รีเซต

12 เมษายน 1981 ภารกิจ STS-1 กระสวยอวกาศลำแรกเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบิน 2 คน

12 เมษายน 1981 ภารกิจ STS-1 กระสวยอวกาศลำแรกเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบิน 2 คน
TNN ช่อง16
13 เมษายน 2566 ( 00:34 )
89
12 เมษายน 1981 ภารกิจ STS-1 กระสวยอวกาศลำแรกเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบิน 2 คน

ภารกิจกระสวยอวกาศ STS-1 เป็นภารกิจแรกของโครงการกระสวยอวกาศนาซา (NASA's Space Shuttle program) ภารกิจนี้นาซาเลือกใช้กระสวยอวกาศโคลัมเบีย พร้อมนักบินอวกาศ 2 คน คือ จอห์น ยัง (John Young) และโรเบิร์ต แอล. คริปเพน  (Robert Crippen)


เนื่องจากเป็นภารกิจแรกของกระสวยอวกาศนาซาจึงเลือกใช้นักบินอวกาศจอห์น ยัง (John Young) ในฐานะผู้บัญชาการกระสวยอวกาศคนแรกและเป็นเที่ยวบินที่ 5 บนอวกาศของเขา จอห์น ยัง มีนิสัยสุขุมรอบคอบ การตัดสินใจที่เด็ดขาดซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญหากต้องแก้ไขปัญหาที่ยากบนอวกาศ ส่วนนักบินอวกาศโรเบิร์ต แอล. คริปเพน (Robert Crippen) เป็นเที่ยวบินแรกของเขาบนอวกาศ


กระสวยอวกาศโคลัมเบียทะยานขึ้นสู่อวกาศตามแผนการที่วางเอาไว้ที่ระดับความสูงประมาณ 246-274 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาบนอวกาศนานประมาณ 2 วัน 6 ชั่วโมง 20 นาที ภารกิจส่วนใหญ่เป็นการทดสอบระบบต่าง ๆ ภายในกระสวยอวกาศ การทดสอบระบบควบคุมกระสวยอวกาศด้วยมือ การทดสอบรังสีต่าง ๆ ระบบการใช้งานเชื้อเพลิง ทดสอบกล้องถ่ายภาพ ระบบดำรงชีพของนักบินอวกาศ ระบบป้องกันความร้อน และระบบการลงจอด


แม้ว่าภารกิจ STS-1 นับเป็นภารกิจที่ประสบความสำเร็จแต่ยังคงมีรายงานความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น คลื่นกระแทกจากจรวดขับดันซึ่งอาจส่งผลกระทบกับปีกขณะลงจอดบนโลก การพบสิ่งผิดปกติบริเวณถังเชื้อเพลิงปกคลุมโฟมกันความร้อน ร่องรอยความเสียหายของแผ่นเกราะป้องกันความร้อน การตรวจพบก๊าซร้อนในช่วงบริเวณเกียร์ลงจอด อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข้อมูลสำคัญให้วิศวกรนาซาใช้แก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพของกระสวยอวกาศ


นักบินอวกาศจอห์น ยัง (John Young) เสียชีวิตในปี 2018 ด้วยโรคปอดบวมขณะอายุ 87 ปี ส่วนนักบินอวกาศโรเบิร์ต แอล. คริปเพน (Robert Crippen) ยังคงมีชีวิตอยู่กับครอบครัวในวัย 85 ปี ปัจจุบันนาซาได้ตั้งชื่อห้องศูนย์ควบคุมการปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี โดยใช้ชื่อว่า oung-Crippen Firing Room เพื่อเป็นเกียรติให้กับนักบินอวกาศทั้ง 2 คน และนาซายกให้เป็น "ภารกิจทดสอบการบินอวกาศที่กล้าหาญที่สุดในประวัติศาสตร์"


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ

Wikipedia.org

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง