รีเซต

สิ้นสุดการรอคอย จรวด SLS นำภารกิจอาร์เทมิส 1 สู่ดวงจันทร์

สิ้นสุดการรอคอย จรวด SLS นำภารกิจอาร์เทมิส 1 สู่ดวงจันทร์
TNN ช่อง16
16 พฤศจิกายน 2565 ( 16:38 )
93
สิ้นสุดการรอคอย จรวด SLS นำภารกิจอาร์เทมิส 1 สู่ดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 (วันนี้) เวลา 13.47 น. ตามเวลาประเทศไทย จรวดเอสแอลเอส (SLS) ได้จุดเครื่องยนต์และออกตัวจากฐานปล่อยจรวด 39บี (39B) ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำส่งยานอวกาศโอไรออน (Orion) และดาวเทียมอีกจำนวนหนึ่งในภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) นับเป็นการเริ่มต้นโครงการอาร์เทมิส (Artemis Program) อย่างเป็นทางการ


ภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) 

โดยภารกิจอาร์เทมิส 1 เป็นภารกิจแรกอย่างเป็นทางการในโครงการอาร์เทมิส ซึ่งเป็นโครงการฝาแฝดกับโครงการอะพอลโล (Apollo Program) เพื่อนำมนุษยชาติกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งภารกิจอาร์เทมิส 1 จะเป็นการส่งดาวเทียมที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งเพื่อวางรากฐานในการสำรวจ และเป็นการส่งยานอวกาศโอไรออนแบบไร้นักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อทดสอบระบบการทำงานของยานอวกาศ ก่อนจะส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศโอไรออนในภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis 2)

สำหรับตอนนี้ยานอวกาศโอไรออนได้แยกตัวออกจากจรวดเอสแอลเอสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้กางปีกแผงโซลาร์เซลล์แล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งยานอวกาศโอไรออนจะใช้เวลาตั้งแต่การปล่อยจรวดไปจนถึงการเดินทางกลับโลกในการบรรลุเป้าหมายของภารกิจอาร์เทมิสเป็นระยะเวลาประมาณ 25 วัน ซึ่งจะทำการลงจอดบนพื้นโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2022 ที่จะถึงนี้ ด้วยความเร็วประมาณ 24,000 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 38,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคิดเป็นระยะทางทั้งหมด 1.3 ล้านไมล์ หรือประมาณ 2 ล้านกิโลเมตร


กำหนดการที่ถูกเลื่อนทั้งหมด 

โดยก่อนหน้านี้ภารกิจอาร์เทมิส 1 ถูกเลื่อนมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง เนื่องจากปัญหารอยรั่วของถังบรรจุเชื้อเพลิงเหลว รวมถึงการแปรปรวนของสภาพอากาศจากพายุเอียนและพายุนิโคลที่เข้าถล่มชายฝั่งฟลอริดาอันเป็นที่ตั้งของฐานปล่อยจรวดของศูนย์อวกาศเคนเนดี


สำหรับภารกิจอาร์เทมิส 2 ถูกวางกำหนดการไว้ในปี 2024 ซึ่งยังไม่มีการระบุวันที่และเวลาอย่างชัดเจน โดยในครั้งนี้จะเป็นการส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศโอไรออน ก่อนที่จะส่งนักบินอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ในภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3)

ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง