รีเซต

"อัปเกรดสมอง" วิวัฒนาการขั้นสุดยอดของมวลมนุษย์ ด้วยชิป Neuralink

"อัปเกรดสมอง" วิวัฒนาการขั้นสุดยอดของมวลมนุษย์ ด้วยชิป Neuralink
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2565 ( 10:00 )
262

จะเป็นอย่างไรหากสมองของมนุษย์ มีศักยภาพในการประมวลผลเทียบเท่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์? ฟังดูแล้วคุณอาจจะว่ามันคือแนวคิดจากนิยายวิทยาศาสตร์สักเรื่องหนึ่ง ทว่า ในอนาคตคุณอาจจะสามารถ “อัปเกรดสมอง” ของคุณได้จริง ๆ และในบทความนี้จะขอนำคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “ชิปฝังสมอง Neuralink” นวัตกรรมสุดล้ำของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)





ที่มาของการพัฒนาชิป Neuralink


Neuralink (นิวรัลลิงก์) คือ ชื่อบริษัทที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ฝังสมอง หรือ Implantable brain–machine interfaces (BMIs) ที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงการปรับปรุงศักยภาพของมนุษย์


ที่มาของภาพ Neuralink

 


สำหรับอุปกรณ์ฝังสมองที่ Neuralink พัฒนาขึ้นนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจาก “Neural lace” อุปกรณ์ฝังสมองในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง The Culture ของ เอียน แบงกส์ (Iain Banks) ซึ่งในเบื้องต้นมัสก์ตั้งเป้าหมายให้อุปกรณ์ฝังสมองจาก Neuralink ช่วยรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานในสมอง และในระยะยาวอุปกรณ์ฝังสมองนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและเรียนรู้ร่วมกับมนุษย์ในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน อย่างที่เรียกว่า Symbiosis with artificial intelligence


นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา บริษัท Neuralink จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ฝังสมอง BMIs ขึ้นมา โดยนิยมเรียกกันในชื่อ “ชิป Neuralink” และเริ่มทำการทดลองในสัตว์ก่อนที่จะนำมาใช้ในมนุษย์เป็นลำดับถัดไป



ชิป Neuralink ถูกฝังลงไปในสมองได้อย่างไร?


หลังจากประกาศโครงการพัฒนาชิปฝังสมองไปเมื่อปี 2017 ทางบริษัท Neuralink ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเปิดเผยออกมา จนกระทั่งในปี 2019 อีลอน มัสก์ ได้เผยโมเดลของชิป Neuralink รุ่นแรกสู่สาธารณชน โดยมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ที่ซ่อนอยู่บริเวณหลังหู แล้วโยงสายอิเล็กโทรดผ่านกะโหลกเข้าไปยังสมอง หากพิจารณาดูแล้วมันยังไม่ใกล้เคียงกับชิปฝังสมองตามที่หลาย ๆ คนคาดหวังไว้


ที่มาของภาพ Neuralink

 


จนกระทั่งในปี 2020 ทางบริษัทได้ปรับปรุงชิป Neuralink ขึ้นมาใหม่ โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นชิปขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 มิลลิเมตร (ราว ๆ เหรียญ 5 บาท) และมีความหนา 8 มิลลิเมตร ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นสายรับ-ส่งข้อมูล ซึ่งภายในประกอบด้วยเส้นอิเล็กโทรดจำนวนมาก และแต่ละเส้นมีความบางกว่าเส้นผมของมนุษย์เสียอีก โดยจุดแตกต่างที่สำคัญระหว่างชิปรุ่นแรกและรุ่นใหม่ คือ ชิปรุ่นใหม่จะถูกฝังไว้ที่กะโหลกศีรษะแทนการติดไว้บริเวณหลังหู




สำหรับกระบวนการฝังชิป Neuralink นั้น เนื่องจากเส้นอิเล็กโทรดมีความบางและมีจำนวนหลายเส้น ทางบริษัทจึงเลือกใช้หุ่นยนต์ AI ที่มาพร้อมกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง เพื่อทำการผ่าตัดและฝังเส้นอิเล็กโทรดแต่ละเส้นลงไปในสมองได้อย่างแม่นยำ เริ่มต้นจากการผ่าตัดเจาะรูบนกะโหลดศีรษะให้มีขนาดเท่ากับชิป จากนั้นหุ่นยนต์จะค่อย ๆ ฝังสายอิเล็กโทรดลงไปในส่วนต่าง ๆ ของสมอง ก่อนที่จะวางชิปปิดทับส่วนของกะโหลกที่ถูกเจาะรูออกไป ราวกับว่ามันคือชิ้นส่วนของกะโหลก สุดท้ายหุ่นยนต์จะปิดชั้นต่าง ๆ ของหนังศีรษะเท่านี้เป็นอันเสร็จสมบูรณ์


กระบวนการฝังชิปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยจะดำเนินการด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมดทุกขั้นตอน ซึ่งนอกจากจะให้ความแม่นยำและความรวดเร็วในการผ่าตัดแล้ว ผู้ที่เข้ารับการฝังชิปไม่มีความจำเป็นต้องดมยาสลบ จึงสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ทันทีหลังผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย


ที่มาของภาพ Neuralink

 


ในกรณีที่คุณต้องการถอดชิป Neuralink ออก (เพื่ออัปเกรดไปใช้ชิปรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือต้องการนำไปซ่อมบำรุง) ก็สามารถใช้หุ่นยนต์ AI ในการถอดชิปฝังสมองออกได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ คุณยังสามารถเลือกฝังชิปได้มากกว่า 1 ชิ้น เพื่อเสริมศักยภาพในการประมวลผลให้มากขึ้น หรือเน้นการประมวลผลเฉพาะด้านได้เช่นกัน



ชิป Neuralink ทำงานอย่างไร?


ก่อนกล่าวถึงกลไกการทำงานของชิป จะต้องเกริ่นถึงการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองเสียก่อน เซลล์ประสาทในสมองจะทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลหากันด้วยกระแสไฟฟ้า (กระแสประสาท) เป็นต้นว่า หากคุณต้องการยกแขนขวาขึ้นมา เซลล์ประสาทในสมองจะส่งกระแสประสาท ผ่านไปยังเซลล์ประสาทถัดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงกล้ามเนื้อแขนขวา ชิป Neuralink จึงอาศัยกลไกการส่งกระแสไฟฟ้าของเซลล์ประสาทในการร่วมทำงานกับสมองนั่นเอง


ที่มาของภาพ DANA

 


ชิป Neuralink จะทำหน้าที่เสมือนเซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่ง ที่สามารถรับกระแสประสาทจากสมองเข้ามาประมวลผลผ่านอิเล็กโทรดที่ฝังไว้ และสามารถส่งกระแสประสาทกลับไปเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ประสาททำงานตามคำสั่งได้ด้วย กลไกเหล่านี้เองจึงนำมาสู่ความสามารถในการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัวด้วยใจนึก โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสัมผัสอุปกรณ์เหล่านั้นเลย


ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถพิมพ์ข้อความบนสมาร์ตโฟนได้ เพียงแค่กวาดสายตามองไปบนแป้นพิมพ์เพื่อที่จะเลือกกดตัวอักษรที่ต้องการ หรือหากเทคโนโลยีพัฒนาไปมากกว่านั้น เพียงแค่คุณคิดคำขึ้นมาก็สามารถสั่งพิมพ์ข้อความลงบนสมาร์ตโฟนได้ ซึ่งกลไกการนึกคิดที่เกิดขึ้นในสมองจะสร้างกระแสประสาทขึ้นมา ชิป Neuralink จะนำกระแสประสาทที่ได้มาประมวลผล แล้วส่งข้อมูลไปยังสมาร์ตโฟนผ่านการเชื่อมต่อไร้สาย พร้อมแปลงข้อมูลของกระแสประสาทออกมาให้กลายเป็นคำสั่งที่จะปรากฏบนหน้าจอสมาร์ตโฟน ซึ่งในที่นี้คือข้อความที่คุณต้องการพิมพ์นั่นเอง


ที่มาของภาพ HotHardware

 


สิ่งที่หลายคนอาจสงสัย คือ ชิป Neuralink มีแหล่งพลังงานจากไหน? อีลอน มัสก์ กล่าวว่าชิป Neuralink จะใช้พลังงานต่ำมาก และสามารถอยู่ได้ตลอดทั้งวัน หลังจากนั้นคุณสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ด้วยการชาร์จไร้สาย (เช่นเดียวกับการชาร์จแบตเตอรี่ในสมาร์ตโฟน) ทว่า ยังไม่ปรากฏรายละเอียดในส่วนนี้เท่าไรนัก คาดว่าทางบริษัทอาจให้แท่นชาร์จไร้สายมาให้ด้วยหลังการติดตั้งชิปในสมองแล้ว บางเว็บไซต์วิเคราะห์ว่ามันอาจมีลักษณะเป็นแท่นชาร์จแม่เหล็กขนาดเล็กแปะบนศีรษะในตำแหน่งที่มีชิปฝังอยู่ แล้วให้ผู้ใช้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ในระหว่างนอนหลับ หรือในอนาคตอาจมีการออกแบบเตียงแบบพิเศษ ที่บริเวณหัวเตียงสามารถปล่อยกระแสไฟเพื่อชาร์จแบตเตอรี่แก่ชิปฝังสมองแบบไร้สายไปด้วยในตัว!



ประโยชน์ของชิป Neuralink ในทางการแพทย์


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า Neuralink มีประโยชน์อย่างมากในการนำมาประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ จึงจะขอยกตัวอย่างการนำมาใช้ ดังนี้


1. ผู้ป่วยอัมพาตและผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านความคิดได้ หรืออาจพัฒนาให้ชิปสามารถส่งกระแสประสาทกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกาย แทนเซลล์ประสาทที่เสียหายได้ในอนาคต


2. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการส่งสัญญาณประสาท เช่น กรณีของนักแสดงชื่อดัง บรูซ วิลลิส ซึ่งป่วยเป็นโรคสูญเสียการสื่อความ (อะเฟเซีย - Aphasia) อันเนื่องมาจากสมองส่วนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถประมวลผลได้ ชิป Neuralink นี้อาจเข้ามาทำหน้าที่แทนในส่วนของการประมวลผล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสื่อความกับคนรอบข้างได้


ที่มาของภาพ National Aphasia Association

 


3. ผู้ป่วยที่มีภาวะหลงลืม (Dementia) และป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) อาจใช้ชิป Neuralink ในการช่วยกระตุ้นให้สมองยังคงศักยภาพในการเรื่องความจำ และใช้ควบคุมการดำเนินโรคไม่ให้รุนแรงขึ้นได้


4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักและผู้ป่วยจิตเวช แพทย์สามารถติดตามการทำงานของสมองได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการทำงานของสมองเก็บไว้ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษา และที่สำคัญที่สุดแพทย์อาจใช้ชิป Neuralink ในการรักษาด้วยการกระตุ้นรูปแบบของกระแสประสาทอย่างเหมาะสม เพื่อบำบัดให้การทำงานของสมองผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด


ที่มาของภาพ Muskette

 


นอกเหนือจากนี้ เชื่อว่า Neuralink อาจมีบทบาทในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทได้อีกมากมาย เช่น การใช้งานร่วมกับดวงตาเทียม (Bionic eye) เพื่อให้คนตาบอดกลับมามองเห็นอีกครั้ง หรือใช้ประมวลผลสัญญาณเสียงในผู้ป่วยหูหนวก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงต้องรอให้ทางบริษัทพัฒนาขีดความสามารถของชิปประมวลผลให้มากขึ้น จนกว่าจะสามารถนำมาทดลองในมนุษย์ได้



เปลี่ยนสมองให้กลายเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์


นอกจากประโยชน์ในทางการแพทย์แล้ว ย้อนกลับมาที่ต้นแบบแรงบันดาลใจของ Neuralink จากนิยายเรื่อง The Culture ชิปฝังสมองนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อเพิ่มศักยภาพของสมองมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ และนี่คือตัวอย่างการ “อัปเกรดสมอง” ด้วยชิป Neuralink ที่คุณอาจสนใจ


1. ในกรณีที่คุณเปลี่ยนบ้านให้เป็นสมาร์ตโฮม คุณอาจผสานการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ภายในบ้านร่วมกับชิป Neuralink เช่น การเปิดไฟในห้องนั่งเล่นด้วยการนึกคิด หรือการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟพร้อมเลือกระดับความร้อนผ่านความคิด เป็นต้น


ที่มาของภาพ Lad Bible

 


2. ชิป Neuralink สามารถพัฒนาออกมาในรูปแบบเดียวกับชิปประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (ซีพียู) อาจทำออกมาเป็นชิปเสริมเพื่อติดตั้งเพิ่มเติมนอกเหนือจากชิป Neuralink แบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งชิปที่เน้นในการประมวลผลนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของสมอง เช่น เพิ่มความรวดเร็วในการคิดคำนวณ หรือแก้สมการทางคณิตศาสตร์ยาก ๆ ได้ เป็นต้น นี่เทียบเท่ากับการอัปเกรดสมองของคุณให้มีความเร็วระดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ได้เลยทีเดียว


3. ใช้ชิปในการเก็บความทรงจำต่าง ๆ เนื่องจากความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นในสมองจะอยู่ในรูปของกระแสประสาท ดังนั้น ชิป Neuralink จะสามารถแปลงกระแสประสาทนี้เพื่อส่งไปยังอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลปลายทาง (ภายนอกร่างกาย) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความทรงจำเหล่านี้ไว้ โดยคุณสามารถรื้อฟื้นความทรงจำเมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ เพียงแค่เชื่อมต่อชิปกับอุปกรณ์เก็บข้อมูล (คล้ายกับการดึงความทรงจำมาเก็บไว้ในอ่างเพนซิฟ ดังเช่นในภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์)


4. ด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ก็สามารถประยุกต์ใช้ชิป Neuralink ได้เช่นเดียวกัน โดยฉพาะการเล่นเกมที่ผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครในเกมได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เสริม


ที่มาของภาพ Unsplash

 


5. ชิป Neuralink สามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี VR, AR และเมตาเวิร์สได้ โดยการผนวกความสามารถในการประมวลผล และส่งกระแสประสาทเข้าสู่สมองของคุณ เพื่อสร้างภาพของโลกและวัตถุเสมือนจริงให้คุณเห็นได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เสริมใด ๆ


และนี่คือส่วนหนึ่งในประโยชน์ของชิป Neuralink ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของคุณได้มากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน Neuralink ยังคงต้องพัฒนาต่อไปจนกว่าจะพร้อมใช้งานฟังก์ชันในข้างต้นได้



อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากชิปฝังสมอง


ความเสี่ยงจากชิปฝังสมอง Neuralink สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มการผ่าตัด ไปจนถึงหลังจากที่คุณได้รับการฝังชิปจนสำเร็จแล้ว โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการผ่าตัด คือ ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างผ่าตัดคุณอาจเสียเลือดมาก, เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อสมอง หรือเกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัดเสร็จไม่นาน เหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการพัฒนาเครื่องมือให้มีความปลอดภัย และการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดของผู้เข้ารับบริการ


ที่มาของภาพ Neuralink

 


ในกรณีที่ชิปถูกฝังลงในสมองแล้ว ความเสี่ยงลำดับถัดมา คือ ชิปเกิดความเสียหายจนทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อสมอง หรือร่างกายเกิดตอบสนองต่อชิป ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ถูกเพิ่มเข้ามา ส่งผลให้เป็นอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน


และสุดท้ายเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในกรณีที่คุณสามารถรอดพ้นจากความเสี่ยงข้างต้นได้ ความเสี่ยงสุดท้ายอาจเกิดขึ้นกับการทำงานของชิปเอง เริ่มต้นจากการประมวลผลของชิปผิดพลาดจนรบกวนการทำงานของสมอง หากเป็นเช่นนั้นคุณสามารถเข้ารับการถอดเปลี่ยนชิปออกได้ตามที่ Neuralink เคยเคลมไว้ แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ ชิปถูกควบคุมโดยแฮกเกอร์จากระยะไกล เนื่องด้วยชิปสามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายได้ จึงมีโอกาสที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์ อาจถูกขโมยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ หรือถูกแทรกแซงการทำงานจนส่งผลกระทบต่อสมองของคุณได้เช่นกัน จุดนี้จึงเป็นสิ่งที่ทาง Neuralink พัฒนาระบบป้องกันของชิปให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวรวมถึงชีวิตของผู้เข้ารับบริการ



พัฒนาการของชิปฝังสมองสุดอัศจรรย์ และข้อกังขาด้านจริยธรรม


สำหรับเส้นทางการพัฒนาชิป Neuralink นั้น ทางบริษัทจำเป็นต้องทำการทดลองในสัตว์ก่อนนำมาใช้ในมนุษย์ ซึ่งในปี 2020 และปี 2021 บริษัทได้เผยวิดีโอและผลลัพธ์ของการทดลองชิปฝังสมองในสัตว์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้




การทดลองแรกที่มีการเปิดเผยข้อมูล คือ การทดลองในหมู โดยเป้าหมายของการนำเสนอในครั้งนี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชิปฝังสมอง และสามารถเปิดระดมทุนแก่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้ สำหรับการทดลองในหมู อีลอน มัสก์ ได้แสดงให้เห็นว่าหมูที่ชื่อว่า เกอร์ทรูด ถูกฝังชิปมานานถึง 2 เดือนแล้ว และในปัจจุบันมันยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ได้รับผลข้างเคียงจากการฝังชิป 


นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถติดตามการทำงานของสมองในขณะที่หมูเคลื่อนไหว ซึ่งคลื่นสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริเวณที่ทำการสั่งการขาข้างใดข้างหนึ่ง รวมถึงเมื่อหมูได้กลิ่นก็จะปรากฏคลื่นสมองทำงานในจุดรับกลิ่นของสมองด้วยเช่นกัน


หลังจากนั้นในปีถัดมา ทางบริษัทได้ทำการทดลองฝังชิปลงในสมองของลิง เพื่อแสดงให้เห็นว่าชิปฝังสมองสามารถใช้งานได้ในสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์มนุษย์ และที่แตกต่างไปจากการทดลองในหมู คือ ครั้งนี้ชิปในสมองลิงจะใช้ควบคุมการเล่นเกม Pong ด้วย




ลิงที่ฝังชิปในสมองถูกฝึกให้สามารถควบคุมไม้ตีในเกม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปิงปองตกลงมาในฝั่งของตนเอง และพยายามโต้กลับให้ได้ หากสามารถทำได้ลิงจะได้รับอาหารตอบแทนผ่านท่อส่งอาหาร ผลปรากฏว่าลิงสามารถควบคุมไม้ตีในเกมได้อย่างน่าทึ่ง โดยไม่ต้องใช้จอยสติ๊กในการเล่นเกมเลย


อย่างไรก็ตาม การฝังชิปลงในสมองสัตว์นับว่าเป็นการทดลองที่มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสเกิดการร้องเรียนด้านจริยธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าทาง Neuralink ได้ถูกร้องเรียนในประเด็นด้านจริยธรรมการทดลองในสัตว์ โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์ The Physicians Committee for Responsible Medicine (PCRM) 


ทางองค์กรได้กล่าวหา Neuralink ถึงประเด็นที่บริษัทดูแลสัตว์ทดลอง (ลิง) ไม่ดีพอ และพวกมันอาจต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมากอีกด้วย จากข้อมูลขององค์กรเผยว่าลิงบางตัวมีนิ้วมือและนิ้วเท้าขาดหายไป ซึ่งอาจมาจากการที่พวกมันเกิดความเครียดจนกัดนิ้วของตนเอง หรือเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการทดลอง นอกจากนี้ ตั้งแต่เริ่มการทดลองในสัตว์จะมีลิงอยู่ทั้งหมด 23 ตัว แต่เมื่อปี 2020 มีลิงเหลืออยู่เพียง 7 ตัว นั่นหมายความว่ามีลิงที่ตายไปในระหว่างการทดลองเกือบ 70% โดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างการทดลองบ้าง 


ที่มาของภาพ Business Insider

 


กระทั่งทางบริษัทได้ออกมาชี้แจงว่า ลิงจำนวนหนึ่งถูกการุณยฆาตเนื่องจากช่วงอายุครบกำหนดตามการทดลอง และอีกจำนวนหนึ่งถูกการุณยฆาตเนื่องจากได้รับผลกระทบระหว่างการทดลอง ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด, ชิปฝังสมองเกิดความล้มเหลว หรือเกิดการติดเชื้อ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีลิงเพียง 21% เท่านั้นที่ถูกการุณยฆาต 


Neuralink ยืนยันว่าทางบริษัทได้ดูแลลิงและสัตว์ทดลองทุกตัวเป็นอย่างดี และสัญญาว่าจะปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อลดการสูญเสียของสัตว์เหล่านี้ ถึงกระนั้น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในสัตว์ ก่อนที่จะเริ่มต้นนำมาทดลองในคน ดังนั้น การทดลองในสัตว์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียทีเดียว


ที่มาของภาพ Future-Healthcare

 


และนี่คือเรื่องราวของชิปฝังสมอง Neuralink ที่อาจเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสักวันหนึ่ง หรืออาจเป็นไปตามดั่งคำที่ อีลอน มัสก์ ได้กล่าวไว้ว่า จะทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ จนกลายเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของมนุษย์ก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 1,2,3,4,5

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง