รีเซต

"Tall Poppy Syndrome" เมื่อความไม่ก้าวหน้าในสายงาน คือ Comfort Zone ของ Gen Z | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

"Tall Poppy Syndrome"  เมื่อความไม่ก้าวหน้าในสายงาน คือ Comfort Zone ของ Gen Z | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2567 ( 17:49 )
20
"Tall Poppy Syndrome"  เมื่อความไม่ก้าวหน้าในสายงาน คือ Comfort Zone ของ Gen Z | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

ความก้าวหน้า และ การเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ถือเป็นความมุ่งหวังของมุนษย์เงินเดือน เพราะตำแหน่งที่สูงขึ้น แม้จะมีความรับผิดชอบ และ ภาระงานที่มากขึ้นแต่นั่นหมายถึงรายได้ ค่าตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย  ยังไม่นับรวมถึงสถานะทางสังคมที่แน่นอนว่า คุณอาจได้การยอมรับจากคนรอบข้างมากขึ้น หากตำแหน่งหน้าที่การงานแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความรับผิดชอบ และภาวะผู้นำที่มีมากยิ่งขึ้น  


แต่ทุกวันนี้ ความก้าวหน้า และ การเติบโตในสายงานของตนเองกลายเป็นยาขมของคน Gen Z  ที่ปฏิเสธความก้าวหน้า แต่ยินดีที่จะอยู่ในตำแหน่งเดิม รับเงินเท่าเดิมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเลิกทำงาน


ผลสำรวจของ Workmonitor เผยว่า 51% ของพนักงาน GEN Z ยินดีที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ชอบ แม้จะไม่มีโอกาสก้าวหน้า และ 39% ไม่ต้องการเลื่อนขั้นเพราะพอใจกับงานปัจจุบัน


เรื่องนี้ มองเผิน ๆ เหมือนจะเป็นเพียงความใจไม่สู้ ความขี้เกียจ และความเยอะของแรงงานในปัจจุบัน แต่จริง ๆ มีคำอธิบายตามหลักจิตวิทยา โดยเรียกว่า "Tall Poppy Syndrome หรือ “โรคไม่อยากโตในสายงาน” 


เรื่องราวในโลกทำงานของคน Gen Z กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง หลัง โจดี้ ฟอสเตอร์ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการทำงานกับ Gen Z ว่าไม่ยี่หระต่อการวิจารณ์ และไม่กะตือรือร้นในการพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อสิ่งที่ดีกว่า  


หรือว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับ "Tall Poppy Syndrome หรือ “โรคไม่อยากโตในสายงาน” 


ติดตามรายละเอียดของโรคนี้ไปพร้อม ๆ กัน


วิธีคิดแบบออสเตรเลียและนิวซีแลนด์


Tall Poppy Syndrome หมายถึงอาการที่แรงงานพอใจที่จะอยู่ในตำแหน่งเดิม เงินเดือนเท่าเดิม และภาระงานเท่าเดิม ไม่อยากที่จะเติบโตในตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือไต่เต้าไปยังตำแหน่งบริหาร เพื่อให้ได้เงินเดือนที่มากขึ้น ด้วยคิดว่า หากยิ่งไปอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ก็จะยิ่ง “ถูกเกลียด” จากบรรดาเพื่อนร่วมงาน ละอาจจะได้รับความกดดันจากการที่ต้องเป็นเจ้าคนนายคน อยู่แบบเดิมเป็น Comfort Zone ที่สบายใจกว่ามาก


โรคนี้มาจากสำนวนท้องถิ่นของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ระบุว่า “ตัดดอกป็อปปี้สูง ๆ ให้เกลี้ยง (Cutting down the tall poppy)” ซึ่งเปรียบได้กับ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ตามสำนวนไทย เพราะในการปลูกดอกป็อปปี้ให้สวย ทุกดอกต้องเรียบเสมอกัน หากมีดอกใดสูงขึ้นมา ก็ให้ตัดทิ้ง ซึ่งจริง ๆ ดอกที่สูงถือว่าพันธุ์ดี แต่ในเมื่อแยงขึ้นมาอย่างโดดเด่น ก็จะต้องตัดแบบเสียไม่ได้


ตามข้อเสนอของานศึกษา Tall poppies and egalitarianism in Australian discourse: From key word to cultural value เขียนโดย เบิร์ต พีเทอร์ส ตีพิมพ์ในวารสาร English World-Wide สิ่งนี้ มีการตีความว่า เป็นการสอนให้เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของออสเตรเลียละนิวซีแลนด์ ที่เน้น “ความเสมอภาคถ้วนหน้า (Egalitarianism)” คือเน้นเติบโตไปพร้อม ๆ กันมากกว่าที่จะเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถโดดเด่นมาเป็นผู้นำ หรือ การทำงานที่โดดเด่นออกมาเพียงคนเดียวโดด ๆ 


ความเสมอภาคถ้วนหน้านี้ จะส่งผลให้เกิด “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล” เพราะหากพัฒนาไปพร้อมกันแล้ว เท่ากับว่าทุกคนในที่ทำงานรับรู้ร่วมกัน มองตาก็รู้ใจ ไม่ต้องบรีฟหรือสอนอะไรมาก ก็จะทำงานออกมาได้มาตรฐาน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเดียวกันทั้งหมดทุกคน


ปัญหาของยุคสมัย ผู้หญิงเป็นหนักสุด


หลังจากนั้น ได้มีการตีความใหม่โดยนักจิตวิทยาว่า Tall Poppy Syndrome ไม่ได้เป็นเพียงสำนวนไว้สั่งสอนผู้คน แต่คือ “ความกังวลแห่งยุคสมัย” หลายคนไม่อยากเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ได้เป็นเพราะว่าต้องการจะไปด้วยกัน ไปได้ไกล หรือจำยอมต่อวัฒนกรรมการทำงานนั้น ๆ แต่เป็นเพราะว่า การเติบโตในสายงานไม่สัมพันธ์กับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและไม่เป็นมิตรกับสุขภาพจิตที่ต้องแลก


จากผลสำรวจของ Workmonitor เผยว่า 51% ของพนักงานยินดีที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ชอบ แม้จะไม่มีโอกาสก้าวหน้า และ 39% ไม่ต้องการเลื่อนขั้นเพราะพอใจกับงานปัจจุบัน ซึ่งสวนทางกับความเชื่อเดิมที่ว่าคนอยากก้าวหน้าในอาชีพ 


ส่วนผลสำรวจของ Deloitte พบว่า 73% ของผู้จัดการกล่าวว่า พวกเขาควรเป็นแบบอย่างของความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับพนักงาน แต่มีเพียง 35% ของพนักงานเท่านั้นที่เห็นสิ่งนั้นในตัวผู้จัดการ จนกว่าเราจะให้เวลาและทรัพยากรแก่พวกเขาในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ผู้คนก็จะยังคงลังเลที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น


และแน่นอนว่าส่วนใหญ่ที่ตอบแบบนี้มักจะเป็น Gen Z ที่มีความลังเลที่จะรับงานที่มีความรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการ เพราะขาดความไว้วางใจในผู้นำระดับสูง ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานและความเชื่อที่ว่าการหาเงินจำนวนมากนั้นไม่คุ้มค่าที่จะแลกกับการทำงานหนักและความกดดัน


โดยเฉพาะผู้หญิงยิ่งแล้วใหญ่ จากงานศึกษา The Tallest Poppy How the workforce is cutting ambitious women down เขียนโดย รูเมต์ บิญัน ตีพิมพ์ใน Women of Influence+ (WOI+) ได้เสนอว่า แม้จะมีที่ว่างให้ผู้หญิงเติบโตในสายงาน แต่ก็ใช่ว่าพวกเธอจะอยากเติบโต ส่วนหนึ่งเพราะแม้จะมีตำหน่งที่สูงขึ้น แต่ “การยอมรับ” ไม่ได้เกิดขึ้นตามมาด้วย จากสถิติของ WOI+ พบว่า เหตุผลหลักคือ “การถูกด้อยค่าความสำเร็จ (Downplaying Achievment)” ในอัตรา 77% ซึ่งหมายถึง การตั้งแง่ของลูกน้องทั้งผู้ชายผู้หญิงว่าที่พวกเธอเติบโตขึ้นมานั้นอาจจะใช้ “เต้าใต่” หรือ “ใช้วาทศิลป์” มากกว่าความสามารถ 


ไหนจะเหตุผลรอง ๆ ลงมา อาทิ “การโดนกดให้ต่ำ (Undermined)” จากลูกน้องที่ไม่เชื่อในฝีมือ หรือ “การไม่ได้รับการแยแส (Ignored)” จากลูกน้องของตน ที่ทำให้เสียสุขภาพจิตอย่างมาก จากสถิติเดียวกันพบว่า มีถึง 86% ของผู้หญิงที่เติบโตในสายงานที่รู้สึกเครียดละกดดัน แบบนี้ ยิ่งทำให้ผู้หญิงไม่อยากที่จะเติบโตใด ๆ มากยิ่งขึ้น


ซึ่งไม่แน่ว่า การที่ Tall Poppy Syndrome เกิดขึ้นในผู้หญิง อาจเป็นเพราะการคิดที่ละเอียดอ่อน และความ Sensitive ในการทำงานที่มากกว่าผู้ชาย ทำให้เกิดอาการคิดเล็กคิดน้อย และไม่มั่นใจในการเติบโตของตนเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ศักยภาพของผู้หญิงจะไม่สามารถเติบโตในตำแหน่งระดับสูงได้ 


มาถึงตรงนี้ อาจจะสรุปได้ว่า มีเงื่อนไขที่ทำให้แรงงานไม่อยากเติบโตคือเรื่องของความกดดันและการเสียสุขภาพจิต สมกับเทรนด์ในยุคนี้ ที่การทำงานจะต้อง “Work-Life Balance” ไม่เน้นหาเงินมารักษาสุขภาพ เน้นทำงานและเที่ยวพักผ่อนได้อย่างลงตัว ชีวิตมีความสุขไม่เครียดกับงานจนเกินไป


แต่อย่าลืมว่า คนรุ่นเก่า ๆ ก็จะทยอยเกษียณหรือตายจากไป คงเหลือแต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะมาแทนที่ 


ในโลกของทุนนิยมที่โอกาสไม่ได้มีบ่อย ๆ การยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันทำอะไร ก็เท่ากับว่า “แพ้ไปตลอดชีวิตการทำงาน” ดังนั้น การเลือกไม่เติบโตเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็มีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังคง “ความทะเยอทะยาน” ของตนไว้ได้ และจะกลายมาเป็นเจ้าคนนายคนของพวกที่ไร้ความทะเยอทะยานในที่สุด


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง