ห้องวิจัยบนดาวอังคาร Mars Lab ผลงานออกแบบจากเดนมาร์ก
ซากา สเปซ อาร์คิเทคส (SAGA Space Architects) สตูดิโอออกแบบในประเทศเดนมาร์ก เผยแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยและห้องปฏิบัติการบนอวกาศ ภายใต้ชื่อว่า มาร์ส แล็บ (Mars lab) ซึ่งได้เอาไปทดลองใช้จริงในทะเลทรายของประเทศอิสราเอล เพื่อจำลองสภาพการใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัดบนสภาพพื้นผิวสุดอันตรายของดาวเคราะห์สีแดง
สถาปัตยกรรมของ มาร์ส แล็บ (Mars lab) ได้รับการออกแบบให้มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการขนส่ง โดยชั้นผนังของที่อยู่อาศัย ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะพับและขยายได้ แต่ยังแข็งแรงพอที่จะทนต่อความกดดันของบรรยากาศโดยรอบได้
ชั้นผนังที่ออกแบบใหม่นี้ ยังมีส่วนที่โปร่งแสง เพื่อทำให้แสงผ่านเข้าถึงเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพสาหร่าย โดยการสังเคราะห์ด้วยแสงของสาหร่ายจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ไปพร้อมกับผลิตออกซิเจนให้กับผู้ที่อยู่อาศัย
โดยทีมพัฒนาระบุว่า การทดสอบใช้งานต้นแบบของที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมกลางทะเลทรายนี้ จะช่วยให้นักบินอวกาศ ได้จำลองการใช้ชีวิต คล้ายคลึงกับกิจวัตรประจำวันที่พวกเขาจะได้สัมผัสในอนาคตในภารกิจดาวอังคารจริง ๆ และยังเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยรุ่นใหม่ ให้พร้อมสำหรับการสำรวจดาวอังคารและระบบสุริยะในอนาคต
นอกจากผลงานนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ทีมเคยออกแบบผลงานที่อยู่อาศัยบนอวกาศอื่น ๆ มาแล้วเช่นกัน อย่างเช่น ลูนาร์ก (Lunark) เต็นท์พักแรมบนดวงจันทร์พับได้สไตล์โอริกามิ ที่ใช้โครงสร้างหลักของเต็นท์เป็นอลูมิเนียม ส่วนเปลือกเต็นท์ภายนอกทำจากคาร์บอนไฟเบอร์แบบมันวาวสีดำ ประกบซ้อนกันกับฉนวนโฟมด้านใน เชื่อมข้อต่อทั้งหมดด้วยยางคอมโพสิตพับได้ ทำให้เต็นท์มีความแข็งแรง คงทน แต่น้ำหนักเบา กางง่าย
โดยทีมงานได้พัฒนาและทดสอบเตนท์พับได้ ที่บริเวณเกาะกรีนแลนด์ สถานที่ที่เต็มไปด้วยธารน้ำแข็ง หนาวจัดติดลบ 30 องศาเซลเซียส พวกเขาลองทดสอบใช้ชีวิตอยู่บนเกาะโดยอยู่อาศัยในเต็นท์ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งาน และจะนำไปพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับการส่งไปใช้บนอวกาศต่อไป
ที่มารูปภาพ SAGA