จีนเตรียมส่ง “ปลาม้าลาย” ขึ้นสู่สถานีอวกาศเทียนกง
ตามรายงานของสำนักข่าวกวนฉา (Guancha.cn) จากประเทศจีน ระบุว่าประเทศจีนกำลังวางแผนที่จะส่งปลาม้าลาย (Zebra fish) ขึ้นสู่สถานีอวกาศ เพื่อใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับการสูญเสียมวลกระดูกของนักบินอวกาศ ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของงานวิจัยนี้
การทดลองเกี่ยวกับการสูญเสียมวลกระดูกของนักบินอวกาศ
โดยงานวิจัยดังกล่าวอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาวิธีลดหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกของนักบินอวกาศขณะอยู่ในสถานีอวกาศ เพราะบนสถานีอวกาศอยู่ในสภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง (Microgravity) เมื่อร่างกายของมนุษย์อยู่ในสภาวะนี้นานเกินไป จะก่อให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก จนนำไปสู่โรคกระดูกพรุน รวมไปถึงผลกระทบอื่น ๆ เช่น การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อบริเวณแขนและขาที่นำไปสู่โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อหัวใจที่นำไปสู่โรคหัวใจ
สำหรับปลาม้าลายเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มักถูกใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะขณะที่มันเป็นตัวอ่อน มันจะมีลำตัวที่ใส ทำให้สามารถมองเห็นระบบอวัยวะภายในต่าง ๆ ที่มีความคล้ายกับมนุษย์ เช่น สมอง, หัวใจ, ตับและไต มันจึงถูกนำมาเป็นตัวแทนของร่างกายมนุษย์ในการทดลองต่าง ๆ
การทดลองกับปลาบนสถานีอวกาศของชาติอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการส่งปลาขึ้นสู่สถานีอวกาศ ในปี 2012 นาซา (NASA) เคยส่งปลาเมดากะที่เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งปลาเมดากะเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยมันถูกเลี้ยงไว้ในอควาติก ฮาบิแทท (Aquatic Habitat) หรือตู้ปลาขนาดเล็กที่ได้รับการออกแบบเพื่อใช้งานบนสถานีอวกาศนานาชาติ
นอกจากนี้ ในปี 1976 สหภาพโซเวียตก็เคยส่งปลาม้าลายขึ้นสู่สถานีอวกาศซัลยุท 5 (Salyut 5) ด้วยเช่นกัน ซึ่งพบว่าปลาม้าลายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อตอบสนองต่อการใช้ชีวิตในสภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง
ข้อมูลและภาพจาก space.com