นักวิจัยค้นพบ "สมองอายุ 310 ล้านปี" เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุด
นักวิจัยค้นพบหนึ่งในฟอสซิลสมองที่เก่าแก่และสมบูรณ์มากที่สุดของแมงดาทะเล Euproops danae ที่มีอายุมานานกว่า 310 ล้านปีในฟอสซิลประเภท Burgess Shale (พื้นที่ที่อุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล เมื่อสัตว์ถูกฝังอยู่ในโคลน จะกลายเป็นแร่เหล็กคาร์บอเนตที่เรียกว่า Siderite) ที่อยู่ในรูปของหินแร่ Siderite (แร่ที่ประกอบด้วยธาตุเหล็กคาร์บอเนต เป็นแร่เหล็กที่มีค่าเนื่องจากเป็นเหล็ก 48% และไม่มีกำมะถันหรือฟอสฟอรัส สังกะสีแมกนีเซียมและแมงกานีส) ภายในมีแร่ธาตุที่สองคือ Kaolinite (ดินขาว) อยู่ด้วย ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สร้างขึ้นเป็นส่วนสมองของ Euproops ปรากฎออกมาเด่นชัดเป็นรูปร่างสีขาว ตัดกับตัวหินที่มีสีน้ำตาลอย่างชัดเจน
นักวิจัยชี้ว่า Kaolinite ก่อตัวขึ้นในภายหลังจากความว่างเปล่าตรงที่มีสมองอยู่หลัง จากที่ตัวสมองสลายหายไปนานแล้ว โดยเมื่อนักวิจัยนำสมองจากฟอสซิลดังกล่าว ไปเทียบกับสมองในสัตว์ในเครือญาติเดียวกันพบว่า "โครงสร้างพื้นฐานของตัวสมองมีการเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก" ในช่วงหลายร้อยล้านปีที่ผ่านมา การค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาและระบบนิเวศน์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มตลอด 310 ล้านปี ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจชีววิทยาของสัตว์โบราณได้ดีขึ้น ตลอดจนกระบวนการวิวัฒนาการในระยะเวลาอันยาวนาน
ความน่าทึ่งอีกอย่างของการพบฟอสซิล Euproops danae นั้นคือเรื่องของกระบวนการการเป็นฟอสซิล ที่พวกเราต่างทราบกันดีว่า ฟอสซิลส่วนใหญ่ที่ได้มานั้น ส่วนมากเป็นกระดูก เนื้อเยื่ออ่อนไม่สามารถกลายเป็นฟอสซิลได้ อย่างมากที่สุดก็มาในรูปของอำพัน แต่อำพันที่เก่าแก่ที่สุดก็มีอายุแค่ 230 ล้านปีก่อน หรือยุค Triassic เท่านั้น แต่ฟอสซิลประเภท Burgess Shale จะมีอายุย้อนกลับไปเมื่อ 520 ล้านปีก่อน หรือยุค Cambrian ตอนต้น เป็นประเภทของฟอสซิลที่สามารถเก็บรักษาเนื้อเยื่ออ่อนไว้ได้เช่นเดียวกับอำพัน แต่จะมาในรูปแบบของฟิล์มคาร์บอน ที่ส่วนใหญ่จะพบร่องรอยประทับลำไส้ของสัตว์โบราญ หรือรอยประทับส่วนต่าง ๆ ของระบบประสาท เป็นต้น
แหล่งที่มา theconversation.com