นาซาเตรียมทดสอบ X-59 เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงแบบเงียบ
ปกติแล้วเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง มักจะไม่ได้เอามาให้บริการเชิงพาณิชย์ เพราะเสียงดังเกินไป แต่อนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงกันจริง ๆ เมื่อนาซา (NASA) เตรียมทดสอบเครื่องบินเอ็กซ์-ฟิฟตี้ไนน์ (X-59) ที่ให้เสียงรบกวนน้อยกว่าเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงทั่วไป
เสียงโซนิค บูม (Sonic Boom)
โดยเสียงที่เรียกว่า โซนิค บูม (Sonic Boom) หรือเสียงกระแทกที่เกิดจากยานพาหนะเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียง ซึ่งอาจจะมีความดังถึง 110 เดซิเบล เทียบเท่ากับเสียงฟ้าผ่า และอาจเป็นอันตรายกับแก้วหูของเรา
นาซาและบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินชื่อดังอย่างล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) จึงจับมือกันออกแบบเอ็กซ์-ฟิฟตี้ไนน์ที่ใช้เทคโนโลยีซูเปอร์โซนิคเงียบ หรือ Quiet SuperSonic Technology (QueSST) ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อช่วยลดการเกิดคลื่นโซนิคบูม
อีกทั้งยังออกแบบให้ตัวเครื่องมีความยาวและเรียวแหลม มีส่วนปีกที่กวาดไปด้านหลัง ส่งผลให้คลื่นกระแทกอากาศที่เกิดจากแต่ละส่วนของเครื่องบินกระจายตัวออกไปในทิศทางที่ไม่ทำให้เกิดโซนิคบูม
สำหรับความยาวของตัวเครื่องอยู่ที่ประมาณ 29 เมตร ปีกกว้าง 9 เมตร แต่เนื่องจากมันมีทั้กรวยจมูกที่ยาวแหลม บดบังวิสัยทัศน์ของนักบิน นาซาจึงได้ออกแบบและติดตั้งระบบการมองเห็นภายนอกเพิ่มเติม ประกอบด้วยเซนเซอร์, คอมพิวเตอร์, กล้อง 4 เค (4k) และหน้าจอแสดงผลแบบเอชดี เพื่อจำลองวิสัยทัศน์ในส่วนที่ถูกบดบังไป
เครื่องยนต์แบบเครื่องบินไอพ่น
ในส่วนของเครื่องยนต์พัฒนาเป็นพิเศษ สามารถสร้างแรงขับได้ 22,000 ปอนด์ หรือประมาณ 9,900 กิโลกรัม ให้ความเร็วประมาณ 1,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ ความสูงประมาณ 16,000 เมตร
อย่างไรก็ตาม แม้มันจะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงแบบเงียบ แต่มันก็ไม่ได้เงียบสนิท เพียงแต่ว่าจะก่อให้เกิดเสียงรบกวนที่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องบินผ่านในพื้นที่ชุมชน โดยตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาและทดสอบต่อไป ส่วนกำหนดเที่ยวบินแรกวางไว้ในปี 2023 ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็คงมีลุ้นที่จะได้นำไปใช้เชิงพาณิชย์กันมากขึ้น
ข้อมูลจาก Interesting Engineering
ภาพจาก NASA