รีเซต

รู้จัก! ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เสียชีวิตกะทันหัน โดยปราศจากสัญญาณเตือน

รู้จัก! ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เสียชีวิตกะทันหัน โดยปราศจากสัญญาณเตือน
Ingonn
14 มิถุนายน 2564 ( 10:59 )
176
รู้จัก! ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เสียชีวิตกะทันหัน โดยปราศจากสัญญาณเตือน

มันคงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก หากการจากไปของคนเราไร้สัญญาณเตือนบอกคนที่รัก “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” จึงเป็นอีกโรคหนึ่งที่ควรเฝ้าระวัง เพราะอาจเกิดขึ้นกับตัวเราได้ หากไม่มีการสำรวจร่างกายตนเอง ไม่ดูแลตนเองอย่างถูกวิธี อาจทำให้โรคนี้พรากชีวิตผู้ป่วยไปอย่างกระทันหันได้ วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จักโรคนี้กัน

 


กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะนำภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ทำให้เสียชีวิตกะทันหันโดยปราศจากสัญญาณเตือน ต้องรักษาทันที โดยการทำ CPR และใช้เครื่อง AED

 

 

 

 

รู้จัก“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”


หัวใจของคนเราทำหน้าที่ สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งต้องมีการเต้นเป็นจังหวะต่อเนื่องตลอดเวลา โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 36-42 ล้านครั้งต่อปี การที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน(Sudden Cardiac Arrest) เป็นการสูญเสียการทำงานของหัวใจอย่างกระทันหันจากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงหรือเต้นพริ้ว (Ventricular fibrillation หรือ VF) ซึ่งเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ 

 

 

 

อาการ “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”


ผู้ป่วยจะเกิดอาการวูบหมดสติ เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาจจะมีอาการชักเกร็งกระตุกร่วมด้วย ผู้ป่วยไม่หายใจและคลำชีพจรไม่ได้ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีการกู้ชีพ (CPR) ทันที เพื่อให้มีออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอจนกว่าการทำงานของหัวใจจะกลับมาเต้นปกติ โดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) การปล่อยให้ล่าช้านานเท่าไหร่โอกาสการรอดชีวิตจะลดลงและถ้าสมองขาดเลือดนานเกินไปผู้ป่วยอาจจะฟื้นแต่มีความพิการทางสมองตามมา

 

 

 

“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” เกิดขึ้นตอนไหน


ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) พบได้ในทุกช่วงอายุแต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคน ที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปีโดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลามักจะพบได้บ่อยใน ขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญานเตือน แตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ซึ่งมักจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะมีสัญญานเตือนนำมาก่อนเช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่นหายใจไม่อิ่ม แต่อย่างไรก็ดีการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) อาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)ได้ 

 

 

 

สถิติการเกิด “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”


ในประเทศไทยจะยังไม่มีการเก็บสถิติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันว่ามีความชุกเท่าใด ในอเมริกาพบได้ 325,000 รายต่อปี ซึ่งภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และโรคอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardiomyopathy) โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนแรง (Dilated cardiomyopathy) ผู้ที่มีประวัติของการเสียชีวิตกระทันหันในครอบครัว ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ  ความผิดปกติแต่กำเนิดของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries) ซึ่งเป็นโรคหัวใจแฝงในบางครั้งไม่แสดงอาการและดูภายนอกเหมือนปกติคนทั่วไป 

 

 

 

การรักษา “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”


ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันทีโดยผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อทำให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ  ซึ่งถ้ามีการใช้อย่างถูกต้องภายใน 3 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 70% และผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นโดยไม่มีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ แต่ถ้าปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปโอกาสรอดชีวิตจะลดลง  10 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆ 1 นาที เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงนานเกินไป

 


การรักษาต้องรักษาที่สาเหตุ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด ST elevation  จะต้องได้รับการรักษาทันทีด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจ เพื่อเปิดหลอดเลือด ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง  (golden period) 120 นาที ในการเปิดหลอดเลือดเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันบางรายที่มีข้อบ่งชี้แพทย์อาจพิจารณาฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติไว้ในร่างกายเพื่อกระตุกหัวใจ  เมื่อมีการทำงานผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตกระทันหันจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

 

 


ถ้ามีอาการเองจะไปหาหมอรักษาอย่างไร?

 

1.ถ้ามีอาการมาก ให้โทรเรียกรถพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรเรียก “1669”

 

2.ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการให้อมยาใต้ลิ้น ถ้า 1 เม็ดไม่ดีขึ้น ให้อมเม็ดที่ 2 ห่างจาก     เม็ดแรก 5 นาทีถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่แน่ใจให้รีบไปโรงพยาบาล

 

3.ถ้าสามารถไปโรงพยาบาลได้ ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ก็จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบรุนแรงแน่นอนแล้ว จะทำการรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือทำการขยายบอลลูนต่อไป

 

4.หลังจากนั้นจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ประมาณ 3-5 วัน เพื่อปรับยาและรักษาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุ

 

5.ก่อนกลับบ้าน แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด จะแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป

 

6.ต้องมาตรวจ ติดตามอาการและรับยาเนื่องจาก เป็นโรคที่ไม่หายขาด ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

 

 

แนวทางป้องกัน “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”

 

1.แนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

 

2.ในรายที่มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ให้ไปรับการตรวจและรับคำปรึกษาโดยอายุรแพทย์หัวใจ

 

3.ควบคุม รักษา และป้องกันปัจจัยเสี่ยง

 

- ความดันโลหิตสูง คุมระดับความดันให้อยู่ประมาณ 130/80 หรือ 140/90 มิลลิเมตรปรอท


- โรคเบาหวาน คุมระดับน้ำตาลในเลือด ในระยะเฉียบพลันไม่ให้เกิน 170 มิลลิกรัมต่อ เดซิลิตรและในระยะยาวต้องคุมให้ระดับอยู่ระหว่าง 110-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร


- ไขมันสูง คุมระดับ LDL ให้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร


- งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด


- รับประทานผักผลไม้


- ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150นาที


- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด

 


ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

 

 


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ , สถาบันโรคทรวงอก , มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง