รีเซต

พะยูนไทยฝูงสุดท้าย วิกฤตระบบนิเวศทะเล ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

พะยูนไทยฝูงสุดท้าย วิกฤตระบบนิเวศทะเล ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
TNN ช่อง16
24 พฤศจิกายน 2567 ( 11:59 )
10

พะยูนไทยลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างรุนแรง เพราะภาวะโลกร้อน  จากผลชันสูตรซากพะยูนที่พบตายอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2567 พบว่าพะยูนร่างกายผอม ไม่มีอาหารกิน สอดคล้องผลสำรวจหญ้าทะเลที่เกาะลิบง เกาะมุก จ.ตรัง ซึ่งพบว่าหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าวมีความเสื่อมโทรม จากน้ำทะเลอุ่นขึ้น เพราะสภาวะโลกร้อน

 

“หญ้าทะเล” ถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลนานาชนิด ตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็ก ไปจนถึงสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเลบางชนิด และ พะยูน รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ เพราะระบบนิเวศหญ้าทะเลจะมีความหลากหลายของทั้งแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หญ้าทะเลจึงมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก


ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยอมรับว่าต้นเหตุการตายของพะยูนในทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารเสื่อมโทรม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ตรัง เปรียบเสมือนบ้านของพะยูน ซึ่งทุกวันนี้ต้องพบกับปัญหาหญ้าทะเลไม่เพียงพอ ซึ่งจากการสำรวจ และ ชันสูตรพะยูนที่ตายมีลักษณะของการขาดอาหาร ผอมตายอยู่จำนวนมาก

 

ในระยะ 2 ปีหลัง “หญ้าทะเล” ต้องพบกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากธรรมชาติ ดร.ก้องเกียรติ เล่าว่าขณะที่ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มปัญหาให้กับหญ้าทะเลมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งพบว่าโลกร้อนทำให้อุณหภูมิอากาศและน้ำสูงขึ้น น้ำทะเลลดต่ำลงเป็นเวลานาน ส่งผลต่อช่วงเวลาน้ำลงนานขึ้น หญ้าทะเลต้องผึ่งแห้งและได้รับแสงแดดในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานกว่าปกติทำให้ใบหญ้าทะเลไหม้และแห้งจนไม่สามารถฟื้นคืนได้


นอกจากนี้ยังพบว่ามีตะกอนในทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป หลายพื้นที่ในทะเลอันดามันมีการทับถมของตะกอนมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกาะลิบง จ.ตรัง มีตะกอนทับถมสูงถึง 30 เซนติเมตร 


สำหรับการเปลี่ยนแปลงของตะกอนในทะเลที่ทับถม คาดว่ามาจาก 2 สาเหตุ คือ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง บวกกับสภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรง ซึ่งทำให้มีลมแรง คลื่นสูง ส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นมาก  ทำให้จากการสำรวจใน 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งเหลือหญ้าทะเลที่อยู่รอดเพียง 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น


“ความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลทำให้พะยูนขาดอาหารตายอย่างต่อเนื่อง เพราะหญ้าทะเล คือ อาหารหลักของพะยูน แต่ในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงพะยูนก็มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการไปกินสาหร่ายทะเลแทนหญ้าทะเลที่หายาก โดยจากการสำรวจซากพะยูนที่ตายบางตัวพบว่าอาหารในกระเพาะพะยูนที่ตายมีสาหร่ายทะเลมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงสาหร่ายยังเป็นแค่อาหารเสริมสำหรับพะยูน ไม่สามารถเป็นอาหารหลักแทนหญ้าทะเลได้ ” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว 


จากการสำรวจพะยูนในทะเลอันดามันคาดว่ามีอยู่ราว 100 – 120 ตัว ถือเป็นพะยูนฝูงสุดท้าย  ซึ่งปัญหาการขาดแคลนอาหารทำให้ฝูงพะยูนต้องหาวิธีเอาชีวิตรอดตามสัญชาตญาณ โดยอพยพขึ้นไปทางตอนเหนือของทะเลอันดามัน จาก ตรัง - กระบี่ เพื่อหาแหล่งหญ้าทะเลบริเวณอ่าวพังงา ภูเก็ต แต่นั่นทำให้พะยูนต้องเผชิญกับอันตรายรูปแบบใหม่ คือ เครื่องมือประมงและใบจักรเรือ ของชาวประมงไม่คุ้นชินกับฝูงพะยูนที่ย้ายถิ่นที่ใช้ร่องน้ำเดียวกับเรือประมง 


ความอยู่รอดของพะยูนฝูงสุดท้าย จึงกลายเป็นความท้าทายด้านการอนุรักษ์ เพราะพะยูนกลายเป็นสัตว์หายากที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายรูปแบบ ทั้งแหล่งอาหารขาดแคลน ถิ่นที่อยู่ใหม่ที่ยังไม่ปลอดภัย 


Exclusive Content   By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง