สถานีอวกาศดวงจันทร์ “Gateway” เตรียมติดโซลาร์เซลล์ม้วนได้ ใช้สร้างพลังงาน

เรดไวร์ คอร์ปอเรชัน (Redwire Corporation) บริษัทเทคโนโลยีอวกาศและการป้องกันประเทศ จากสหรัฐอเมริกา ประกาศความสำเร็จในการทดสอบ แผงโซลาร์เซลล์แบบม้วนได้ (Roll-Out Solar Array) ซึ่งอาจจะนำไปใช้กับสถานีอวกาศ ลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) ที่จะโคจรรอบดวงจันทร์
รายละเอียดของแผงโซลาร์เซลล์แบบม้วนได้
บริษัทได้ออกแบบแผงโซลาร์เซลล์แบบม้วนได้ ที่ให้พลังงานได้มากถึง 60 กิโลวัตต์ (kW) เพื่อเป็นอุปกรณ์รับพลังงานแสงอาทิตย์ และผลิตเป็นไฟฟ้าให้กับสถานีอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ ของนาซา
ตามข้อมูลของบริษัท ความหนาแน่นของพลังงานที่เก็บไว้ของแผงโซลาร์เซลล์แบบม้วนได้ จะอยู่ที่ 40 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตร และอัตราส่วนพลังงานต่อมวล จะอยู่ที่ 100-120 วัตต์ต่อกิโลกรัม
ข้อดีของแผงโซลาร์เซลล์แบบม้วนได้
อีกทั้งตัวแผงโซลาร์เซลล์ยังพัฒนาให้มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง ทนต่ออุณหภูมิได้สูง ทำให้เหมาะกับการใช้งานบนอวกาศ โดยสถานีอวกาศ ลูนาร์ เกตเวย์ จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จากบริษัทนี้ทั้งหมด 2 ม้วนใหญ่ด้วยกัน คาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้ ภายในไตรมาสที่สี่ของปี 2025
เตรียมติดตั้งที่สถานีอวกาศ ลูนาร์เกตเวย์
สำหรับ สถานีอวกาศ ลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) เป็นสถานีอวกาศทขนาดเล็กที่องค์การนาซา วางแผนไว้ว่าจะเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฐานและจุดแวะของนักบินอวกาศ ที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์ และสถานที่อื่น ๆ ในอวกาศ
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะใช้ลูนาร์ เกตเวย์ เป็นพื้นที่ให้ทั้งองค์การนาซาและพันธมิตร สามารถใช้ทดสอบเทคโนโลยี และขีดความสามารถที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างต่อเนื่องในอวกาศลึก รวมไปถึงการ ต่อยอดวางแผนเส้นทางสำหรับภารกิจที่จะส่งมนุษย์ชุดแรกไปยังดาวอังคาร
ทั้งนี้นาซาวางแผนให้สถานีอวกาศแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อาร์เทมิส (Artemis Program) หรือโครงการที่ตั้งเป้าจะส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี คาดว่าจะเปิดตัวสถานีได้เร็วที่สุดในปี 2027
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
