รีเซต

รวมสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการโรคหัวใจ และวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น

รวมสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการโรคหัวใจ และวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น
TrueID
3 ธันวาคม 2563 ( 00:10 )
387

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทประชาชนควรตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสเกิดโรค

 

 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ย ชั่วโมงละ 2 คน โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มต้นและค่อยๆ เสื่อมจนทำให้เกิดอาการในระยะต่อมา หากพบว่าเป็นโรคดังกล่าวแล้วผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ตลอดชีวิต 

 

อ่านข่าว >>> "นพ.อัษฎางค์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเสียชีวิตกะทันหัน

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมีอะไรบ้าง

 

  • โรคเบาหวาน

 

ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานประมาณ 2-4 เท่า โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย (หญิง3.5 เท่า ผู้ชาย 2.1 เท่า) ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากโรคหัวใจประมาณ 70% ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติทำให้เพิ่มความหนืดของเลือด การไหลเวียนของเลือดช้า

 

เมื่อน้ำตาลและไขมันไปเกาะติดกับผนังหลอดเลือดที่เรียบหรือขรุขระทำให้เกิดการอักเสบบริเวณผนังหลอดเลือดแดงซึ่งมีผลทั่วร่างกายมากน้อยต่างกัน ทั้งที่เส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ สมอง ไต ตาและแขนขา เมื่อเกิดแผลการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดสร้างสารขยายตัวลดลง ประกอบกับมีไขมันเข้าไปเกาะติด ทำให้เกิดเป็นคราบตะกรันบริเวณผนังด้านในหลอดเลือด ทั้งนี้ ยังพบว่า เบาหวานอาจจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงทำให้การคลายตัวและการบีบตัวของหัวใจล่างซ้ายแย่ลง เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

 

  • ความดันโลหิตสูง

 

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

 

ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่บางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ แต่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายถูกทำลาย ได้แก่ หัวใจ สมอง  ไต หลอดเลือด และตา เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานไม่เป็นปกติ และหากถูกทำลายอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

 

การเกิดภาวะแทรกซ้อนแบ่งได้ 2 กรณี คือ

  1. ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง เช่น หัวใจวาย
  2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดตีบหรือตัน
    • หากเกิดบริเวณหลอดเลือดหัวใจ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
    • หากเกิดที่บริเวณหลอดเลือดในสมอง จะทำให้หลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน และอาจทำให้เป็นอัมพาต
    • หากเกิดบริเวณไต อาจทำให้ไตวายได้
  •  

 

  • ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

 

            ไขมันในเลือดสูง คือ ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร(mg/dl) จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการสะสมที่ผนังหลอดเลือด เมื่อพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลต่อขนาดรูของหลอดเลือดเล็กลงและอุดตันได้ อย่างไรก็ตาม ในคอเลสเตอรอล ยังมีไขมันประกอบ ซึ่งต้องพิจารณาร่วมด้วยว่าแต่ละตัวมีระดับที่อยู่ในเกณฑ์อย่างไร ประกอบด้วย

 

            HDL  (High Density Lipoprotein)  คือ ไขมันที่มีความหนาแน่นสูง เป็นไขมันที่ดีต่อหลอดเลือดแดง ช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีไปพอกสะสมในหลอดเลือดแดง ค่าปกติไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl พบมากในอาหารไข่ เนื้อปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้าสูง อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืช เป็นต้น

 

            LDL (Low Density Lipoprotein) คือ ไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ เป็นไขมันที่ไม่ดี ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โดยปกติไม่ควรเกิน 120 mg/dl ส่วนใหญ่พบใน ของหวาน ของทอด ไอศกรีม เป็นต้น

 

            ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดจากทั้งการสังเคราะห์ในร่างกายของเรา และรับจากการรับประทานอาหาร แต่ถ้าสะสมมากเกินไปจะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยปกติไม่ควรเกิน 150 mg/dl

 

แนะนำ >>> 8 อาหารลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเลือด ลดโรคได้แค่เลือกกิน

 

  • โรคอ้วนลงพุง

 

มีข้อมูลทางการแพทย์ (สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์) ระบุว่า ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนลงพุง เป็น 1 ในสาเหตุที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาการดังกล่าวเกิดจากการมีไขมันสะสมในช่องท้องหรืออวัยวะภายในช่องท้องมากเกินควร ส่งผลให้พุงยื่นออกมาอย่างชัดเจน 

 

แนะนำ >>> รวม 10 ท่า ลดเอว ลดพุง สร้างกล้ามท้อง ลดเร็ว ได้ผลจริง!

 

“อาการลงพุง” สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศชายที่มีเส้นรอบเอวเกินกว่า 36 นิ้ว หรือ 90 ซม.และเพศหญิงที่มีเส้นรอบเอวเกินกว่า 32 นิ้ว หรือ 80 ซม. ร่วมกับการมีดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ 18.5 - 24.9 โดยสามารถคำนวณหาค่า ดัชนีมวลกาย  = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2  หากพบว่าร่างกายของตนเองมีภาวะเสี่ยงดังกล่าว อาจส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

 

  • สูบบุหรี่

            การสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตร้อยละ 12 จากโรคหัวใจทั้งหมด การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญลำดับที่ 2 ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รองจากโรคความดันโลหิตสูง มีหลายงานวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่ เร่งความเสื่อมของเส้นเลือดทั่วร่างกาย รวมทั้งส่งผลทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจวายกะทันหัน รายที่เรื้อรังจะเจ็บหน้าอก และเหนื่อยง่ายอีกด้วย

 

 

  • ความเครียด

            เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน และคอร์ติซอลออกมา ซึ่งสารอะดรีนาลีนส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสารคอร์ติซอลมีผลทำให้ร่างกายผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น และตับผลิตคอเรสเตอรอลเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ซึ่งก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้

 

            ผลวิจัยโดยศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยว่า คนที่มีความเครียด รู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวล มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่เครียดน้อยถึง 27 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการติดตามผลต่อเนื่องตลอด 14 ปี เพื่อศึกษาความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เพราะความเครียดยังทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตที่สูงขึ้นนี้ อาจไปทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว เกิดภาวะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจวายได้ในที่สุด และเมื่อศึกษาลงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและโรคหัวใจ พบว่าอายุมากขึ้นความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและโรคหัวใจก็ยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ในการศึกษาของทางประเทศแคนาดา ยังพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจและสามารถจัดการอารมณ์ความเครียดของตนเองได้ดี จะทำให้มีอายุยืนยาวกว่า 10 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่สามารถจัดการความเครียดของตนเองได้

 

แนะนำ >>> " มีความสุข " เริ่มต้นจาก " การพอใจในสิ่งที่มียินดีกับสิ่งที่ได้รับ " 😁✨

           

  • กรรมพันธุ์

สถิติพบว่า 1 ใน 200 คนที่เป็นโรคหัวใจมีสาเหตุจากพันธุกรรม โดยผลวิจัยระบุว่า ผู้ที่มีพี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจก่อนวัยอันควร จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าขึ้นไป ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายหากครอบครัวมีประวัติป่วยโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์และหมั่นเช็กสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรค เพราะเมื่อได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้

 

            นอกจากนี้ ในงานวิจัย “โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม” ระบุประวัติเฉพาะที่ต้องสงสัยดังนี้

 

  1. ครอบครัวมีสมาชิกในบ้านเป็นโรคหัวใจในบ้านแบบเดียวกันในทุกๆ รุ่น
  2. สมาชิกในครอบครัวเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุน้อย
  3. สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตเฉียบพลันอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  4. สมาชิกในครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดจำเพาะ

 

ดังนั้น การที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลถึงการดูแลสุขภาพของสมาชิกรายอื่นในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะญาติสายตรง (บิดา มารดา บุตรธิดา พี่น้อง) แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ แต่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำขึ้นในครอบครัว

 

 

 

ลักษณะของโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

แบ่งได้ตามลักษณะอาการแสดงมี 2 รูปแบบ

 

  1. อาการโรคหัวใจแบบเรื้อรัง

เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ มีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด  ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบเล็กลงหรือตีบตัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกในช่วงที่ออกแรงหยุดพักแล้วดีขึ้น อาการลักษณะแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่จะเกิดขึ้นจากการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือดทำให้มีการตีบแคบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ มักเกิดในบุคคลที่มีความเสี่ยงได้โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงรวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ โดยมีอาการบ่งชี้  เช่น แน่นหน้าอกคล้ายมีบางอย่างมากดทับรู้สึกร้าวไปกรามและทั้งแขนด้านซ้าย ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการออกแรงและอาการดีขึ้นเมื่อหยุดพักหรืออมยาใต้ลิ้น นอกจากนี้ ยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ 

 

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ

  1. การรักษาด้วยยา
  2. การขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน
  3. และการรักษาด้วยการผ่าตัดเบี่ยงเบนหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส 

 

2. อาการโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน

            เกิดจากการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือดทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะและมีการอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจส่งผลให้บางรายเสียชีวิตแบบกะทันหันได้ อาการเกิดได้โดยไม่เลือกเวลา อาจมีอาการได้ในขณะทำงาน เล่นกีฬาหรือพักผ่อน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง มีเหงื่อออก ใจสั่น และปวดร้าวไปกรามสะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยจุกลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน  ซึ่งเกิดจากมีการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือด และมีลิ่มเลือดมาจับตัวบริเวณนั้นเมื่อลิ่มเลือดมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงทีไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตเฉียบพลันทันทีจากภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง

 

โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง นอนหลับพักผ่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ยังรู้สึกตัวดีต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

 

 

วิธีแจ้งเมื่อพบผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เรียกว่า ระบบช่องทางด่วน (fast track)

 

  • ติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

 

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจเพื่อการทำบอลลูน ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง (golden period) 120 นาที ในการเปิดหลอดเลือดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

 

  • ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบว่าอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เวลาออกแรง เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋มให้รีบมาพบแพทย์ทันที

 

 

 

 

ข้อมูลประกอบ :

 

Image by mohamed Hassan from Pixabay 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง