รีเซต

นาซาเผยภาพออโรราบนดาวพฤหัสบดี ยกให้เป็นออโรราทรงพลังที่สุดในระบบสุริยะ

นาซาเผยภาพออโรราบนดาวพฤหัสบดี ยกให้เป็นออโรราทรงพลังที่สุดในระบบสุริยะ
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2568 ( 16:16 )
6

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope – JWST) ตรวจจับภาพใหม่ของแสงออโรราบนดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ที่ "พวยพุ่งและปะทุด้วยแสง" เผยให้เห็นรายละเอียดอันน่าทึ่งของปรากฏการณ์นี้ ซึ่งแม้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถือเป็นแสงออโรราที่ทรงพลังที่สุดในระบบสุริยะ

การสังเกตการณ์ครั้งนี้ดำเนินการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2023 โดยเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแสงเหนือที่รวดเร็วกว่าที่เคยคาดไว้มาก บางครั้งแสงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทุกวินาที ไม่ใช่เพียงค่อยๆ จางลงตามที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดหมาย 

แม้ว่าการสังเกตการณ์จะเกิดขึ้นในปี 2023 แต่การเผยแพร่ผลการสังเกตการณ์นั้นเกิดขึ้นในปี 2025 เนื่องจากนักวิจัยต้องใช้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ การวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อื่น รวมไปถึงการเขียนและตรวจสอบบทความวิชาการเพื่อความถูกต้องสมบูรณ์


โจนาธาน นิโคลส์ (Jonathan Nichols) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “นี่คือของขวัญคริสต์มาสที่แท้จริง มันทำให้ผมทึ่งไปเลย” พร้อมระบุว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้แสดงถึงพฤติกรรมของพลังงานที่ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้ด้วยแบบจำลองทั่วไปในปัจจุบัน

แสงออโรราของดาวพฤหัสบดีเกิดจากอนุภาคที่พุ่งเข้าสู่แมกนีโตสเฟียร์และถูกเร่งพลังงาน ก่อนจะชนกับชั้นบรรยากาศของดาว ทำให้เกิดการเรืองแสง โดยแหล่งกำเนิดสำคัญไม่ได้มาจากดวงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวเหมือนโลก แต่มีส่วนสำคัญจากดวงจันทร์ไอโอ (Io) ที่พ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาตลอดเวลา สร้างวงแหวนพลาสมาขนาดยักษ์รอบดาวพฤหัสบดี

ภายในแสงอินฟราเรดของออโรราดังกล่าว นักวิจัยสามารถตรวจจับโมเลกุลไอออนไตรไฮโดรเจน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของพลังงานในระบบดังกล่าว การศึกษาใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ทำควบคู่กับกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ซึ่งทำการสังเกตในช่วงอัลตราไวโอเลตเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างของการแผ่รังสี

นักวิจัยระบุว่า ความเข้มของแสงที่สังเกตเห็นได้นั้นอาจต้องการอนุภาคพลังงานต่ำจำนวนมากมารวมกันในระดับที่ดูเหมือน "พายุฟ้าคะนองของอนุภาค" ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น

แม้ว่าข้อมูลในปัจจุบันจะยังไม่เพียงพอต่อการอธิบายทุกปรากฏการณ์ แต่อุปกรณ์อย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ กำลังช่วยเปิดเผยเบาะแสใหม่ที่อาจนำไปสู่การสร้างแบบจำลองในอนาคตเพื่อไขปริศนาแสงออโรราบนดาวพฤหัสบดีได้มากขึ้น และช่วยให้เข้าใจระบบแมกนีโตสเฟียร์และไอโอโนสเฟียร์ของดาวพฤหัสบดีได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

โดยข้อดีสำคัญของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ คือ แสงออโรร่าบนดาวพฤหัสบดีเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถเก็บข้อมูลเพิ่มเติมภายใต้ช่วงความยาวคลื่นต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอโอกาสพิเศษ ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2025

การศึกษานี้นำโดย ดร. โจนาธาน นิโคลส์ (Dr. Jonathan D. Nichols) จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) สหราชอาณาจักร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง