ขุดพบแผ่นทองคำดุนภาพพระพุทธรูป อายุกว่า 1,300 ปี เมืองโคราช

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ว่ามีการขุดพบโบราณวัตถุจากการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานพระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ขณะดำเนินการเพื่อเตรียมการตัดความชื้นใต้ดิน ที่ระดับความลึกประมาณ 1.30 เมตร ได้พบเครื่องประดับทำด้วยโลหะบรรจุในภาชนะดินเผาซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเครื่องประดับดังกล่าวทำด้วยโลหะประเภทสำริด เงิน และทองคำ จำนวนทั้งสิ้น 33 รายการ อาทิเช่น แหวนทอง ต่างหูเงิน และเครื่องประดับสำริดรูปทรงต่าง ๆ เป็นต้น โดยเฉพาะต่างหูแบบห่วงเกลียว ซึ่งสามารถเปรียบเทียบรูปแบบคล้ายกับต่างหูทองคำที่พบจากแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง และแหล่งโบราณคดีท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ได้ขุดพบโบราณวัตถุที่ทำด้วยทอง และตะกั่ว ชิน (โลหะผสมที่มีส่วนผสมของตะกั่วและดีบุก) จำแนกออกเป็น 3 รายการ ได้แก่
รายการที่ 1 แผ่นทองดุนรูปพระพุทธรูป ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ขนาดกว้าง 8 เซนติเมตร สูง 12.5 เซนติเมตร ดุนเป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่ง พระเศียรมีประภามณฑลล้อมรอบ เม็ดพระศกขมวดก้นหอยเม็ดใหญ่ พระกรรณยาว พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์หนา ครองจีวรห่มเฉียง พระกรซ้ายกำชายจีวร พระกรขวาทำวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว บริเวณกึ่งกลางด้านขวา ของแผ่นทองเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเจาะไว้สำหรับร้อยสายเพื่อเอาไว้ห้อยหรือผูก
รายการที่ 2 แผ่นชิน หรือ ตะกั่ว ดุนรูปพระพุทธรูปลักษณะรูปทรงซุ้มโค้ง สภาพชำรุดด้านขวาของแผ่นหักหายไป ขนาดกว้าง 11.5 เซนติเมตร สูง 15.5 เซนติเมตร ดุนเป็นรูปพระพุทธรูปยืนตรง พระเศียรมีประภามณฑลล้อมรอบเป็นเม็ดไข่ปลา เม็ดพระศกใหญ่ขมวดเป็นก้นหอย พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกใหญ่ แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ครองจีวรห่มคลุมบางแนบเนื้อ พระกรทั้งสองทำวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) ขนาบข้างด้วยบริวาร รูปบุคคลเบื้องขวาชำรุดหายไป ส่วนรูปบุคคลเบื้องซ้าย สันนิษฐานว่าเป็นพระพรหม เบื้องต้นเปรียบเทียบได้กับแผ่นโลหะดุนรูปพระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทราขนาบข้างด้วยรูปบุคคล ศิลปะแบบทวารวดี ขุดพบที่วัดพระประโทณ จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องศิลปะทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รายการที่ 3 เป็นก้อนดินที่มีแผ่นโลหะฝังอยู่ภายใน จำนวน 3 ชิ้น แผ่นโลหะซ้อนเป็นชั้น ๆ สลับกับแผ่นปูนบาง ๆ ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดเนื่องจากมีสภาพชำรุด โดยตำแหน่งที่ขุดพบอยู่บริเวณด้านหลังพระเศียรขององค์พระนอน
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้รับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบทั้งหมดมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เพื่อทำการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยได้จัดทำบัญชี และอนุรักษ์เบื้องต้นแล้ว