เสียงเพลงกับสมอง ความสัมพันธ์ตั้งแต่โบราณกาลของมวลมนุษยชาติ
คุณเคยไหม เวลาเศร้า ๆฟังเพลงเพราะที่เราชอบจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นหรือเวลาเดินห้างสรรพสินค้าแล้วมีเพลงที่เราชอบเปิดขึ้นมาจะรู้สึกร่าเริงขึ้นมาแปลก ๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเสียงเพลงน่าจะมีส่วนกระตุ้นความรู้สึกในสมองของเราได้
ที่มาของภาพ https://www.cmuse.org/five-curious-facts-about-music-and-brain-damage/
เพื่อศึกษาหาความเกี่ยวข้องระหว่างเสียงเพลงกับสมองนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสจึงได้ออกแบบการทดลอง โดยให้อาสาสมัคร 18 ราย ฟังเพลงทั้งหมด 8 เพลงที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าสามารถกระตุ้นความรู้สึกผ่อนคลายของผู้ฟังได้ในระหว่างนั้นนักวิจัยจะคอยบันทึกผลการทำงานของสมองด้วยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าในสมองความละเอียดสูง (HD-EEG)
การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองจะประเมินกระแสไฟฟ้าในสมองทั้ง3จุด ได้แก่ สมองส่วนหน้า (Orbitofrontal cortex) เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและอารมณ์, สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว(Supplementary motor area) และสมองส่วนขมับขวา (Righttemporal lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับเสียง
ปรากฏว่าสมองทั้ง 3 ส่วนเกิดคลื่นไฟฟ้าชนิดธีตา (Theta) อีกทั้งยังกระตุ้นการปล่อยสารสื่อประสาทโดปามีน(Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์แง่บวกและความรู้สึกดียิ่งเพลงที่ฟังทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกผ่อนคลายมากเท่าใดจะยิ่งมีคลื่นธีตาและโดปามีนเพิ่มขึ้นด้วย
ที่มาของภาพ https://www.introspective-hypnosis-asia.com/brainwaves.html
อนึ่งคลื่นธีตาเป็นคลื่นสมองที่บ่งบอกถึงความผ่อนคลายในระดับลึก เช่นเดียวกับการทำสมาธิการก่อเกิดคลื่นธีตาในสมองจะช่วยให้บุคคลนั้นมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดอารมณ์สุขและช่วยเรียกคืนความทรงจำระยะยาวได้ดีขึ้น
แต่สิ่งที่นักวิจัยจากฝรั่งเศสค้นพบนี้ยังมีเรื่องน่าสงสัยคาใจอยู่เนื่องจากว่าโดยปกติแล้วโดปามีนที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสุขนั้นมักจะถูกสร้างขึ้นตามพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต เป็นต้นว่ามันจะหลั่งเมื่อเราได้กินอาหารหรือมีความรัก ทว่า เสียงเพลงคือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากภายนอก ไม่น่าจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตใด ๆของมนุษย์ได้ แล้วเหตุใดจึงสามารถกระตุ้นการหลั่งโดปามีนในสมองได้ ?
ที่มาของภาพ https://blog.frontiersin.org/2020/11/03/neurological-basis-experiencing-chills-from-music/
นักวิจัยเชื่อว่าเสียงเพลงอาจจะมีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์กับคนในกลุ่มตั้งแต่ในสมัยโบราณกาล มนุษย์อาจใช้เสียงเพลงในการระบุเอกลักษณ์ของสมาชิกในชนเผ่าแล้วสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันจึงเป็นเหตุว่าทำไมแต่ละคนจึงมีรูปแบบเพลงที่ชอบแตกต่างกันออกไป กระนั้นเพื่อตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนขึ้น นักวิจัยยังคงทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงเพลงกับสมองต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas