รีเซต

“ก้านกล้วย” ไม่ใช่ชื่อของช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่เป็นชื่อ “พลายพุทรากระแทก” | Chronicles

“ก้านกล้วย” ไม่ใช่ชื่อของช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่เป็นชื่อ “พลายพุทรากระแทก” | Chronicles
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2567 ( 16:41 )
147
“ก้านกล้วย” ไม่ใช่ชื่อของช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่เป็นชื่อ “พลายพุทรากระแทก” | Chronicles

ภาพยนตร์ก้านกล้วย 3 ถือเป็นการกลับมาอีกครั้งในรอบ 15 ปี ของภาพยนตร์ที่เคยปลุกกระแสวงการแอนิเมชันประเทศไทย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายภาคแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 ทำรายได้ไปกว่า 196 ล้านบาท และภาคสองเข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2552 ทำรายได้ไปกว่า 79 ล้านบาท ทำรายได้รวมทั้งสองภาคไปกว่า 275 ล้านบาท นับเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่งของไทย


เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ก้านกล้วยสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม โดยเล่าถึงช้างป่าที่ตามหาพ่อของตัวเองที่เป็นช้างศึกในอาณาจักรอยุธยา และต้องผ่านพบกับการทดสอบต่าง ๆ จนได้กลายเป็นช้างทรงคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้อาจมีผู้ชมบางส่วนคิดไปเองว่าชื่อ “ก้านกล้วย” นั้นเป็นชื่อของช้างทรงของพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสงครามยุทธหัตถีที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2135 ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี


ความจริงแล้วก้านกล้วยเป็นชื่อที่สมมุติที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้ประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งสะท้อนความน่ารักสดใสผ่านตัวละครช้างพลายตัวน้อย แต่ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์และบันทึกชาวกรุงเก่าเรียกว่า “พลายพุทรากระแทก” หรือ “พลายพุทรากระทืบ” ในบางบันทึกใช้ชื่อเรียกว่า “พลายภูเขาทอง” และ “พลายมิ่งเมือง” โดยชื่อพุทรากระแทกและพุทรากระทืบนั้น ได้มาจากวีรกรรมการทำสงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. 2135 ที่พระมหาอุปราชา ราชบุตรของพระเจ้านันทบุเรง เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา


ในสงครามยุทธหัตถีครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้าทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ทรงช้างชื่อว่า “พันธกอ” มีลักษณะคชลักษณ์ที่งดงาม และรูปร่างใหญ่กว่า สร้างความได้เปรียบในการรบ ทำให้พลายภูเขาทองพลาดท่าเสียหลัก แต่ก็ได้ใช้การพิงต้นพุทราเป็นหลักเพื่อดันและพุ่งเข้าชนพลายพันธกอจนเสียหลักเช่นกัน ทำให้พระนเรศวรได้โอกาสฟันพระแสงของ้าวพระมหาอุปราชาจนขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่บนคอของพลายพันธกอ


ต่อมา เมื่อพระนเรศวรได้ยกสถานะให้พลายพุทรากระแทกเป็นช้างพระที่นั่ง จึงได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” หรือในบางบันทึกก็กล่าวว่า มีพระยศเป็นเพียง “พญาไชยานุภาพ” เฉย ๆ ก่อนจะได้รับพระยศเป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” ในที่สุด และเมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2139 หลังจากสงครามยุทธหัตถีได้ 4 ปี เจ้าพระยาปราบหงสาวดีก็ล้มลง ซึ่งพระนเรศวรก็ได้โปรดให้มีการจัดงานมหรสพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน


ในส่วนที่มาของการใช้ชื่อว่าก้านกล้วยในภาพยนตร์นั้น อาจจะเพราะเจ้าพระยาปราบหงสาวดีมีลักษณะทางคชลักษณ์ที่ดี ส่วนหนึ่งได้แก่หลังที่โค้งลาด “คล้ายก้านกล้วย” ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่าก็เป็นไปได้


อีกเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ฟุตบอลทีมชาติไทย ได้เปลี่ยนเป็นสีดำในชุดเจ้าบ้าน และสีขาวในชุดทีมเยือน เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทางผู้ผลิตจึงได้ตั้งชื่อชุดสีดำว่าไชยานุภาพ ซึ่งหมายถึงช้างศึกของพระนเรศวร ที่ก็มีพระนามโดยทั่วไปว่า พระองค์ดำ” ส่วนชุดสีขาวชื่อว่าปราบไตรจักร ซึ่งหมายถึงช้างศึกของพระเอกาทศรถ ที่มีพระนามโดยทั่วไปว่า “พระองค์ขาว”


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง




ข่าวที่เกี่ยวข้อง