“อุโมงค์ใต้ทะเล” เชื่อมเยอรมนี - เดนมาร์ก ลดเวลาข้ามประเทศเหลือ 10 นาที

มีความคืบหน้าออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ที่จะวางเส้นทางยาวผ่านใต้ทะเลบอลติก เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสองประเทศอย่าง “เดนมาร์ก” และ “เยอรมนี” โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดเวลาการเดินทาง ช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษจากการจราจรที่ติดขัดในเส้นทางเดิม
อุโมงค์แห่งนี้มีชื่อว่า เฟห์มาร์นเบลท์ (Fehmarnbelt immersed tunnel) ซึ่งจะถูกวางเป็นแนวอยู่ใต้ทะเลลึก 40 เมตร และมีความยาวรวม 18 กิโลเมตร เป็นโครงการสร้างอุโมงค์ถนนและทางรถไฟแบบสำเร็จรูปที่ยาวที่สุดในโลก
สำหรับอุโมงค์แต่ละส่วน มีลักษณะคล้ายกับบล็อกคอนกรีต ที่จะผลิตขึ้นแยกกัน บล็อกคอนกรีตตัวหลักแต่ละชิ้นมีความยาวที่ 217 เมตร กว้าง 42 เมตร และสูง 10 เมตร และมีน้ำหนัก 73,000 ตันต่อชิ้น มีทั้งหมด 79 ชิ้นด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีบล็อกคอนกรีตขนาดพิเศษอีก 10 ชิ้น ที่มีความยาวเป็นครึ่งหนึ่งของบล็อกตัวหลัก แต่มีความกว้าง และสูงกว่าเล็กน้อย ทำให้โครงการนี้ มีการใช้บล็อกคอนกรีตทั้งหมดรวมแล้วอยู่ที่ 89 ชิ้น ทั้งหมดจะถูกผลิตขึ้นในโรงงานบนบก จากนั้นจึงขนย้ายต่อไปทางเรือ เพื่อปล่อยลงวางที่ใต้ทะเล แล้วจึงค่อยเชื่อมต่อบล็อกคอนกรีตเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะสูบน้ำออก
ซึ่งในกระบวนการประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกันนี้ เป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องใช้ความพิถีพิถันอย่างมาก โดยต้องปล่อยโครงสร้างต่าง ๆ ลงไปในร่องที่ขุดไว้ใต้ท้องทะเลลึก 40 เมตร ซึ่งทีมงานจะต้องใช้เทคโนโลยีกล้องใต้น้ำ และอุปกรณ์นำทางด้วย GPS เพื่อจัดวางตำแหน่งให้แม่นยำ
โครงการนี้มีมูลค่าราว 7,400 ล้านยูโร หรือราว 281,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของแผนของสหภาพยุโรป เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางข้ามทวีป
โดยความคืบหน้าเมื่อเดือนมีนาคม 2025 ที่ผ่านมา บริษัท เฟห์มาร์น (Femern) บริษัทผู้รับผิดชอบการก่อสร้างหลัก ได้เริ่มขนย้ายองค์ประกอบสองส่วนแรกของอุโมงค์ออกจากอู่แห้งแล้ว หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบอย่างละเอียดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ด้วยทั้ง
ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้แล้วเสร็จในปี 2029 เพื่อใช้เป็นเส้นทางโดยสารสำหรับรถยนต์และรถไฟระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานแล้ว จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางข้ามประเทศด้วยรถยนต์ให้เหลือ 10 นาที และการเดินทางด้วยรถไฟเหลือ 7 นาที แทนที่การเดินทางด้วยเรือข้ามฟากแบบเดิม ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 45 นาที