รีเซต

บางชาติในเครือจักรภพอาจทำประชามติ ออกจากเงาอิทธิพลอังกฤษ ในยุคกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

บางชาติในเครือจักรภพอาจทำประชามติ ออกจากเงาอิทธิพลอังกฤษ ในยุคกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2565 ( 12:59 )
56


---การออกจากเงาอิทธิพลของอังกฤษ---


ขณะนี้ กษัตริย์ของอังกฤษ มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐของ 14 ชาติ ซึ่งเป็นอดีตชาติอาณานิคมของอังกฤษ ในช่วงการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลายชาติได้มีถกกันมาบ้างแล้วเรื่อง การออกจากเงาอิทธิพลของอังกฤษ และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ โดยมีประมุขแห่งรัฐของตนเอง 


อ้างถึงการอยู่ภายใต้อิทธิพลหลังยุคอาณานิคมของอังกฤษนั้น ทำให้หวนนึกถึงยุคอาณานิยมค้าทาสที่โหดร้าย


ทั้งนี้ ชาติอดีตอาณานิคมของอังกฤษยังมีสายสัมพันธ์อันดีกันภายใต้การรวมกลุ่มที่เรียกว่าเครือจักรภพ ซึ่งมีสมาชิกโดยสมัครใจถึง 56 ประเทศ โดยแต่ละประเทศต่างมีความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์ มีระบบกฎหมายและการเมืองการปกครองที่คล้ายคลึงกัน 


ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในด้านกีฬา วัฒนธรรม และการศึกษา นอกจากนี้ แม้เครือจักรภาพ ไม่มีข้อตกลงทางการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างกัน แต่ชาติสมาชิก มักทำการค้าระหว่างกันมากกว่าปกติอยู่แล้ว


---มี 14 ประเทศ ที่ยังมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐในเชิงสัญลักษณ์---


ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของเครือจักรภพนั้นเป็นสาธารณรัฐอิสระ ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์อังกฤษ แต่ขณะนี้ มี 14 ประเทศ ที่ยังมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐในเชิงสัญลักษณ์อยู่


คือ แอนติกาและบาร์บูดาออสเตรเลียหมู่เกาะบาฮามาสเบลิซแคนาดาเกรนาดาจาไมกานิวซีแลนด์ปาปัว นิว กินีเซนต์ คิตส์และเนวิสเซนต์ ลูเซียเซนต์ วินเซนต์และเกรนาดีนส์หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู


ใน 14 ประเทศดังกล่าว จะมีผู้แทนของกษัตริย์อังกฤษ ในตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ซึ่งจะประกอบหน้าที่แทนพระองค์ในพิธีการสำคัญ เช่น การสาบานตนของสมาชิกรัฐสภา เป็นต้น


เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ ชาติเหล่านี้ ได้มีการจัดพิธีประกาศให้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เป็นพระประมุขของรัฐไปแล้ว โดยแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะบาฮามาสได้ทยอยจัดพิธีดังกล่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


บรรดานักประวัติศาสตร์ระบุกับ New York Times ว่า กว่าเจ็ดทศวรรษที่สมเด็จพระราชินีชาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์บัลลังก์ พระราชกรณียกิจและรอยยิ้มของพระองค์ทำให้ภาพความรุนแรงของจักรวรรดินิยมอังกฤษในอดีตอ่อนลง และพระองค์เป็นผู้ที่ทำให้จิ๊กซอว์ทั้งหมดต่อรวมกันได้ แต่เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว จึงไม่แน่ใจว่า จิ๊กซอว์จะยังยึดต่อกันหรือไม่



ทั้งนี้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากตอนนี้ การเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์เกิดขึ้นขณะพระองค์ประพาสอยู่เคนยาพอดีในปี 1952 จึงทำให้ภารกิจการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอาณานิคมนั้นราบรื่นขึ้น ขณะที่ช่วงคริสต์มาสปี 1953 พระองค์มีพระราชดำรัสมาจากนิวซีแลนด์


ตลอดรัชสมัย พระองค์เสด็จฯ ไปเยือนเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก และได้ทรงเผชิญกับการประกาศเอกราชและสาธารณรัฐของชาติต่าง  ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น อินเดีย ปากีสถาน ไนจีเรีย ศรีลังกา และเมื่อปีที่แล้ว บาร์เบโดสเป็นชาติล่าสุด


---กระแสความเปลี่ยนแปลงในบางประเทศ---


เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายกรัฐมนตรีของ แอนติกาและบาร์บูดา ได้ประกาศแผนที่จะจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐภายในสามปีจากนี้


นายกรัฐมนตรีของแอนติกาและบาร์มูดา กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้ ไม่ได้เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์แต่อย่างใด แต่การทำให้แอนติกาและบาร์มูดาเป็นสาธารณรัฐนั้น คือ ก้าวแรกของการเป็นเอกราชเพื่อกลายเป็นรัฐอธิปไตยที่แท้จริง


ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของจาไมกา ได้ประกาศเช่นกัน ว่าจะจัดการลงประชามติเพื่อเป็นสาธารณรัฐ


แต่ที่ออสเตรเลีย การสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้มีการถกเรื่องประมุขของรัฐอีกเช่นกัน แต่นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีซี กล่าวว่า จะไม่มีการทำประชามติในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของเขา 


พร้อมระบุว่า นี่คือช่วงเวลาที่ออสเตรเลียร่วมรู้สึกแห่งความโศกเศร้า และควรแสดงความเคารพและความชื่นชมต่อการอุทิศตนของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ให้ออสเตรเลีย

————

แปล-เรียบเรียงธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง