รีเซต

“ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก” มีโอกาสละลาย-พังทลาย แบบ Domino Effect แค่ไหน?

“ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก”  มีโอกาสละลาย-พังทลาย แบบ Domino Effect แค่ไหน?
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2567 ( 10:00 )
29

ธารน้ำแข็งทเวตส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นน้ำแข็ง West Antarctic ขนาดมหึมา ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของขนาด และไม่เสถียรมากที่สุดในโลก

 

และมันก็กำลังละลายจากวิกฤตโลกเดือด โดยธารน้ำแข็งทเวตส์นี้ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นแล้วถึง 4% และละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 65 เซนติเมตร กระทบต่อผู้คนตามแนวชายฝั่งเกือบ 100 ล้านคนทั่วโลก จึงเป็นที่มาของฉายาธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก

 

และมีทฤษฎีหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึง คือ การที่ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกจะละลายและพังทลายลง เหมือนโดมิโนได้  


---ธารน้ำแข็งพังทลายแบบโดมิโน---

 

LiveScience อธิบายอ้างอิงทฤษฎีเรียกว่า มารีน ไอซ์ คลิฟฟ์ อินสเตบิลิตี้ (Marine Ice Cliff Instability) หรือแปลไทยตรง ๆ ก็คือ ความไม่เสถียรของผาน้ำแข็งในทะเล ซึ่งเป็นที่พูดถึงในแวดวงวิทยาศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

คำอธิบาย คือ ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ จะมีส่วนที่ลอยน้ำอยู่เป็นส่วนต่อขยายเรียกว่า หิ้งน้ำแข็ง 

 

หิ้งน้ำแข็งนี้ มีความสำคัญช่วยค้ำยันไม่ให้น้ำแข็งไหลออกสู่ทะเล แต่วิกฤตโลกเดือด ทำให้หิ้งน้ำแข็งนี้ละลายและจมลงทะเลมากขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งก็ในระยะไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือน

 

แล้วถ้าหิ้งน้ำแข็งของธารน้ำแข็งทเวตส์ พังทลายลง ก็จะก่อให้เกิดผาน้ำแข็งกว้าง 120 กิโลเมตร ที่ต้องเผชิญหน้ากับกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรที่ไหลเข้าปะทะโดยตรง

 

ผาน้ำแข็งนี้รับแรงปะทะไม่ได้มาก ยิ่งผาสูงก็ยิ่งเปราะบาง จนทลายลงมหาสมุทรได้ 


แล้วมันเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์อย่างไร นั่นเพราะเมื่อผาน้ำแข็งหนึ่งพังทลายลง ก็จะเผยให้เห็นผาน้ำแข็งชั้นต่อ ๆ มาด้านหลัง ที่ต้องปะทะเข้ากับกระแสน้ำทะเล กลายเป็นโดมิโนที่ล้มต่อ ๆ กันไป

 

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ ถูกท้าทายด้วยข้อเท็จจริงว่า ไม่มีใครไปสังเกตการณ์ธารน้ำแข็งนี้ตลอดเวลา จึงไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 


---คำอธิบายใหม่ต่อทฤษฎี—

 

และล่าสุด ก็มีคำอธิบายใหม่จากนักวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ชื่อ แมทธิว มอร์ลิเกม ที่ทำการศึกษาและท้าทายหลักคิด การทลายลงของผาน้ำแข็งว่า 

 

หากผาน้ำแข็งไม่ได้สูงถึง 135 เมตร มันก็จะไม่ทลายลงมาง่ายเช่นนั้น ทีมของเขายังใช้โมเดล 3 มิติ เพื่อทำความเข้าใจว่า หลักการ Marine Ice Cliff Instability จะใช้ได้กับธารน้ำแข็งทเวตส์หรือไม่ แล้วพบว่า 

 

หากหิ้งน้ำแข็งของธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกทลายลงในวันนี้ จะทำให้ธารน้ำแข็งไหลออกสู่มหาสมุทรเร็วขึ้น และทำให้ส่วนหน้าของธารน้ำแข็งบางลง นั่นหมายความว่า ผาน้ำแข็งก็จะไม่สูงถึงขนาดที่จะทลายลงโดยง่ายนั่นเอง 


---ข่าวดีเล็ก ๆ ในข่าวร้าย---

 

แต่นี่เป็นเพียงข่าวดีทางวิชาการเล็ก ๆ ในความเป็นจริงอันเลวร้ายว่า ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกกำลังละลายเร็วกว่าปกติ 

 

ทีมนักวิจัย ที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้ข้อมูลเรดาจากอวกาศ ในการเอ็กซเรย์ธารน้ำแข็ง  บ่งชี้ว่า "แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกนั้น มีความเสี่ยง ต่ออุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น  มากกว่าที่เราเคยคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก"


น้ำทะเลที่มีรสเค็ม และความอุ่นของน้ำ มาบรรจบกับธารน้ำแข็ง ทำให้เกิด "การละลายอย่างรุนแรง" ที่ใต้ธารน้ำแข็ง และอาจกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกินกว่าที่เราเคยประมาณการกันเอาไว้ 


อ้างอิง:

https://www.livescience.com/planet-earth/antarctica/thwaites-glacier-won-t-collapse-like-dominoes-as-feared-study-finds-but-that-doesn-t-mean-the-doomsday-glacier-is-stable

https://www.rollingstone.com/politics/politics-features/the-doomsday-glacier-113792/

https://www.nature.com/articles/nature17145

ข่าวที่เกี่ยวข้อง