นวัตกรรมอุโมงค์ใต้ดินในเดนมาร์ก รับมือภัยน้ำท่วมในอนาคต
หลังมีการประมาณการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าในอนาคตเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอาจจะมีบางส่วนที่ต้อง “จมน้ำ” จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสภาพอากาศที่แปรปรวน เนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้หลายประเทศเริ่มหาทางรับมือ วางระเบียบเมืองและที่อยู่อาศัย เพื่อปรับตัวให้เข้าความเปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกันกับประเทศเดนมาร์ก ที่ได้ผุดโครงการก่อสร้างและพัฒนา “อุโมงค์รองรับน้ำท่วม” รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็น “ฟองน้ำซับน้ำฝน” ในเมืองโคเปนเฮเกน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองในอนาคต
ลึกลงไปใต้ผิวเมืองราว 20 เมตร คนงานในเมืองโคเปนเฮเกน เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเดนมาร์ก กำลังสร้างอุโมงค์เพื่อปกป้องเมืองหลวงของเดนมาร์กจากปัญหาน้ำท่วม โดยอุโมงค์แห่งนี้ มีความยาว 1.3 กิโลเมตร และสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 10,000 ลูกบาศก์เมตร
โดยในการใช้งานจริง หากเมืองเจอสถานการณ์ฝนตกหนักรุนแรง ทำให้ระบบบำบัดน้ำไม่สามารถรองรับได้ทัน ก็จะสามารถเปลี่ยนเส้นทางน้ำมายังอุโมงค์แห่งนี้ได้ รวมถึงทางวิศวกรผู้พัฒนายังระบุว่า ตัวอุโมงค์เชื่อมต่อกับระบบปั๊มน้ำ ที่สามารถสูบน้ำออกจากอุโมงค์ทั้งหมดได้ในเวลาเพียงสิบนาที
การก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ เริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 และคาดว่าอุโมงค์จะแล้วเสร็จภายในปี 2027
นอกจากนี้ในโคเปนเฮเกน ยังมีโครงการจัดการน้ำฝนในพื้นที่แบบอื่น ๆ เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียว ทำหน้าที่เป็น "ฟองน้ำ" เพื่อดูดซับและกักเก็บน้ำฝน ซึ่งเป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากข้อมูลการวิจัย ที่พบว่าเมืองจะเผชิญกับฝนตกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในช่วงศตวรรษหน้า
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการที่เดนมาร์กวางไว้ เพื่อรับมือกับ “Cloudbursts” หรือ “เมฆระเบิด” เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เมื่อมีฝนตกมากกว่า 10 เซนติเมตร เกิดขึ้นภายในพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งอาจจะสร้างหายนะ และทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าความถี่ของเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ที่มาข้อมูล APvideohub, Niras
ที่มารูปภาพ APvideohub