ไขปริศนา ไดโนเสาร์นับพันตัว ถูกฝังอยู่ที่เดียวกันได้อย่างไร

ไขปริศนา ทำไมไดโนเสาร์นับพันตัว ถูกฝังอยู่ที่เดียวกัน ใต้ผืนป่าทางตอนเหนือ รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา
สถานที่ที่เป็นสุสานไดโนเสาร์แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณลำธาร “ไปป์สโตนครีก” หรือมีอีกชื่อเรียกนึงว่า “แม่น้ำสายมรณะ” เป็นสถานที่ที่ค้นพบกระดูกของไดโนเสาร์หลายพันตัว ซึ่งตายอยู่ในทีเดียวกัน เมื่อ 72 ล้านปีก่อน
ตอนนี้ นักบรรพชีวินวิทยา ก็กำลังขุดค้น เพื่อค้นหาความจริงว่า เกิดอะไรขึ้นกับไดโนเสาร์เหล่านี้
ซากฟอสซิลที่พบอยู่ในบริเวณนี้ เป็นของ “พาคีไรโนซอรัส” เป็นไดโนเสาร์กินพืช ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 5 เมตร หนัก 2 ตัน ลักษณะเด่นคือ มีศรีษะใหญ่ มีแผงคอที่มีกระดูกอยู่ภายใน และมีปุ่มนูนขนาดใหญ่ที่บริเวณจมูก เป็นญาติใกล้ชิดกับไดโนเสาร์ "ไทรเซราทอปส์"
หัวหน้าทีมขุดค้น เผยกับ BBC ว่า เธอเรียกสถานที่แห่งนี้ ว่าเป็นแหล่ง “ทองคำยุคโบราณ” เพราะอุดมไปด้วยฟอสซิลจำนวนมาก โดยอาจพบกระดูกมากถึง 300 ชิ้น ในทุก ๆ 1 ตารางเมตร
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การค้นพบกระดูกไดโนเสาร์กินพืชจำนวนมากในที่เดียวกัน อาจเป็นเพราะไดโนเสาร์ฝูงใหญ่นี้ ประสบภัยพิบัติร้ายแรง อย่าง น้ำท่วมฉับพลัน ขณะกำลังอพยพไปทางตอนเหนือในช่วงฤดูร้อน
พายุที่รุนแรง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คลื่นยักษ์ซัดเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ แล้วกวาดฝูงไดโนเสาร์เหล่านี้ไปทั้งหมด เนื่องจากพวกมันเป็นไดโนเสาร์ที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะ และเคลื่อนไหวช้า ทำให้ยากต่อการหลบหนีในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน บริเวณที่เรียกว่า “ผามรณะ” ทีมขุดค้นก็ค้นพบกระดูกของ “เอ็ดมอนโตซอรัส” ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดหนึ่ง และเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่อาศัยอยู่ในป่าเดียวกันกับ “พาคีไรโนซอรัส”
การค้นพบนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ เข้าใจถึงชีวิตในระบบนิเวศยุคโบราณนี้เป็นอย่างไร เรียนรู้ว่า ไดโนเสาร์พวกนี้ เติบโต และใช้ชีวิตอย่างไร แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไรบ้าง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: