซลล์ของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมจากการถูกทำร้ายซ้ำๆ โดยสารก่อมะเร็ง หนึ่งในนั้น คือเหล้า บุหรี่ แต่อาจจะไม่ได้เกิดมะเร็งในทันทีโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุน้อย แต่อวัยวะจะค่อยๆ เสียหาย ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถทำลายสารก่อมะเร็งได้ตามปกติ ทำให้สารก่อมะเร็งเข้ามาโจมตีร่างกายได้มากและเร็วขึ้น
โดย เหล้า บุหรี่ เป็นสารเสพติดที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้ในหลายๆ อวัยวะ เช่น แอลกอฮอล์ จะก่อมะเร็งตับมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งทางเดินอาหาร ตลอดเส้นทางที่แอลกอฮอล์ผ่านเข้าไปในร่างกาย ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ก่อมะเร็ง ส่วนบุหรี่จะก่อมะเร็งปอด และมะเร็งทางเดินหายใจ ตั้งแต่ช่องปาก หลอดลม กล่องเสียง จากควันบุหรี่ และยังส่งผลโจมตีไปยังอวัยวะที่พยายามกำจัดสารมะเร็งออกจากร่างกาย เช่น ตับ กระเพาะปัสสาวะ ทั้งนี้ยัง มีงานวิจัย พบอีกว่า การดื่มแอลกอฮอล์ทุกๆ 1 แก้วที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ชีวิตสั้นลง 30 นาที
ขณะที่ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุว่า ข้อมูลปี 2564 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา รายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยกลุ่มนักดื่มหนักที่ดื่มเบียร์ 5 กระป๋องต่อวัน เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก และมะเร็งหลอดอาหาร 5 เท่า มะเร็งกล่องเสียง 2.6 เท่า มะเร็งตับ 2 เท่า มะเร็งเต้านม 1.6 เท่า และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ดื่ม
ส่วนกลุ่มผู้ดื่มปานกลางที่ดื่มเบียร์ 2 กระป๋องต่อวัน เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก 1.8 เท่า มะเร็งเต้านม 1.23 เท่า และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.2 เท่า ของผู้ที่ไม่ดื่ม และงานวิจัยยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทุก 1 หน่วยดื่มมาตรฐาน หรือ10 กรัมต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม ร้อย 10 จึงกล่าวได้ว่า แอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็ง ถึงดื่มปริมาณน้อยก็เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิดได้.