รีเซต

เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2568 ( 14:09 )
8

เซินเจิ้นถือเป็น 1 ใน 4 เมืองที่จีนกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการรองรับการลงทุนของต่างประเทศในยุคแรกของการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเมื่อปี 1980

ต่อมาราว 30 ปีหลังจากนั้น รัฐบาลจีนก็ได้กำหนดให้เฉียนไห่ (Qianhai) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตหนานซาน (Nanshan) เป็น “พื้นที่พัฒนาพิเศษ” ผ่านมาถึงวันนี้ โครงการพัฒนาเฉียนไห่รุดหน้าไปเพียงใด ผมขอพาท่านผู้อ่านไปส่องกันครับ ...

เมื่อต้นเดือนเมษายน 2025 ขณะที่สงครามการค้า 2.0 กำลังประทุตัว ผมมีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมหารือระหว่างรัฐบาลจีนกับเอกชนต่างชาติที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง และ CCPIT และสำรวจนครกวางโจวและเมืองเซินเจิ้น 2 เมืองเอกในมณฑลกวางตุ้งทางซีกตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

กลับไปที่ทริปเยือนเซินเจิ้นซึ่งเป็นศูนย์กลาง “พื้นที่เกรตเทอร์เบย์” (Greater Bay Area) ในปัจจุบัน นอกจากการประชุมใหญ่ที่ฝั่งเจ้าบ้านมีเลขาธิการพรรคเมืองเซินเจิ้นนำคณะผู้บริหารระดับสูงหลายสิบท่าน แลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาการของเมืองและ GBA ในอนาคต กับภาคเอกชนของต่างชาติที่นำโดยประธาน CCPIT แล้ว ผมยังได้มีโอกาสไปส่องบ้านเมืองและเขตเมืองใหม่เฉียนไห่ (Qianhai New District)

ผมขอเรียนว่า ตอนรถบัสของคณะเคลื่อนตัวเข้าไปในพื้นที่ ผมก็พยายามมองไปรอบด้านและนึกถามตัวเองอยู่ว่า เราเข้าเขตเมืองใหม่เฉียนไห่แล้วหรือยังเนี่ย? แต่พอรถบัสเลี้ยวไปจอดหน้าศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ผมก็ “ถึงบางอ้อ” ว่าเราอยู่ใจกลางเฉียนไห่แล้วนี่
ขณะชมวีดิทัศน์ที่นำเสนอการพัฒนาและอนาคตของโครงการผ่านจอแอลอีดีความยาวราว 50 เมตร ทำให้ผมได้รับทราบว่า พื้นที่นี้มีชื่อใหม่ว่า “เขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการเฉียนไห่ (เซินเจิ้น)-ฮ่องกง” (Qianhai Shenzhen-Hong Kong Modern Service Industry Cooperation Zone) ที่ผมขอเรียกสั้นๆว่า “เขตความร่วมมือเฉียนไห่” (Qianhai Cooperation Zone)

ย้อนกลับไปเมื่อราว 12 ปีก่อนที่ผมเคยแวะมาส่องโครงการนี้เป็นครั้งแรก ภาพจำของผมก็คือ หลังสี จิ้นผิง ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำจีน ทริปแรกของท่านนอกกรุงปักกิ่งก็ได้แก่ การเดินทางเยือนเซินเจิ้นเมื่อปลายปี 2012 ตามรอยเติ้ง เสี่ยวผิงเมื่อปี 1992 หรือราว 20 ปีก่อนหน้านั้น

หลังร่วมพิธีคารวะรูปปั้นของเติ้ง เสี่ยวผิงที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย (ปราศจากแผ่นป้าย ธง ดอกไม้ และพรมแดง) ที่โลตัสฮิลล์ (Lotus Hill) ซึ่งถือเป็นการยืนยันเส้นทาง “การปฏิรูป” (Reform) และ “การเปิดกว้าง” (Opening) ทางเศรษฐกิจของจีน หลังจากนั้น สี จิ้นผิงก็เดินทางไปเยี่ยมชมเขตทดลองเฉียนไห่ (Qianhai Experimental Zone)

ลึกลงไปกว่านั้น ภารกิจในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความเคารพอย่างสูงของผู้นำรุ่นที่ 5 ที่มีต่อผู้นำรุ่นที่ 2 ที่ครั้งหนึ่งเคยแต่งตั้งให้บิดาของสี จิ้นผิงไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง เพื่อบริหารงานให้หัวเมืองในมณฑลกวางตุ้งเป็น “ต้นแบบ” ในการเปิดประเทศสู่ภายนอก

ผมเห็นข่าวดังกล่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลักของจีนแล้วก็รู้สึกตื่นแต้นและได้แต่คิดต่อว่า โครงการนี้ต้องมีความสำคัญมากอย่างแน่นอนเพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ผู้นำจีนคงไม่เสียเวลาไปเยี่ยมชมและให้กำลังใจกับทีมงานในโครงการ มีโอกาสผมต้องแวะไปเยี่ยมชมโครงการนี้ซะหน่อย

ไม่นานหลังจากนั้น ผมมีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติราชการที่เซินเจิ้นก็เลยจัดเวลาแวะไปเยี่ยมชมโครงการนี้ สิ่งที่ผมเห็นตอนนั้นก็คือ พื้นที่สำนักงานพัฒนาโครงการชั่วคราวที่ไม่ได้ใหญ่โต หรือมีการตกแต่งที่สวยหรูแต่อย่างใด

หลังฟังบรรยายสรุปและอ่านเอกสารโครงการ ผมก็ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า โครงการนี้จะเป็นเพียง “ความฝัน” ลมๆ แล้งๆ หรือไม่ แต่ผมก็ไม่กล้าสบประมาท เพราะเวลาจีนตั้งใจจะดำเนินโครงการใหญ่อะไร มักมีความคืบหน้าหรือเสร็จเร็วกว่ากำหนดเสมออย่างที่เห็นมาในหลายโครงการใหญ่

พอเดินออกมาสำรวจพื้นที่โครงการก็เห็นแต่พื้นที่ถมทะเลขนาดใหญ่ยาวสุดลูกหูลูกตา และเครื่องมือหนักมากมาย จำได้ว่ามีหินก้อนใหญ่ที่แกะสลักคำว่า “Qian Hai” จากลายมือของเติ้ง เสี่ยวผิงต่างกรรมต่างวาระที่ถูกนำมาวางเรียงต่อกัน ซึ่งผมมีโอกาสได้เห็นอีกครั้งในการเดินทางไปครั้งหลังนี้

ภาพตัดกลับมาที่การเดินทางไปเยือนเซินเจิ้นในครั้งหลังนี้ สิ่งแรกที่ผมประทับใจก็ได้แก่ ความสะอาด (Clean) และความเป็นสีเขียว (Green) ของเมือง ตลอด 2 วันกว่าที่ใช้เวลาในเซินเจิ้น ผมแทบไม่เห็นตามท้องถนนเลย ขณะที่สองฟากฝั่งถนนก็ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่และไม้ดอกไม้ประดับ รถราที่วิ่งตามท้องถนนก็เป็น “รถยนต์ไฟฟ้า” เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีสภาพรถติดหรือฝุ่น PM 2.5 ให้รำคาญใจแต่อย่างใด

ทีแรกผมยังนึกถามตัวเองอยู่ว่า นี่เป็น “ผักชีโรยหน้า” สำหรับคณะผู้ประกอบการต่างชาติที่มาเยือนเมืองในช่วงนั้นหรือเปล่า แต่เมื่อหมดตารางกำหนดการอย่างเป็นทางการ ผมก็ยังพบเห็นสภาพบ้านเมืองที่สะอาด สวยงาม และร่มรื่นทั่วไปหมด เท่านั้นไม่พอ ผมยังรู้สึกได้ถึง “ความปลอดภัย” (Safety) แม้ในยามเช้าตรู่หรือยามค่ำคืนที่ออกมาใช้ชีวิตตามท้องถนน

ผมยอมรับว่า “ตะลึง” กับพื้นที่ของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสรรพ ไม่แพ้ย่านลู่เจียจุ่ย (Lujiazui) ในเขตเมืองใหม่ผู่ตง (Pudong New District) ที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศใจกลางนครเซี่ยงไฮ้

สภาพพื้นที่โครงการทางกายภาพโดยรวมที่ผมเห็นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสภาพในปัจจุบัน ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมดังกล่าว ทำให้ผมอดนึกถึงคำกล่าวยอดฮิตของจีนที่สะท้อนถึงความเร็วในการพัฒนาของจีนว่า “เปลี่ยนเล็กทุกปี เปลี่ยนใหญ่ทุก 3 ปี” ไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกายภาพ จากสถิติในปี 2024 เขตมืองใหม่เฉียนไห่มีขนาดเศรษฐกิจมากกว่า 300,000 ล้านหยวน เติบโตในอัตรา 8.6% เมื่อเทียบกับของปีก่อน ขณะที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจก็มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านหยวน

ขณะเดียวกัน มูลค่าการค้ากับต่างประเทศมีมากกว่า 700,000 ล้านหยวน ขยายตัวถึง 42.4% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่โครงการได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากนักลงทุนจีนและต่างชาติ โดยมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินคงที่อยู่ที่ระดับ 153,600 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับของปีก่อน

เป้าหมายและแผนปฏิบัติการดังกล่าวของโครงการมีเนื้อในอะไรดีๆ อยู่บ้าง ติดตามตอนหน้าครับ ...

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง