รีเซต

เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
29 เมษายน 2568 ( 11:52 )
19

เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอน 1)

ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินว่า การพัฒนาบ้านเมืองในพื้นที่ต่างๆ ของจีนที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเกิดขึ้นการแข่งขันระหว่างกัน แต่ดูเหมือนตำแหน่งแชมป์เก่าของมณฑลกวางตุ้งกำลังสั่นคลอน ใครจะก้าวขึ้นมาทาบชั้น และจะสามารถทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร เราไปคุยกันครับ ...

ในปี 2024 จีนมีขนาดเศรษฐกิจ 134.9 ล้านล้านหยวน หรือราว 18.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5% ของปีก่อน และสร้างสถิติใหม่ในหลายประการ อาทิ จีดีพีของจีนก้าวทะลุระดับ 130 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรก

ในภาพย่อย ขนาดเศรษฐกิจของมณฑลเจ้อเจียงก็ก้าวข้ามหลัก 9 ล้านล้านหยวน ขณะที่ในกลุ่มขนาดเศรษฐกิจหลัก 6 ล้านล้านหยวนก็มีหน้าใหม่อย่างมณฑลเสฉวน เหอหนาน และหูเป่ยเข้าร่วมวง ขณะเดียวกัน ขนาดเศรษฐกิจของนครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลอานฮุยก็สามารถทะลุหลัก 5 ล้านล้านหยวน 

ขณะเดียวกัน ผมยังสังเกตเห็นว่า มณฑล/มหานครต่างๆ ของจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2025 ในระดับ 5% หรือสูงกว่า โดยอาศัยการสร้างความรุดหน้าด้านการผลิตผ่านนโยบายกำลังการผลิตคุณภาพใหม่ (New-Quality Productive Forces) และการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic Consumption) เป็นสำคัญ 

นี่เป็นสาเหตุว่าเราเห็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์อัจฉริยะในสายการผลิต ขณะเดียวกันก็ดำเนินแคมเปญการกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศผ่านโปรแกรม “เก่าแลกใหม่” ของสินค้าอุปโภคหลัก รวมทั้งเศรษฐกิจราตรี (Night Economy) และการท่องเที่ยวสอดคล้องกับนโยบาย “เศรษฐกิจวงจรคู่” (Dual Circulation Economy) 

แล้วประเด็นที่ผมจั่วหัวไว้ก่อนหน้านี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ผมจะขอเริ่มจากการพาไปทำความรู้จักมณฑลกวางตุ้ง แชมป์เก่า และมณฑลเจียงซู ผู้ท้าชิง กันก่อนครับ

มณฑลกวางตุ้ง มีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ราว 177,900 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ปัจจุบัน กวางตุ้งมีจำนวนประชากรเกือบ 130 ล้านคน คิดเป็นราว 9% ของจำนวนประชากรโดยรวมของจีน ซึ่งนับว่ามากที่สุดในบรรดามณฑลของจีน โดยก้าวแซงมณฑลเหอหนานและซานตงนับแต่ปี 2005 

ที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งถือเป็นพื้นที่ “นำร่อง” สำหรับการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเมื่อกว่า 4 ทศวรรษก่อน และยังเป็น “ต้นแบบ” การปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในยุคหลัง ทำให้กวางตุ้งครองแชมป์มณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีนนับแต่ปี 1989 หรือตลอด 36 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2024 กวางตุ้งมีขนาดเศรษฐกิจเกือบ 14.2 ล้านล้านหยวน เติบโตในอัตรา 3.5% ของปีก่อน 

มณฑลกวางตุ้งมีจุดเด่นในการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยี และการค้า โดยมีเมืองเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง อาทิ กวางโจว เซินเจิ้น ตงก่วน ซานโถว จูไห่ หุยโจว และฝอซาน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของจีน 

โดยในปี 2024 การค้าระหว่างประเทศของกวางตุ้งขยายตัว 9.8% เมื่อเทียบกับของปีก่อน โดยมีมูลค่าทะลุ 9 ล้านล้านหยวน หรือราว 2 เท่าของประเทศไทย และสามารถเกินดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง

กวางตุ้งยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนของจีนและต่างประเทศ โดยในเชิงคุณภาพ การเติบโตของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมก็ดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.5 ล้านล้านหยวน ขยายตัว 6.7% ของปีก่อน 

ประการสำคัญ กวางตุ้งได้หันมาให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น ทำให้การลงทุนเพื่อยกระดับเทคโนโลยีพุ่งทะยาน 11.5% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา และเติบโตในระดับ 2 หลักต่อเนื่องตลอด 24 เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาก็มีมูลค่า 510,000 ล้านล้านหยวน และมีกิจการไฮเทคในพื้นที่รวมกว่า 77,000 แห่ง 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นภาคการผลิตที่ล้ำสมัยมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของยานยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้น 43% หุ่นยนต์อุตสาหกรรมกว่า 31% วงจรรวม 21% และสมาร์ตโฟน 12.5%

อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกวางตุ้งในภาพรวมชะลอตัวลงในช่วงหลายปีหลัง โดยอยู่ในกลุ่มมณฑลที่เติบโตในอัตราที่ต่ำสุด และพลาดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 ปีต่อเนื่องกัน ทำให้ขนาดจีดีพีไม่เติบโตเท่าที่ควร และถูกเศรษฐกิจของเจียงซูไล่หลัง

มณฑลเจียงซู ในเชิงภูมิศาสตร์มีขนาดราว 107,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ทางซีกตะวันออกของจีน ในปี 2024 เจียงซูมีจำนวนประชากรเฉียด 90 ล้านคน นับเป็นมณฑลที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดอันดับ 5 ของจีน 

เจียงซูมีจุดเด่นหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมพรั่งด้านปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งที่ติดชายฝั่งทะเล และมีสภาพอากาศ ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน อาทิ ถ่านหิน และปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเล

โดยที่พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงเป็น “กลุ่มเมือง” ใหญ่และทันสมัยที่สุดในจีน โดยมีเซี่ยงไฮ้เป็น “หัวมังกร” อุตสาหกรรมได้รับการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โครงข่ายการคมนาคมและสื่อสารก็เชื่อมต่อกันอย่างดียิ่ง 

เปรียบเทียบมณฑลกวางตุ้งและมณฑลเจียงซู หมัดต่อหมัด


 มณฑลกวางตุ้ง  มณฑลเจียงซู
ขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ (ตารางกิโลเมตร)
 177,900    
 107,200
จำนวนประชากร  (ล้านคน)  130 
 90
ขนาดเศรษฐกิจ (ล้านล้านหยวน)  14.1 
 13.7
อัตราการเติบโตในปี 2024 (%)
3.5
 5.8
รายได้เฉลี่ยต่อหัว (หยวนต่อปี)
 108,500
153,000
จุดเด่น    
ฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยี การค้าและการส่งออก

ฐานการผลิตอัจฉริยะ สินค้าไฮเทค และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เมืองเศรษฐกิจสำคัญ
กวางโจว เซินเจิ้น ตงก่วน ซานโถว จูไห่ หุยโจว ฝอซาน 
 ซูโจว หนานจิง อู๋ซี หนานทง ฉางโจว

ติดตามต่อในตอนหน้าว่าเจียงซูมีอะไรดีๆ อีก และจะก้าวแซงกวางตุ้งได้อย่างไรครับ ...

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง