รู้จัก! การทำ “CPR” ช่วยชีวิต “คริสเตียนอีริคเซ่น” ที่คนเดนมาร์กปลูกฝังตั้งแต่ประถม
เรื่องช็อกโลกเมื่อคืนนี้! เมื่อ “คริสเตียน อีริคเซ่น” หมดสติล้มลงในสนามในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือฟุตบอลยูโร ในเกมระหว่าง เดนมาร์ค และฟินแลนด์ ซึ่งอีริคเซ่นเกิดหัวใจหยุดเต้น จนทีมแพทย์ต้องรีบช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR สร้างความตกตะลึงต่อ สายตาแฟนบอลในสนาม รวมถึงแฟนบอลที่กำลังชมถ่ายทอดสดไปทั่วโลก
วันนี้ TrueID จึงพาทุกคนมารู้จัก วิธีการช่วยชีวิตที่ควรเรียนรู้ไว้ นั่นก็คือ การทำ CPR เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน วิธีนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้มีโอกาสได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และทุกชีวิตจะได้ปลอดภัย
CPR คืออะไร
Cardiopulmonary Resuscitation หรือ CPR คือ การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ และมีการไหลเวียนออกซิเจนรวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร โดยเราสามารถทำการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานให้ผู้ประสบเหตุได้โดยการกดหน้าอกและช่วยหายใจ
ทำ CPR เมื่อไหร่
เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดได้จากการเป็นโรคหัวใจ ออกกำลังกายมากเกินไป ตกใจหรือเสียใจกะทันหัน จากการสูญเสียเลือดมาก เลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่ทัน ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา
อาการที่ต้องทำ CPR อย่างเร่งด่วน
อาการของผู้บาดเจ็บที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการทำ CPR สามารถสังเกตได้ดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
2. ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก
3. หัวใจหยุดเต้น
ขั้นตอนการทำ CPR
สำหรับขั้นตอนในการทำ CPR มีหลักการดังนี้
1.เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ
2.ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
3.โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน1669 พร้อมร้องขอเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้
4.ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที
5.ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120ครั้งต่อนาที
6.เมื่อเครื่องAEDมาถึง ให้เปิดเครื่อง และเปิดเสื้อผู้ป่วยออก และทำตามที่เครื่อง AEDแนะนำ
7.ติดแผ่นนำไฟฟ้าบนตัวผู้ป่วยตามรูป และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
8.ปฏิบัติตามที่เครื่อง AED แนะนำ จนกว่าทีมกู้ชีพ จะมาถึง และ ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอด และปลอดภัย
9.กดหน้าอกต่อเนื่อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องAEDจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
10.ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพพยาบาล
การทำ CPR สำหรับเด็ก
การทำ CPR คล้าย ๆ กับผู้ใหญ่ แต่ของเด็กจะเน้นการเรื่องทางเดินหายใจเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่การเสียชีวิตในเด็กจะมาจากทางเดินหายใจอุดตัน เช่น การกินอาหารติดคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอมอุดหลอดลม ซึ่งการช่วยชีวิตในขั้นตอนแรกให้ดูว่ามีอะไรอุดในลำคอ หรือในปากหรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมที่เอาออกได้ให้เอาออก แต่ถ้าไม่เห็นหรือไม่มั่นใจ “ห้าม” เอานิ้วล้วงเข้าไปในปากเด็กเพราะ อาจจะทำให้สิ่งแปลกปลอมนั้นเข้าไปลึกขึ้น
ในกรณีที่เด็กอายุยังไม่ถึง 1 ขวบ ขั้นตอนแรกให้จับเด็กคว่ำหน้า ให้ศีรษะต่ำแล้วตบที่ระหว่างกระดูกสะบักด้านหลัง 5 ครั้ง (back blow) เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือถ้าเด็กที่มีอายุเยอะหน่อยก็ใช้วิธีการกดที่บริเวณท้อง (abdominal thrust) โดยการเข้าทางด้านหลัง ใช้แขนสอดข้างลำตัวเด็ก วางมือที่ใต้ลิ้นปี่ และออกแรงดึงมือเข้ามาที่ลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว ถ้าหากระหว่างที่ทำการช่วยเหลือ พบว่าเด็กหมดสติและไม่หายใจ ให้เริ่มทำ CPR ทันที
ทั้งนี้ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งก็ควรต้องช่วยเหลือเขาอย่างระมัดระวัง และหากมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่ก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อน หากช่วยผิดวิธีอาจทำให้หัวใจช้ำ กระดูกหัก รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ ตกเลือดได้ และไม่ควรทำ CPR กับคนที่ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือหมดสติ โดยเฉพาะการปั๊มหัวใจ เพราะอาจทำให้จังหวะหัวใจของคนที่โดนปั๊มเต้นผิดจังหวะไป ซึ่งอาจส่งผลด้านสุขภาพต่อไปได้
เดนมาร์ก สนับสนุนการให้ความรู้ด้าน CPR
เว็บไซต์ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่า ปี 2013 ประเทศเดนมาร์คให้ความรู้เกี่ยวกับการกู้ชีวิตด้วยการทำ CPR กับประชาชน พบผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายในเดนมาร์ค มีโอกาสที่จะรอดชีวิตมากขึ้นถึง 3 เท่าเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน
โดยผลการศึกษาระบุว่า เดนมาร์ค เริ่มดำเนินนโยบายระดับชาติเพื่อให้ความรู้ในการทำ CPR นอกโรงพยาบาลกับประชาชนตั้งแต่ปี 2005 มีการกระจายเอกสารแนะนำวิธีการทำ CPR กับประชาชนกว่า 150,000 ชุด, เด็กๆเริ่มเรียนรู้เรื่องการทำ CPR ตั้งแต่เรียนชั้นประถม และมีการบรรจุหลักสูตรการทำ CPR สำหรับผู้ที่จะสอบใบขับขี่ด้วย
จำนวนผู้ป่วยหัวใจวายที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการทำ CPR จากพลเมืองดี เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จาก 22% ในปี 2001 เป็น 45% ปี 2010 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยหัวใจวายที่ถูกส่งถึงโรงพยาบาลและยังมีชีวิตอยู่เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 22% สัดส่วนผู้ป่วยที่มีชีวิตหลังจากได้รับการช่วยเหลือ 30 วัน เพิ่มขึ้นจาก 3.5% เป็น 11% สัดส่วนผู้ป่วยที่มีชีวิตหลังจาก 1 ปี เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 3% เป็น 10% เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการปรับวิธีการทำ CPR ให้ง่ายขึ้น คือการใช้มือปั๊มหัวใจเพียงอย่างเดียว แทนที่เดิมจะเป็นการปั๊มหัวใจสลับกับการเป่าปาก
ข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ), โรงพยาบาลพระราม 9 , โรงพยาบาลน้ำยืน , มติชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมออธิบายเหตุการณ์ช็อกโลก! ทำไม‘คริสเตียน เอริคเซ่น’ ถึงล้มกลางสนาม
- คนบันเทิงส่งกำลังใจ คริสเตียน อีริคเซ่น นักเตะทีมเดนมาร์ก ช็อกหมดสติกลางสนาม ใน ยูโร 2020
- ตารางบอลยูโร โปรแกรมยูโร 2020 ครบทุกนัด พร้อมลิ้งก์ดูบอลสด