รีเซต

‘พระราชประวัติกษัตริย์ชาลส์ที่ 3’ ประมุของค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรอบ 70 ปี

‘พระราชประวัติกษัตริย์ชาลส์ที่ 3’ ประมุของค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรอบ 70 ปี
TNN ช่อง16
5 พฤษภาคม 2566 ( 18:53 )
118
‘พระราชประวัติกษัตริย์ชาลส์ที่ 3’ ประมุของค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรอบ 70 ปี
“ข้าพเจ้า ชาลส์ที่ 3 ด้วยความดีงามของพระผู้เป็นเจ้า แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และอาณาจักรอื่น ๆ ของข้าพเจ้า อันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้พิทักษ์แห่งศัรทธา ขอให้คำมั่นสัญญา และสาบานว่า ข้าพเจ้าจะปกป้องรักษาการวางรากฐานของนิกายโปรเตสแตนส์ที่แท้จริง ตามที่กำหนดในกฎหมายของสกอตแลนด์...”

นี่เป็นคำสัตย์สาบานของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สหราชอาณาจักร ในพิธีประกาศการครองราชย์ ต่อหน้าสภาการขึ้นครองราชย์ หรือ Accession Council จัดขึ้นที่พระราชวังเซนต์ เจมส์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2022 ส่งผลให้พระองค์ขึ้นเป็นขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ หลังจากทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘เจ้าชายแห่งเวลส์’ มาอย่างยาวนาน 


---กำเนิดองค์รัชทายาท---

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 หรือทรงมีพระนามเต็มว่า ‘ชาลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ’ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 ณ พระราชวังบักกิงแฮม เป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระองค์ทรงพระราชสมภพในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้เป็นพระอัยกา ก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี 1952 ทำให้เจ้าชายชาลส์ กลายเป็นรัชทายาททันที เมื่อมีอายุได้เพียงแค่ 3 ขวบเท่านั้น 

เจ้าชายชาลส์ เป็นรัชทายาทพระองค์แรกของอังกฤษ ที่เข้ารับการศึกษานอกพระราชวัง โดยทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนชีมนอกกรุงลอนดอน หลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำกอร์ดอนสตัน ของสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่พระบิดาของพระองค์เข้ารับการศึกษา และเมื่อปี 1967 พระองค์ทรงศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 1970 

ขณะที่ พระองค์พระชนมายุได้ 20 พรรษา ในเดือนกรกฎาคม 1969 ทรงเข้าพระราชพิธีสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์อย่างเป็นทางการ หลังดำรงพระยศดังกล่าว มาตั้งแต่พระชนมายุได้ 10 พรรษา โดยภายในพระราชพิธีมีผู้เข้าร่วมประมาณ 4,000 คน และมีการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีฉายไปทั่วโลก 

เพื่อสืบสานประเพณีของราชวงศ์ หลังจากจบการศึกษาที่เคมบริดจ์ ได้ทรงเข้ารับราชการในสังกัดกองทัพอากาศ และกองทัพเรือแห่งสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 7 ปี ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพ เพื่อหันมามุ่งหมายในงานพระราชกรณียกิจแทน 

---สมรสกับเจ้าหญิงไดอานา---

เจ้าชายชาลส์ได้อภิเษกเสกสมรสกับ ‘ไดอานา สเปนเซอร์’ และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ ณ มหาวิหารเซนต์พอล กรุงลอนดอน ในวันที่ 29 กรกฏาคม 1981 หลังจากที่ทั้ง 2 พระองค์ได้หมั้นหมายกันก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1981


เจ้าชายชาลส์ และเจ้าหญิงไดอานาทรงมีพระราชโอรสร่วมกันทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายวิลเลียม ประสูติวันที่ 21 มิถุนายน 1982 และเจ้าชายแฮรี ประสูติวันที่ 15 กันยายน 1984  

ทั้งนี้ เจ้าหญิงไดอานาทรงเป็นที่รักของประชาชนทั่วโลก เนื่องจากพระองค์ทรงมีสิริโฉมงดงาม รวมถึงมีบทบาทสำคัญหลายอย่างในด้านสิทธิมนุษยชน และขจัดอคติของผู้คนในสังคมต่อผู้ป่วย HIV 

---ข่าวความรักอื้อฉาว---

เจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาตกเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอีกครั้ง หลังมีข่าวลือถึงปัญหาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 พระองค์ ก่อนที่ชีวิตคู่ของพระองค์จะสิ้นสุดลงในปี 1992 พร้อมข่าวอื้อฉาวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชาย กับ ‘คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบลส์’ ซึ่งเป็นรักแรกของพระองค์ จนสื่อมวลชนต่างขนานนามเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น ‘สงครามแห่งเวลส์’ 

หลังแยกกันอยู่ เมื่อปี 1994 เจ้าชายชาลส์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ และยอมรับว่าพระองค์ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่ออดีตพระชายา ขณะที่ เจ้าหญิงไดอานาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ถึงชีวิตสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ว่า “มีเรา 3 สามคนในชีวิตสมรส” 

ต่อมาในปี 1997 เจ้าหญิงไดอานา ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความเสียใจให้กับประชาชนทั่วโลก การเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของเจ้าชายชาลส์ และราชวงศ์เสื่อมเสียอย่างรุนแรง เนื่องจากสำนักพระราชวังนิ่งเฉยเย็นชาต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีพระราชดำรัสผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และทรงแสดงการไว้อาลัยต่อการจากไปของพระสุนิสา และให้คำมั่นว่า สถาบันกษัตริย์จะปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากยิ่งขึ้น

หลังจากฝ่าฝันมรสุม ข่าวคราวอื้อฉาวต่าง ๆ มาด้วยกันนานกว่าทศวรรษ ในวันที่ 9 เมษายน 2005 เจ้าชายชาลส์ และคามิลลาได้อภิเษกสมรสกันอย่างเป็นทางการ และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์’ ทั้งนี้ ปัจจุบัน คามิลลาได้ดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร’

---กษัตริย์ผู้สนใจสิ่งแวดล้อม---

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เป็นที่รู้กันว่า พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกด้วย และยังทรงก่อตั้งมูลนิธิในพระบรมราชานุเคราะห์หลายแห่ง เพื่อช่วยเหลือพสกนิกร 

โดยเมื่อปีที่แล้ว พระองค์ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานประชุม COP26 และเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลก แก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้อยู่เหนือเรื่องการเมือง 

---พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรอบกว่า 70 ปี--- 

พิธีบรมราชาภิเษกถูกจัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 1953 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้ชาวสหราชอาณาจักร และผู้คนทั่วโลกต่างกำลังเฝ้ารอพิธีสำคัญนี้ โดยในพระราชพิธีครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงเข้าพิธีสวมพระมหามงกุฎพร้อมกัน และทั้ง 2 พระองค์ยังได้ทรงส่งคำเชิบุคคลสำคัญจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้มาเข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ โดยคาดว่ามีการส่งคำเขิญไปแล้วกว่า 2,000 คน 

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ถือเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษลำดับที่ 40 ที่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ นับตั้งแต่ปี 1066 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ คือจะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดแบบสีเป็นครั้งแรก และคาดว่า จะดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งผู้ชมตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 27 ล้านคนในสหราชอาณาจักร 

นับจากนี้ บทบาทในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร จะทั่วโลกจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งเรื่องความนิยมสถาบันกษัตริย์ที่ลดลงในกลุ่มคนหนุ่มสาว ตลอดจนข่าวอื้อฉาวระหว่างราชวงศ์ และเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน ดยุค และดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ 

อย่างไรก็ตาม แม้พระองค์จะสัมผัสได้ถึงภาระที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ทรงให้คำมั่นแก่ประชาชนว่าจะรับใช้ประชาชน ตามแบบอย่างของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาของพระองค์ 

“ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร หรือในอาณาเขตและดินแดนทั่วโลก ไม่ว่าภูมิหลัง และความเชื่อคุณจะเป็นอย่างไร ผมจะรับใช้คุณด้วยความจงรักภักดี ความเคารพ และความรัก อย่างที่ผมมีมาตลอด” พระราชดำรัสแรกต่อประชาชนของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 
ภาพ: Hugo Burnand/Royal Household 2023/Handout via REUTERS

ข้อมูลอ้างอิง:

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง