รีเซต

จีนพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่บนสถานีอวกาศเทียนกง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมอวกาศ

จีนพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่บนสถานีอวกาศเทียนกง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมอวกาศ
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2568 ( 23:31 )
6

ทีมนักวิจัยจากกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพอวกาศเสินโจวและสถาบันวิศวกรรมระบบยานอวกาศปักกิ่ง ประเทศจีน ได้ค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่บนสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เคยพบเห็นบนโลก และอาจสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายของอวกาศได้เป็นอย่างดี

ไนแอลเลีย เทียนกงเอนซิส (Niallia tiangongensis)

แบคทีเรียชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า ไนแอลเลีย เทียนกงเอนซิส (Niallia tiangongensis) ตามชื่อสถานีเทียนกง โดยมีความใกล้เคียงกับ ไนแอลเลีย เซอคิวแลนส์ (Niallia circulans) ซึ่งเป็นแบคทีเรียในดินที่เคยถูกจัดอยู่ในสกุลบาซิลัส (Bacillus) มาก่อน การค้นพบครั้งนี้เกิดจากการเก็บตัวอย่างโดยลูกเรือภารกิจเสินโจว-15 (Shenzhou-15) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจไมโครไบโอมภายในสถานีอวกาศจีน

ผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยประเทศจีน

ผลการศึกษาพบว่าไนแอลเลีย เทียนกงเอนซิส (Niallia tiangongensis) มีคุณสมบัติที่น่าจับตา เช่น ความสามารถในการย่อยเจลาตินเพื่อใช้เป็นแหล่งไนโตรเจนและคาร์บอน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการสร้างไบโอฟิล์มที่ใช้ป้องกันตนเองจากรังสีหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในอวกาศ ขณะเดียวกัน มันกลับสูญเสียความสามารถในการใช้สารอาหารบางชนิดที่แบคทีเรียชนิดเดียวกันโดยทั่วไปสามารถบริโภคได้

ยังไม่แน่ชัดว่าแบคทีเรียชนิดนี้วิวัฒนาการขึ้นบนสถานีอวกาศเอง หรือถูกนำมาตั้งแต่แรกในรูปแบบของสปอร์ อย่างไรก็ตาม สารพันธุกรรมของมันชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวอย่างชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อมเฉพาะของสถานีเทียนกง

การค้นพบนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจของ NASA ที่พบว่า แม้ใน “ห้องปลอดเชื้อ” ซึ่งใช้เตรียมยานสำรวจดาวอังคารอย่าง Phoenix ก็ยังตรวจพบแบคทีเรียหลายสิบสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถทนต่อสภาวะที่เชื่อว่า “ปลอดเชื้อ” ได้ เนื่องจากมียีนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซม DNA และการต้านทานสารพิษ

การค้นพบมีความสำคัญกับการสำรวจอวกาศ

นักวิจัยระบุว่าการเข้าใจถึงการมีอยู่และพฤติกรรมของแบคทีเรียในอวกาศเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาสุขภาพของนักบินอวกาศในภารกิจระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อสายพันธุ์ใกล้เคียงของไนแอลเลีย เทียนกงเอนซิส (Niallia tiangongensis) เคยก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

งานวิจัยฉบับเต็มได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Systematic and Evolutionary Microbiology โดยถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของวิทยาศาสตร์อวกาศในการทำความเข้าใจ “ผู้โดยสารตัวจิ๋ว” ที่อาจอยู่ร่วมกับมนุษย์ในการเดินทางสู่ดวงจันทร์และไกลกว่านั้นในอนาคต

สำหรับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) นั้นเป็นสถานีอวกาศถาวรของจีนซึ่งดำเนินการโดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CMSA) เริ่มก่อสร้างในปี 2021 โดยมีโครงสร้างหลักประกอบด้วย 3 โมดูล ได้แก่ โมดูลหลัก "เถียนเหอ" (Tianhe) ซึ่งส่งขึ้นสู่วงโคจรในเดือนเมษายน 2021 และโมดูลวิทยาศาสตร์อีก 2 โมดูลคือ "เหวินเทียน" (Wentian) และ "เมิ่งเทียน" (Mengtian) ที่ส่งขึ้นในปี 2022 สถานีนี้ถูกออกแบบให้รองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 6 คน และมีภารกิจวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระยะยาวของจีน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง