ผ่าอาณาจักร “สารัชถ์” ถือครองหุ้น 7.7 แสนล้านบาท

ฮอตนาทีนี้ไม่มีใครเกิน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ นักธุรกิจชาวไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำรับรองประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมีผู้นำระดับสูงจากสหรัฐฯ ทั้งนายพีท เฮกเซธ รมว. กลาโหม นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รมว.คลัง นายโฮเวิร์ด ลุตนิค รมว.พาณิชย์ นายคริส ไรต์ รมว.พลังงาน และนายอีลอน มัสก์เข้าร่วมด้วย ที่ลูเซล พาเลซ ประเทศกาตาร์ โดยชีค ทามิม บิน ฮามัด อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เป็นเจ้าภาพ
โดย “สารัชถ์” ได้ใช้โอกาสนี้หารือกับ “ทรัมป์”และคณะรัฐมนตรีสหรัฐฯ เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือทางการค้าของไทย ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ แสดงความพร้อมที่จะตอบรับการลงทุนด้านพลังงาน ทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่เป็น ‘สัญญาณบวก’ ต่อการเจรจาการค้าด้านภาษี ทำให้ “สารัชถ์” ถูกจับตาจากชาวไทยและทั่วโลก
จุดเริ่มต้นการลงทุนของ GULF ในสหรัฐอเมริกา
• การเข้าซื้อหุ้นในโครงการ Jackson Generation: เมื่อเดือนกันยายน 2565 GULF ผ่านบริษัทลูก Gulf Energy USA ได้เข้าซื้อหุ้น 49% ในโครงการ Jackson Generation ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีความจุ 1,200 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ Will County รัฐอิลลินอยส์ โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 409.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท)
• การดำเนินงานของโครงการ: Jackson Generation เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565โดยจ่ายไฟฟ้าให้กับตลาด PJM ซึ่งครอบคลุม 13 รัฐในสหรัฐอเมริกา คือ เดลาแวร์ อิลลินอยส์ อินดิแอนา เคนทักกี แมริแลนด์ มิชิแกน นิวเจอร์ซีย์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เทนเนสซี เวอร์จิเนีย เวสต์เวอร์จิเนีย รวมถึงเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย
• เทคโนโลยีและประสิทธิภาพ: โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ก๊าซธรรมชาติแบบ Combined Cycle Gas Turbine (CCGT) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำที่สุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าจากฟอสซิลในสหรัฐอเมริกา
• แผนการขยายเพิ่มเติม: ปี 2568 มีแผนจะควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 1,000 เมกะวัตต์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยการลงทุนดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในงบประมาณการใช้จ่ายประจำปี 2025 ที่มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท
หากย้อนอดีตซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเข้ามาทำธุรกิจคือ ปี 2550 “สารัชถ์” และพันธมิตร ได้จัดตั้ง บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (GHC) เพื่อเข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ IPP และ SPP ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จากนั้นในปี พ.ศ. 2554 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้งขึ้น และปัจจุบันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายใต้ชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า "GULF"
ปัจจุบัน GULF มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด "Powering the future, empowering the people" เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมกับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และพลังงานขยะ
รวมถึงการได้ยังขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งครอบคลุมทั้งการจัดหาและขายส่งก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล การสื่อสารโทรคมนาคม และดาวเทียม โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
โครงการลงทุนที่สำคัญ
• การดำเนินงานโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ: โครงการ GPD เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วย โดยมีขนาดกำลังการผลิต รวมทั้งสิ้น 2,650 เมกะวัตต์ และโครงการ HKP หน่วยที่ 1 กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย
• เอกชนรายแรกของไทย ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG): HKH เป็นเอกชนรายแรกที่ได้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวสู่ประเทศไทย โดยเป็นการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า HKP ซึ่งได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567
• ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย: กลุ่ม GULF ได้เข้าลงนามในสัญญา PPA เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว รวมทั้งสิ้น 3,142 เมกะวัตต์
• ต่อยอดธุรกิจดิจิทัล: Gulf Edge ได้ร่วมมือกับบริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบคลาวด์ Google Distributed Cloud air-gapped ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัยของข้อมูลสูง ในขณะเดียวกัน Gulf Binance ได้เปิดให้บริการแพลตฟอร์ม Binance TH by Gulf Binance แก่ประชาชนทั่วไปเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ GSA DC ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการศูนย์ข้อมูลกับ Siam AI ซึ่งเป็นบริษัทไทย รายแรกที่เป็นพันธมิตรกับ NVIDIA Corporation
• การควบบริษัทระหว่าง GULF และ INTUCH: ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้น ช่วยให้การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม
GULF วางแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (2568–2572) ด้วยวงเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและดิจิทัลเป็นหลัก รายละเอียดของโครงการสำคัญมีดังนี้
พลังงานสะอาด (ประมาณ 79% ของงบลงทุน)
1. พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมกำลังการผลิตกว่า 3,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในประเทศไทยจะมีโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 597 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงปลายปี 2568
2. พลังงานลม ลงทุนในโครงการพลังงานลมในสหราชอาณาจักร กำลังการผลิตประมาณ 1,500 เมกะวัตต์
3. พลังงานน้ำ โครงการพลังงานน้ำในสปป.ลาว กำลังการผลิตประมาณ 3,142 เมกะวัตต์
4. พลังงานขยะและชีวมวล ลงทุนในโครงการพลังงานขยะและชีวมวลในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงโครงการที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
ก๊าซธรรมชาติ (ประมาณ 14% ของงบลงทุน)
• โครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (BPP)โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
• โครงการ GSRC และ GPD โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังการผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย
• การนำเข้า LNG มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าในเครือ GULF
ธุรกิจดิจิทัล (ประมาณ 5% ของงบลงทุน)
1. ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ร่วมกับพันธมิตรเช่น Singtel และ ADVANC เพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตจาก 25 เมกะวัตต์ในเฟสแรกเป็น 200 เมกะวัตต์ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
2. สินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมกับ Binance เพื่อพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีแผนขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต.
โครงสร้างพื้นฐาน (ประมาณ 2% ของงบลงทุน)
• โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านท่าเรือเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต
• มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6)พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อเชื่อมโยงภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก
นอกจากนี้ชื่อ "สารัชถ์" ยังเป็นที่รู้จักในฐานะ “เศรษฐีหุ้นไทย” ติดต่อกัน 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2567 จากวารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
• ปี 2562 มูลค่าถือครองหุ้น 120,959.99 ล้านบาท
• ปี 2563 มูลค่าถือครองหุ้น 115,289.99 ล้านบาท
• ปี 2564 มูลค่าถือครองหุ้น 173,099.73 ล้านบาท
• ปี 2565 มูลค่าถือครองหุ้น 218,981.58 ล้านบาท
• ปี 2566 มูลค่าถือครองหุ้น 190,828.06 ล้านบาท
• ปี 2567 มูลค่าถือครองหุ้น 240,341.89 ล้านบาท (สูงสุดในประวัติศาสตร์ทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทย)
การจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes)
• ปี 65 ติดอันดับที่ 162 ของมหาเศรษฐีโลก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ปี 66 ติดอันดับที่ 141 ของมหาเศรษฐีโลก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
• ปี 67 ติดอันดับที่ 191 ของมหาเศรษฐีโลก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 9.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ปี 68 อันดับที่ 184 ของมหาเศรษฐีโลก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น ณ นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “สารัชถ์” เจ้าพ่อพลังงานของไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานในประเทศไทย และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลงทุนในหลายๆ โครงการด้านพลังงาน ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดที่สร้างผลกำไรและส่งเสริมการเติบโตให้กับบริษัท และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ
จากการตรวจสอบข้อมูลใน SETSMART ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่า ชื่อของ “สารัชถ์” ถือหุ้นใน 2 บริษัท ประกอบด้วย
GULF บมจ. กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำนวน 4,360,559,178 หุ้น สัดส่วน 29.19% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 720,847 แสนล้านบาท ราคาหุ้นปิดวันที่ 20 พ.ค. อยู่ที่ 48.25 บาท มูลค่าถือครอง 210,396 แสนล้านบาท ปี 67 รายได้ 124,621.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21,382.85 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.43 บาท
ITC บมจ. ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำนวน 20,027,100 หุ้น สัดส่วน 0.67 % มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 36,000 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดวันที่ 20 พ.ค.อยู่ที่ 12 บาท มูลค่าถือครอง 240 ล้านบาท ปี 67 รายได้รวม 18,424.64 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,597.26 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.20 บาท ไตรมาส 1/68 รายได้รวม ล้าน 4,401.65 บาท กำไรสุทธิ 676.87 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.23 บาท
ขณะที่ บมจ. กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นใน KBANK จำนวน 82,679,400 หุ้น สัดส่วน 3.49% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 396,862.37 ล้านบาท ราคาหุ้นปิด 20 พ.ค.อยู่ที่ 167.50 บาท มูลค่าถือครอง 13,848 ล้านบาท ปี 67 รายได้รวม 315,217.18 ล้านบาท กำไรสุทธิ 48,598.13 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 20.20บาท ไตรมาส 1/68 รายได้รวม 63,124.82 ล้านบาท กำไรสุทธิ 13,791.45 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.67 บาท