MEB แพลตฟอร์มอีบุ๊กที่หวังรักษาวัฒนธรรมการอ่านอยู่ต่อไปในโลกยุคดีไวซ์
เราอาจเคยได้ยินคำว่า eBook กันยาวนานหลายสิบปี ถ้าเป็นคนในวงการคอม ก็เห็นอีบุ๊กกันตั้งแต่ยุคไฟล์ PDF แพร่หลายกันใหม่ ๆ แล้วก็อ่านหนังสือผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรือคนทั่วไปอาจเห็นหลังจาก iPad ถือกำเนิดขึ้น ที่คนเริ่มอ่านหนังสือกันบนแท็บเล็ตมากขึ้น
หนึ่งในหัวหอกที่ทำให้คนไทยอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้นคือ MEB หรือ Mobile E-Book ร้านอีบุ๊กใหญ่ที่สุดของไทย ก่อตั้งโดยคุณรวิวร มะหะสิทธิ์ และคุณกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ซึ่งจากจุดเริ่มต้นที่เป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ และ Software House สู่แพลตฟอร์มขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของไทยได้อย่างไร beartai Weekly เก็บรายละเอียดจากการพูดคุยกับผู้ก่อตั้งทั้ง 2 มาเล่าให้ฟังกัน
เนื้อหาในบทความนี้
สตาร์ตจากสำนักพิมพ์
คุณรวิวรเล่าย้อนถึงช่วงที่ทำสำนักพิมพ์ ASK Media ให้เราฟังว่า ธุรกิจสำนักพิมพ์เริ่มต้นด้วยใจรักอยากทำ เรื่องกำไรขาดทุนยังไม่ได้คิดถึงมันมากนัก เอาแค่อยากให้มันไม่ขาดทุนนั่นคือพื้นฐาน ไม่ได้คิดว่าจะทำให้ร่ำรวยอู้ฟู่ ในตอนนั้นพื้นฐานธุรกิจของคุณรวิวรและคุณกิตติพงษ์มาจาก Software House อยู่แล้ว ซึ่งก็มีกำไรพออยู่ได้ เลยปันกำไรบางส่วนมาทำธุรกิจหนังสือ ที่เน้นเป็นพิเศษคือวรรณกรรมแปลนิยายวิทยาศาสตร์หรือนิยาย Sci-Fi
โดยพยายามเลือกหนังสือที่ดี หนังสือที่ได้รางวัลแต่คนไทยยังไม่มีโอกาสได้อ่านเป็นภาษาไทย
ถ้าไม่ติดว่าเป็นหนังสือแปล ผมว่าหนังสือที่เราคัดมา มันดีพอที่จะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเยาวชนได้เลย
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
จาก ASK Media…
เนื่องจาก ASK Media เป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ผู้บริหารกับพนักงานก็คือกลุ่มเดียวกัน คุณรวิวรพูดถึงความทรงจำตอนนั้นว่า ผู้บริหารคือทั้งเขาและคุณกิตติพงษ์ต้องลงรายละเอียดงานเองค่อนข้างเยอะ ทั้งอ่านหนังสือ คัดเลือกต้นฉบับ ประสานงานการแปล จัดรูปเล่ม พิสูจน์อักษร เรียบเรียง รวมถึงติดต่อเรื่องการจัดจำหน่ายหรือการวางขาย ทำการตลาดเองด้วยซ้ำ พอทำเองก็เห็นความยากลำบากในแต่ละจุด ซึ่งเราก็ทำอยู่พักหนึ่ง ออกหนังสือมา 20-30 เล่มได้
ในช่วงนี้เองที่ผู้เขียนนำหนังสือของ ASK Media ที่สะสมไว้คือหนังสือชุด Ender’s Game หรือชื่อภาษาไทยคือ “เกมพลิกโลก” ของ Orson Scott Card ออกมาให้ดู คุณรวิวรจึงเล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า “จิตาวตาร” (Children of the Mind) ซึ่งเป็นหนังสือเล่ม 4 ของชุดนี้ เกือบจะไม่ได้พิมพ์ แต่เพราะมีรุ่นพี่ที่เป็นนักอ่านสายนี้เข้ามาช่วย บอกว่าเดี๋ยวเขาช่วยสนับสนุน ช่วยทำให้จบหน่อย ก็ทำจนจบ แล้วก็หมดภารกิจของสำนักพิมพ์แล้ว
ปัจจุบันจิตาวตารจัดเป็นหนังสือภาษาไทยที่หายาก เพราะพิมพ์ครั้งเดียวเมื่อปี 2552 ในรูปแบบทำตามจำนวนที่สั่งเข้ามา ทำให้พิมพ์ออกมาเพียง 200 เล่มเท่านั้น
ถือเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของ ASK Media จนปีรุ่งขึ้นคือ 2553 ก็เริ่มทำ MEB จนเปิดให้ใช้จริงในปี 2554 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมใหญ่ของไทยพอดี
…และธุรกิจซอฟต์แวร์เฮาส์สู่ MEB
ส่วนฝั่งธุรกิจซอฟต์แวร์เฮาส์ คุณรวิวรเล่าว่า มันเป็นธุรกิจ B2B (Business to Business) คือลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรให้ความต้องการเรามา เราพัฒนาซอฟต์แวร์เสร็จก็ส่ง วนอยู่แบบนี้ ทำให้เราคิดว่าต่อไปก็ถึงทางตัน
พอทำสำนักพิมพ์กับซอฟต์แวร์เฮาส์ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เลยหันมาทำอะไรที่เป็นแนวทางใหม่ ๆ บ้าง แต่ตอนนั้นทรัพยากรมีจำกัด การเลือกธุรกิจใหม่ปลายทางคือไม่รอดก็ตาย ต้องสู้สุดตัว ซึ่งธุรกิจอีบุ๊กก็เป็น 1 ในตัวเลือกของเรา ซึ่งการที่เราทำธุรกิจหนังสือมา มันก็เป็นเส้นทางที่เราผ่านมาจริงจัง เราเข้าใจธุรกิจนี้ เข้าใจ Pain Point ต่าง ๆ ก็คงเป็นเหมือน Connect the Dot ที่มองอดีตว่าเราไปผ่านจุดอะไรมาบ้าง แล้วก็ต่อเข้าหากันมันก็เกิดเป็นธุรกิจอีบุ๊กครับ
ประสบการณ์จากซอฟต์แวร์เฮาส์ทำให้ MEB ในช่วงแรกมีกระบวนการที่ชัดเจนในการพัฒนาระบบไอทีขึ้นมา ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของเรา
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
การสู้ของ MEB
เรื่องนี้สำหรับคนที่อ่านอีบุ๊กมาพักใหญ่ ๆ น่าจะจำกันได้ว่า MEB ไม่ได้โดดเด่นในช่วงแรก แต่มีร้านอีบุ๊กไทยอื่น ๆ ที่โดดเด่นกว่า คุณรวิวรเล่าในช่วงปีแรก ๆ ของการทำเมพว่า ตอนที่เปิดตัว ก็มีคู่แข่งในไทยเต็มเลย อารมณ์ตอนนั้นเหมือนทุบหม้อข้าว ไม่สู้ก็ตาย แต่สำหรับรายอื่น ๆ ที่ลงตลาด เขาลงด้วยความรู้สึกแตกต่างกัน
บางรายเป็นร้านหนังสือใหญ่ที่เห็นว่ามีอีบุ๊กมาแล้วก็ต้องกระโดดเข้าด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวตกขบวน แต่ก็มีความกังวลว่าถ้าอีบุ๊กมันเวิร์กเกินไป ธุรกิจหนังสือเล่มจะมีปัญหาหรือเปล่า ก็เป็นความกล้า ๆ กลัว ๆ และธุรกิจหนังสือจะไม่ยอมพลาดมากเพราะว่าถ้าพลาดแล้วดูไม่ดี
ส่วนบางรายเป็น Start-Up ก็ใช้แนวคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่อย่างการ Rise Fund หาเงินลงทุน ยังไม่สนเรื่องกำไรขาดทุนตั้งแต่แรก เพราะระดมทุนได้เงินมาเยอะ ก็ทำไปก่อน ซึ่งข้อดีมันคือไม่ต้องกังวลเรื่องธุรกิจใช่ไหม แต่ข้อเสียคือทำงานแบบไม่กังวลมากเกินไป
Start-Up ทำธุรกิจแบบยอมพลาดได้เยอะ ๆ มีคนมาลงเงินให้ แต่พวกผมไม่ใช่สตาร์ตอัปไง ถ้าพลาดไม่มีกำไรผมก็อยู่ไม่ได้
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
ในตอนนั้นถือว่าทุกคนในตลาดแข็งแกร่งหมด ส่วน MEB เป็นแค่โนบอดี้ มีแค่ตัวแล้วก็ใจ แต่อย่างที่บอกตั้งแต่แรก เมพทำเพื่อเอาตัวรอด ไม่สู้ก็ตาย เราไม่ได้ทำเพื่อมารักษาฐานกลุ่มลูกค้าเดิมจากร้านหนังสือ ดังนั้นมันทำให้เรามีอิสระในการพัฒนาอะไรหลาย ๆ อย่างได้ชัดเจน แล้วเราต่างจากสตาร์ตอัปตรงเราต้องทำงานแบบกังวล ทำให้รัดกุมมาก การโตทุกอย่างต้องมีเหตุผลรองรับและไม่ทำอะไรที่ที่มันมั่ว ๆ เพราะกระสุนเราไม่เยอะ
แพลตฟอร์มอีบุ๊กโตไปด้วยกันกับสำนักพิมพ์
คุณกิตติพงษ์เล่ามุมมองของสตาร์ตอัปในธุรกิจหนังสือในช่วงนั้นให้ฟังว่า สิ่งที่เขาคือเอาเงินที่ได้จากการลงทุนมาเผาเพื่อเร่งธุรกิจให้โตในช่วงแรก เช่น เอาใจผู้ค้า โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ เลย แต่พอลูกค้าติดตลาด หรือเผาเงินหมดแล้ว ก็มาบีบผู้ค้าเยอะขึ้น นั่นคือวิถีของสตาร์ทอัป ที่เมื่อคุณ Rise Fund มาได้ คุณต้องทำให้โตได้ตามภารกิจเท่านั้นเท่านี้
แต่เราเป็นสำนักพิมพ์มาก่อน เราก็เป็นคนตัวเล็กมาเหมือนกัน ก็เห็นว่าทำแบบนี้มันบิดเบือนตลาด MEB เลยตั้งส่วนแบ่งที่สมเหตุสมผลมาตั้งแต่แรก ใช้ส่วนแบ่งกับพาร์ทเนอร์เท่าเดิมมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ซึ่งมันก็เป็นเรทที่ทุกฝ่ายอยู่ได้
ถ้าเราไปบิดเบือนมากเกินไป อย่างถ้าเราไปลดราคาอีบุ๊กบนแพลตฟอร์มของเราโดยไม่คุยกับสำนักพิมพ์ สุดท้ายช่องทางเราโตแต่หนังสือเล่มเขาตาย ก็ไม่มีใครมาป้อนงานเข้าร้านหนังสืออยู่ดี ดังนั้นมองให้มันให้มันเสริมกันดีกว่า
แพลตฟอร์มกับสำนักพิมพ์ โตไปด้วยกันแบบไปด้วยกันไกล ๆ
กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
MEB ไม่ใช่คนแรก แต่ทำไมเป็นอันดับ 1 ได้
คุณรวิวรเล่าถึงอดีตที่ MEB ไม่ใช่แอปที่หน้าตาสวยที่สุด แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นแอปที่ใช้งานได้ง่ายแอปหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเพราะ ถ้าแอปใช้ยากลูกค้าก็จะอ่านยาก แล้วก็จะมีคำถามตามมาอีกว่านั่นนี่ทำยังไง ก็จะเป็นภาระกับทีมงานมาอธิบาย ดังนั้นการทำของให้มันใช้ง่าย เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกฝั่ง ดีสำหรับผู้ให้บริการที่มีทุนน้อย กำลังจำกัด นักอ่านก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเยอะ เข้ามาอ่านได้เลย
คุณกิตติพงษ์จึงเสริมประเด็นนี้ว่า เราคิดถึงว่า MEB เป็นคลังหนังสือส่วนตัวที่ผู้อ่านเปิดมาแล้วต้องเจอหนังสือของเขาก่อน ไม่ใช่เปิดมาแล้วเจอเป็นร้านหนังสือ ให้เป็นแอปที่ใช้ง่ายสำหรับคนกลุ่มนี้ที่รักหนังสือ
การบริการระดับเมพ
ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นลูกค้าของ MEB เช่นกัน ก็ประทับใจกับสนับสนุนลูกค้าของเมพ ที่ทำงานไว ตอบเร็ว แก้หลาย ๆ ปัญหาให้ผู้อ่านได้เลย เราจึงถาม 2 ผู้บริหารว่าทำไมถึงให้บริการระดับนี้ คุณกิตติพงษ์จึงตอบว่า เรื่องการสนับสนุนลูกค้าก็เป็นคีย์อีกอย่างของเมพ ในช่วง 6-7 ปีแรก ผู้บริหารก็มอนิเตอร์กันเองทุกวัน เราลงไปแก้ปัญหา ลงไปเซ็ตระบบในการช่วยเหลือลูกค้าให้ได้เยอะที่สุด ตรงนี้ทำให้ลูกค้าที่เขาเคยซื้อก็เชื่อมั่นว่า MEB บริการดี ซื้อมาแล้วต้องได้อ่าน ความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้ MEB โตได้ถึงวันนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ MEB ต่างจากร้านอื่น ๆ
พอเป็นอีบุ๊กลูกค้าจะคิดเยอะว่าผูกปิ่นโต ซื้อหนังสือกับร้านนี้ไปเรื่อย ๆ ดีรึเปล่า แล้วอีบุ๊กเล่มเดียวกันในแต่ละร้านก็หน้าตาเหมือนกัน แต่ถ้าซื้อร้านนึงเราเชื่อใจกว่ามันก็โอเค
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
คุณรวิวรจึงเสริมว่า แม้ว่าทีมงานจะลงไปเช็คทุกเล่มที่ขาย แต่บางทีมันก็มีสิ่งที่หลุดได้จากความผิดพลาดของมนุษย์ ซึ่งเราโอเคที่จะมีความผิดพลาดได้นะ แต่ต้องแก้ให้เร็ว ผมคิดว่าลูกค้ายอมรับความผิดพลาดได้นิดหน่อย แต่ลูกค้าไม่ยอมรับความผิดพลาดที่ไม่ยอมแก้ไข สมมติคุณซื้อหนังสือไปแล้วเจอความผิดพลาด ร้านหนึ่งตอบสนองคุณภายใน 1-2 ชั่วโมง ส่วนอีกร้านต้องรอให้เปิดทำงานก่อน เช่นซื้อคืนวันศุกร์ แต่ต้องรอแก้วันจันทร์ แค่นี้ก็ให้ผลต่างแล้ว
แล้วทีม Support ของเมพไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยหรือ คุณรวิวรจึงขยายเรื่องการทำงานต่อให้เราฟังว่า ทีม Support จะทำงานในเวลาที่ครอบคลุมการใช้งานส่วนใหญ่ของผู้อ่าน อาจไม่ได้เลิกงาน 6 โมงเย็นเหมือนพนักงานทั่วไป เพราะช่วงกลางคืนลูกค้ายังใช้งานเยอะอยู่ แล้วพนักงานก็สามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งเรารู้ว่า Quality of Service ระดับนี้ ลูกค้าทุกคนยอมรับได้หมดแล้ว จึงไม่ได้ทำงานกัน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ระบบก็ต้องเสถียร ถ้ามันล่มกลางดึกขึ้นมาแล้วต้องหาวิธีคืนชีพ มีระบบอัตโนมัติให้มันปลุกตัวเองขึ้นมาได้
ความเนี้ยบของหนังสือคือสำคัญ
คุณรวิวรเล่าถึงกระบวนการทำงานเพิ่มเติมว่า ต้นฉบับหนังสือที่เมพได้รับจากสำนักพิมพ์ก็เป็นต้นฉบับเดียวกันกับร้านอื่น ๆ แต่สิ่งที่ผู้อ่านได้รับจาก 2 ร้านอาจได้ความเนี้ยบไม่เท่ากัน เช่น ความอ่านสะดวกที่ไม่เท่ากันจากวิธีใช้ของ 2 แอป หรือสำหรับหนังสือการ์ตูนที่มีภาพแบบหน้าคู่ ร้านหนึ่งหน้าคู่มันต่อกัน อีกร้านหน้าคู่ไม่ต่อ ก็วัดความเนี๊ยบแล้ว ซึ่งใครที่อ่านการ์ตูน น่าจะชอกช้ำกันมาเยอะกับ หน้าคู่ไม่ต่อกัน หรือลำดับหน้าผิด หน้าที่ควรจะต่อกัน ดันไปอยู่แบบต้องพลิกหน้า
หรือเรื่องการเปิดหนังสือเหมือนกัน คือการ์ตูนญี่ปุ่นในไทยมันมีทั้งการเปิดจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย เราก็เป็นแอปแรกที่ปรับรูปแบบการเปิดหน้าให้เหมาะกับหนังสือเล่มนั้น ๆ บางร้านต้นฉบับส่งมายังไง ก็ลงไปอย่างนั้น ไม่ได้เปิดดูทุกเล่มเพื่อปรับแต่งเหมือนเรา เราปรับแต่งรวมถึงขนาดไฟล์ที่ต้องดาวน์โหลดให้เหมาะสมที่สุด ไม่ใหญ่เกินไปจนกินพื้นที่เครื่อง แต่ไม่เล็กเกินไปจนเสียคุณภาพ อย่างหนังสือการ์ตูน สำนักพิมพ์จะส่งไฟล์มาราว ๆ 700-800 MB ต่อเล่ม เพราะเป็นไฟล์ที่ส่งพิมพ์ แต่เราปรับให้ผู้อ่านเหลือประมาณ 100 MB ต่อเล่ม นี่คือเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ความรู้สึกนักอ่านแตกต่างกันมหาศาล
ถ้าผมเป็นคนทำงานแบบหอคอยงาช้างรอฟังลูกน้องมารายงาน จะมองไม่เห็นสิ่งนั้น แต่นี่เจ้าของลงไปทำไฟล์เอง เราไปคลุกคลีกับมัน เพราะว่าสุดท้ายเราก็อ่านเอง
กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
คู่แข่งในปัจจุบัน
เมื่อถามถึงคู่แข่งในปัจจุบัน คุณรวิวรเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า คู่แข่งกำลังเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่ถูกสร้างไว้แล้ว ยังไม่เห็นภาพของการสร้างสรรค์ให้ตลาดมันใหญ่ขึ้น กลายเป็นยังมาแย่งในชิ้นเค้กเดิมที่เมพหรือผู้ให้บริการรายเดิม ๆ เคยสร้างไว้
เช่น การพยายามจะเอาหนังสือบางปก ไปขายในบางร้านก่อน เพื่อให้หวังว่าลูกค้าจะไปซื้อในร้านใหม่ ถ้าเป็นบริการสตรีมมิ่งพวก Netflix ก็ยังทำอย่างนั้นได้นะ เพราะมันเป็นแค่การสมัครสมาชิก ไม่ได้ผูกพันกับอะไร ลูกค้าไม่ได้ซื้อหนังเก็บไว้ดูต่อเอง แต่พอเป็นธุรกิจอีบุ๊ก มันมีเรื่องประสบการณ์ในการอ่านที่เปลี่ยนไปเพราะเปลี่ยนร้าน คุณภาพให้บริการเปลี่ยน ความมั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้จะคงทนถาวรรึเปล่าก็เปลี่ยน คือมันไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเล่น ๆ อาจลองได้ผ่านโปรดึงดูดลูกค้า ก็กดมาลองดู ว่าสะดวกไหม แต่ถ้าประสบการณ์การใช้มันไม่ชนะเจ้าเดิมแบบกระจุย แล้วลูกค้าจะเปลี่ยนที่ซื้อทำไม
คุณกิตติพงษ์ได้ยกตัวอย่างการเข้ามาในตลาดอีบุ๊กแบบขยายตลาดให้ฟังว่า เมื่อ 5-6 ปีก่อน มีนิยายจีนแนววูเซีย (แนวทะลุมิติ ย้อนเวลากลับมาเกิดใหม่) เข้ามาก็ทำให้ตลาดใหม่เกิดขึ้น หรือมีนิยายแนวจีนกำลังภายในแฟนตาซี มันก็ทำให้ตลาดใหม่ขยายขึ้นถือว่าทำให้วงการมันเติบโต จำนวนนักอ่านเพิ่มขึ้น ภาพรวมอุตสาหกรรมก็ดีขึ้น แต่ถ้าแค่เปิดแพลตฟอร์มใหม่เพื่อเปลี่ยนที่ขายของเดิม ๆ ตลาดคงขยายขึ้นบ้างแต่ว่าก็ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก เพราะไม่ได้ทำให้เค้กมันใหญ่ขึ้นเท่าไหร่
เรากังวลเรื่องแพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดขึ้นมาแข่ง มันจะอยู่ได้นานไหม เพราะถ้ามีแอปอีบุ๊กที่ปิดตัวไป มันกระทบความเชื่อมั่นของตลาดโดยรวม
กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
คุณรวิวรจึงเล่าต่อว่า เมื่อต้นปี 2566 มีแพลตฟอร์มอีบุ๊กปิดตัวไปเจ้าหนึ่ง ก็ให้คนย้ายหนังสือไปอยู่แพลตฟอร์มใหม่ หลังจากมีข่าวนี้ ก็มีคนกลับมาถามถึงผู้เล่นรายปัจจุบันอย่างเรา ถึงขนาดมีเพจข่าวมาสำรวจดูเงื่อนไขการให้บริการของร้านอีบุ๊กแต่ละที่ ว่าถ้าเจ๊งเนี่ยจะทำยังไง คือบางทีก็เขียนไว้ชัดเจน (ที่ไม่ใช่ MEB นะ) ว่าถ้าเราเลิกก็ตัวใครตัวมัน ซึ่งตอนแรกคนก็เข้าใจผิดว่าเมพเขียนแบบนั้นเหรอ เราถึงกับต้องแจ้งต้นเรื่องให้เขียนข่าวให้ถูกต้องหน่อย เพราะเมพไม่ได้เขียนแบบนั้น
แล้ว บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้ว คือตอนที่เราจะเอาบริษัทเข้าตลาด ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ถามเราประเด็นนี้เยอะมากนะ เขากลัวมา Exit ทำ ๆ ไปแล้วออกจากตลาด แล้วทอดทิ้งผู้บริโภค เราถึงขนาดต้องมีแผนความมั่นใจ ที่จะบอกก.ล.ต. ว่าไม่ต้องกลัวครับ ต้องมีการตั้งอะไรสำรองทิ้งไว้พอสมควรเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินระดับนั้น
ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องบอกว่าสบายใจกับ MEB ได้มาก ๆ เลยครับ
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
ว่าด้วยเรื่องการ์ตูนญี่ปุ่น
ผู้เขียนเป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่น และใน MEB ก็เป็นหน้าร้านการ์ตูนญี่ปุ่นขนาดใหญ่เช่นกัน เราเลยถามมุมมองเรื่องการดีลกับต้นสังกัดญี่ปุ่นกับ 2 ผู้บริการด้วย
คุณรวิวรเล่าภาพรวมให้ฟังว่า ในญี่ปุ่นอีบุ๊กฮิตมาก แต่ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นเขามีลักษณะเชื่อใจคนยาก และมักจะเชื่อใจคนในประเทศตัวเองมากกว่า ทั้งที่จริง ๆ บางเงื่อนไขทางเทคนิค ญี่ปุ่นอาจจะหลวมกว่าไทยด้วยซ้ำ คนญี่ปุ่นอาจมองคนไทยว่า โอ้ประเทศแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ อะไร ๆ ก็ดูไม่มีหลักเกณฑ์ กฎหมายไม่เข้มแข็ง เป็นภาพแบบนั้นก็เลยดูจะกลัวคนภายนอกมากกว่า
อย่างตอนจะเอาอีบุ๊กการ์ตูนมาขายในไทย ทางญี่ปุ่นก็ขอว่าต้องมีระบบนู้นนี่นั่น เราก็ไปดูแพลตฟอร์มของญี่ปุ่นก็ไม่เห็นมีของแบบนั้นเลย เราเลยรู้สึกว่าเขาคงโอเคกับพวกเดียวกัน ทำให้ MEB มีระบบป้องกันการคัดลอกเนื้อหาหลายจุดมาก เมื่อก่อนสามารถแคปหน้าหนังสือได้ 5 หน้าก่อนถูกล็อก ก็เจอคนเวียนเครื่องกัน ตอนนี้เลยแคปหน้าจอแล้วได้หน้าขาวเลย หรือเวลาสลับแอป เราก็ทำหน้าขาว คนจะได้แคปจากหน้า Thumbnail เวลาสลับแอปไม่ได้ (ซึ่งมันมีคนที่ทำแบบนั้นจริงๆ) เพื่อบอกให้ผู้ที่เอางานมาลงกับ MEB ว่าเราพยายามป้องกันเนื้อหาของคุณอย่างดีที่สุดแล้ว
แต่การเข้ามาสู่อีบุ๊กมันก็ช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขาเคยปวดหัวไปหลายอย่าง พวกการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างเมื่อก่อนคนไทยเราก็อยากจะจ่ายเงินซื้อของถูกลิขสิทธิ์ใช่ไหม แต่ในไทยไม่มีที่ให้จ่ายเงินง่าย ๆ อยากจ่ายเงินซื้อการ์ตูนให้ถูกต้องก็ไม่มีที่ขาย ระหว่างนี้ขออ่านเถื่อนไปก่อน ผมว่ารายได้ญี่ปุ่นก็รั่วไหลไปเยอะ
การ์ตูนบางเรื่องที่เราก็รู้ว่ามันดีมาก เราก็ไปคุยกับสำนักพิมพ์โดยตรง คือสำนักพิมพ์ไทยอยากขายอยู่แล้วเรื่องดี ๆ แต่บางเรื่องทางญี่ปุ่นยังไม่ยอมให้ปล่อย มันก็ต้องใช้เวลา แล้วก็ต้องคุยกับญี่ปุ่นหลายเรื่องเลย ตั้งแต่ราคาขายแพงเกินไป หรืออาจารย์ผู้เขียนไม่ให้ลงอีบุ๊กเลย หรือบางที่ก็ขายลิขสิทธิ์อีบุ๊กแต่พ่วงบางอย่างของหนังสือเล่มไปด้วย เช่นบอกว่าขายอีบุ๊กได้นะ แต่คุณต้องพิมพ์ฉบับเล่มเพิ่มด้วย ถ้าเป็นหนังสือเก่าที่สำนักพิมพ์ไทยก็รู้ว่าขายเล่มไม่ได้ สำนักพิมพ์ก็ลำบากใจที่จะทำเพิ่มลงอีบุ๊ก
ศัตรูของการ์ตูนญี่ปุ่นคือตัวเค้าเองครับ คือคุณกลัวผีก็เลยก็เลยปัดเป่าปัด ๆ แต่ก็ปัดลูกค้าออกไปด้วย
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
คุณกิตติพงษ์จึงเล่าเหตุการณ์ก่อนที่อีบุ๊กการ์ตูนญี่ปุ่นจะลงแพลตฟอร์มในไทยว่า ตอนนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นในไทยเองก็โดนการ์ตูนเถื่อนออนไลน์ตี สำนักพิมพ์ไทยจะตายกันหมด เพราะว่าญี่ปุ่นไม่ยอมลงอีบุ๊ก เราก็เดินสายคุยกับญี่ปุ่นมานานนะ แต่เขายังมองไม่เห็นว่าจริง ๆ แล้ว ศัตรูของคุณคือใครกันแน่ เขามองว่าศัตรูของเขาคือคนไปอ่านเถื่อนกันหมด ผมถึงบอกญี่ปุ่นว่า คุณมองศัตรูผิดไป มัวแต่กั้กไม่ยอมลงอีบุ๊กเพราะกลัวคนจะไปละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ที่เค้าไปอ่านเถื่อนกันเพราะคุณไม่ยอมมาลงอีบุ๊กต่างหาก
ทำไม Elna Saga ถึงลงขายในเมพที่เดียว
ในหมู่มวลการ์ตูนญี่ปุ่นของเมพ มีการ์ตูนอยู่ชุดหนึ่งที่มีที่มาแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ คือ Elna Saga การ์ตูนที่ฮิตในไทยเมื่อนานมาแล้ว แต่ก็กลับมาขายใหม่ในรูปแบบอีบุ๊กเฉพาะในเมพ
คุณกิตติพงษ์เล่าที่มาที่ไปว่าเอลน่าซาก้าเมพไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์เอง แต่ไปคุยกับอาจารย์ Shoko Tsutsumi ผู้เขียนโดยตรงจากญี่ปุ่นให้เอามาลงโดยไม่ได้ผ่านสำนักพิมพ์ ก็เหมือนอาจารย์เป็นนักเขียนอิสระคนหนึ่ง รับเงินไปเต็ม ๆ เราแค่ช่วยดำเนินการหานักแปลให้ เหตุผลที่ทำก็เพราะผมอยากอ่านภาค 2 เฉย ๆ ไม่ได้มีเหตุผลว่าเราอยากตั้งสำนักพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่น คือเมื่อ 20 ปีก่อนผมถามสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจที่แปลขายภาคแรกว่าจะแปลภาค 2 ไหม เค้าบอกว่าจะแปล ๆ จนเมื่อเราจะทำเองก็ไปถามวิบูลย์กิจอีกรอบ เค้าบอกไม่ทำแล้ว โอเคงั้นเราไปหาอาจารย์เองเลย
แต่คุณรวิวรก็ปฏิเสธว่า MEB ไม่ได้เน้นเรื่องเอาหนังสือมาขายเอง หรืออยากทำตัวเป็นสำนักพิมพ์เอง คือตอนที่เราทำเอลน่าซาก้า สำนักพิมพ์การ์ตูนที่เป็นพาร์ทเนอร์เขาก็ตกใจและกังวล แต่เราก็บอกไม่ใช่ว่าเมพจะรุกคืบตลาดพวกคุณ แต่เราคุยกับทางวิบูลย์กิจคุยแล้วไม่มีใครทำ เราเลยประสานงานต่อ โดยขอซื้อสิทธิ์คำแปลเดิมของวิบูลย์กิจมาใช้ เรียกว่าให้เกียรติพาร์ทเนอร์เรา นอกจากนี้ก็ทำ Stargazer จากนักเขียนเดียวกันด้วย เพราะเป็นการ์ตูนแนว Sci-Fi ซึ่งเป็นแนวเรื่องที่เราชอบ
สิ่งที่สำนักพิมพ์กลัวอีบุ๊ก
เมื่อถามว่าเมพจัดการกับความต้องการของสำนักพิมพ์, นักเขียนและผู้อ่านได้อย่างไร เขาถึงยอมเอางานมาลงในแพลตฟอร์มของเรา คุณรวิวรก็เริ่มเล่าจากสิ่งที่สำนักพิมพ์กังวลก่อน
สำนักพิมพ์กลัวการมีอยู่ของอีบุ๊กมาตั้งแต่เริ่ม เพราะว่าเขากลัวว่าถ้าคนแห่มาซื้ออีบุ๊กกันหมด หนังสือเล่มของเขาจะขายไม่ได้ จนเกิดปัญหาสต็อกหนังสือติดมือ ซึ่งพอเวลาผ่านไป แม้ว่ายอดขายของหนังสือเล่มจะได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะผู้อ่านบางคนก็ไม่สะดวกอ่านเล่ม แต่โดยรวม มันพิสูจน์แล้วว่าอีบุ๊กทำให้ภาพรวมรายได้ของสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้น เพราะสำนักพิมพ์ขายได้ทั้งหนังสือเล่มและอีบุ๊ก ซึ่งแต่ก่อนการที่คุณขายแต่หนังสือเล่ม ผู้อ่านบางคนอาจจะเลือกไม่อ่านไปเลย แต่พอมีอีบุ๊กเขาก็มีทางเลือกอ่าน
ยิ่งในยุคที่ร้านหนังสือยุบตัว และสาขาที่เปิดอยู่ก็เอาของอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนังสือมาขายมากขึ้น หนังสือก็ถูกวางน้อยปกลง กลายเป็นไม่ตอบโจทย์หนอนหนังสือมากขึ้น การเข้ามาอีบุ๊กมันเสริมตรงนี้พอดี เพราะอีบุ๊ควางหนังสือได้ไม่จำกัด ไม่มีเล่มไหนที่ถูกไล่ออกจากร้านเพราะขายไม่ดี ขายได้เรื่อย ๆ จนหมดเวลาขาย ซึ่งเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ บางเล่มซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมา ถึงกำหนดตามสัญญาที่ซื้อจากเมืองนอก เราก็ต้องเอาออกจากหน้าร้านตามเงื่อนไข แต่คนที่ซื้อไปก็แล้วยังโหลดมาอ่านได้เรื่อย ๆ
มุมมองนักอ่านก็มีความกังวลแตกต่างกันไป
ในส่วนของมุมมองนักอ่าน คุณรวิวรเล่าประเด็นความกังวลที่ได้ยินมาเยอะ ๆ เช่น การอ่านหนังสือบนอุปกรณ์มันไม่สะดวก ไม่ถนอมสายตา เทียบกับหนังสือเล่ม ซื้อมาแล้วมันก็ยังเห็นอยู่ในบ้าน วางอยู่บนโต๊ะ แต่ซื้ออีบุ๊ก อยู่ดี ๆ ถ้าแพลตฟอร์มปิดตัวลง หนังสือที่เคยซื้อจะไปอยู่ไหน หรืออีบุ๊กมันไม่มีสัมผัสของการอ่าน ไม่มีกลิ่น ขาดอรรถรส
มาเจาะทีละข้อ ประเด็นแรกเรื่องการอ่านไม่สะดวกสบาย คือหนังสือเล่มมันก็เป็นกระดาษนะ มันพิมพ์ไปแล้ว ตัวหนังสือมันก็ขนาดเท่านั้นตามที่พิมพ์มา แต่พอเป็นอีบุ๊กมันปรับขนาดตัวหนังสือได้ คุณอายุมากขึ้น สายตายาวขึ้น ก็ปรับขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ได้ แล้วอุปกรณ์อ่านอีบุ๊กมีแสงในตัวด้วย อ่านในที่แสงน้อยหรือไม่มีแสงก็ได้ เทียบกับการอ่านหนังสือเล่ม สมมุติคุณอ่านบนเตียงแสงไม่พอ อ่านสักพักคุณก็ปวดตาแล้ว ส่วนถ้าอยากให้สบายตาขึ้น ก็มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า e-Reader ใช้ e-ink เป็นหมึกอิเล็กทรอนิกส์ให้ลักษณะและสัมผัสเหมือนกระดาษ และมีแสงด้วยนะ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อีบุ๊กก็ชนะแล้ว
ลูกค้าผู้อาวุโสอายุสัก 60 ปีขึ้นไป อีบุ๊กก็กลายเป็นทางเลือกสำคัญ เพราะมันทำให้เขายังอ่านหนังสือต่อไปได้
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
ประเด็นต่อมาเรื่องความอยู่ทนถาวร เราคิดว่าหนังสือเล่มอยู่ทนถาวรมันก็ใช่ แต่เฉพาะถ้าคุณเก็บถูกต้องนะ แต่เราก็ควบคุมน้ำท่วมไม่ได้ ควบคุมปลวกไม่ได้ ควบคุมเชื้อราไม่ได้ แล้วการเก็บดี มันก็ลำบากเวลาจะอ่าน คุณเก็บหนังสือใส่ห่อพลาสติก แล้วเก็บใส่ลังไว้ สุดท้ายคุณได้อ่านมันจริง ๆ อีกไหมสำหรับหนังสือที่อยู่ในลัง ก็ต้องรื้อ ต้องเปิด ต้องแกะ อ่านเสร็จแล้วก็ต้องเก็บเข้าลังใหม่ เพราะงั้นเรื่องความคงทนถาวร อีบุ๊กก็ตอบโจทย์ได้ไม่แพ้กัน ผมไม่บอกว่าอะไรชนะ เพราะมันตอบโจทย์กันคนละด้าน
ส่วนสัมผัสของกระดาษ ผมว่ามันเป็นเรื่องของเป็นเรื่องของมโนภาพ เป็นเรื่องความชอบส่วนตัว และไม่ต้องไปโน้มน้าวคนที่เชื่อแบบนั้น
ทำไมคนถึงยังถามเรื่องพวกนี้
มันเกิดจากพวกเรา (คือคนอายุสัก 30 ปีขึ้นไป) เป็นมนุษย์ 2 ยุค เราเป็นมนุษย์ร่วมสมัย เกิดมากับหนังสือเล่มอ่านจนชินไปแล้ว แล้วอีบุ๊กเพิ่งมีมาสักสิบปี ถ้าบอกว่าสิ่งที่เพิ่งมี มันดีกว่าสิ่งที่ผ่านมาตลอด หลายคนก็คงทำใจทรยศอดีตไม่ได้
แต่ถ้ามองกว้าง ๆ ดูยุคนี้ หลานผมอายุ 12 เกิดมาก็เจอ iPad แล้ว เป็น Digital Native ไม่เคยเห็นอ่านหนังสือเป็นเล่มเลยด้วยซ้ำ เห็นอ่านอีบุ๊ก ดูยูทูป คนเหล่านี้ต่างหากที่เขาจะมากำหนดทิศทางอื่น ๆในอนาคต
อีบุ๊กเลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะรักษาวัฒนธรรมการอ่านให้อยู่ต่อ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ลูกเราก็เล่นมือถือเล่นคอมกันหมด อีบุ๊กคือตัวเชื่อมต่ออดีตกับอนาคต
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
ทำไมอีบุ๊กราคาไม่ต่างจากหนังสือเล่ม
ประเด็นนี้คุณกิตติพงษ์ยกคำของ ‘ชาติ กอบจิตติ’ ขึ้นมาอ้างอิงว่า ‘งานที่เขียนเป็นค่าน้ำหมึก’ หมายถึงต้นทุนหนังสือไม่ใช่แค่ค่ากระดาษ ค่าการพิมพ์ แต่ค่าน้ำหมึก หมายถึงค่าการเขียนของนักเขียนเป็นต้นทุนหลัก ต้นทุนค่ากระดาษอาจแค่ 20-30% สำหรับการพิมพ์ปกติ หรือราว 50% สำหรับการ Print on Demand
ในมุมมองสำนักพิมพ์ ต้นทุนอีบุ๊กจึงเหมือนหนังสือเล่มแทบทุกอย่าง ยกเว้นค่ากระดาษ ราคาหนังสืออีบุ๊ก ลดได้เต็มที่ก็คือลดค่ากระดาษไป อาจจะ 10-30% ไม่เกินนั้น ที่เหลือเขาก็ยังมีต้นทุนเหมือนเดิม ค่าสายส่งอาจจะลดไปหน่อยหนึ่ง ค่าฝากร้านมันก็เหมือนเดิม แล้วก็อาจจะไม่ต้องสต็อกหนังสือ แต่ค่าผลิตค่าอะไรทุกอย่างก็ยังมีอยู่
คุณรวิวรจึงขยายความเรื่องการตั้งราคาหนังสือในเมพว่าเป็นนโยบายของแต่ละสำนักพิมพ์ เราเป็นตัวกลาง ก็ให้คำแนะนำกับสำนักพิมพ์ได้เพียง ราคาอีบุ๊กควรจะถูกกว่าราคาหนังสือเล่ม เพราะมีการหักค่าพิมพ์ ค่ากระดาษออกไป ที่เหลือก็สุดแท้แต่สำนักพิมพ์ บางสำนักพิมพ์อาจมีสัญญาเรื่องราคากับเจ้าของสิขสิทธิ์ต่างประเทศ
แต่สำหรับบางสำนักพิมพ์ที่ขายอีบุ๊กแพงกว่าหนังสือเล่ม มันก็มีเหตุผลรองรับกับการขายในบางแพลตฟอร์ม เช่นถ้ากดซื้อผ่านแอปในอุปกรณ์ของแอปเปิ้ล ราคาอีบุ๊กจะตั้งได้เป็นขั้น ๆ 35, 69, 99, 149 ถ้าสำนักพิมพ์อยากตั้ง 125 บาท มันก็ตั้งไม่ได้ ก็ต้องปรับขึ้นเป็น 149 แถมราคานี้ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้แอปเปิ้ลอีก 30% ซึ่งเรื่องนี้ก็เข้าใจได้
เมื่อพูดถึงเรื่องการตั้งราคา คุณกิตติพงษ์จึงเสริมว่า จริง ๆ เมพก็สามารถแก้ราคาหนังสือได้ สมมุติว่าเขาพิมพ์เล่มกระดาษมาขาย 90 บาท แล้วเราอยากกระตุ้นให้ลูกค้าซื้ออีบุ๊กเยอะขึ้นเลยทำโปรในแพลตฟอร์ม ขายราคา 9 บาทไปเลย เราจ่ายแทนลูกค้าให้ได้ เราทนได้ เราสายป่านยาว แต่มันไม่ดีกับสำนักพิมพ์ แม้เราจะจ่ายเงินให้สำนักพิมพ์เท่าเดิม แต่สำนักพิมพ์ไม่ได้วางแผนรับมือสิ่งอื่น ๆ ไว้ เกิดเล่มกระดาษเขาเหลือค้างสต็อก ต้นทุนสำนักพิมพ์ก็เพิ่มอีก มันมีอะไรต้องคำนวณมากกว่านั้น ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องเกื้อกูลกัน
Hytexts ผู้นำเข้าเครื่อง e-Reader ในเครือเมพ
นอกจาก MEB แล้ว ยังมี Hytexts เป็นอีกธุรกิจที่อยู่ในเครือด้วย โดยคุณรวิวรเล่าว่า Hytexts มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กับเมพคือเป็นคนกลุ่มคนที่เชื่อในการอ่านแบบออนไลน์ ซึ่งก็เป็นบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกัน จนในปีที่ MEB เริ่มตั้งหลักได้ เราก็เข้าไปลงทุนใน Hytexts ชวนมาอยู่ในบ้านเดียวกัน
ปัจจุบัน Hytexts มีธุรกิจหลัก 3 อย่างคือ
- eBook Store ที่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นจิตวิญญาณเริ่มต้นของผู้ก่อตั้ง
- e-Reader Store ส่วนนี้ Hytexts ทำได้ดี เพราะเป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวในไทยของ Boox แบรนด์เครื่อง e-Reader จากจีน ก็มีขนาดหน้าจอหลากหลาย มีจอสี มีเทคโนโลยีนำหน้าคนอื่นเสมอ นอกจาก MEB ยังมีแอปแยกพิเศษสำหรับการใช้งานบน e-Reader แบบนี้โดยเฉพาะด้วย เพราะผู้บริหารอ่านเครื่อง e-Reader เองจริง ๆ ก็เลยเห็นความจำเป็นที่ต้องดีไซน์แอปเฉพาะ
- Hibrary ระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ เจาะกลุ่มตลาด B2B ต่างจาก MEB ที่เป็น B2C แต่ก็มีการร่วมมือกับ MEB ในหลาย ๆ เรื่อง เช่นการติดต่อพาร์ทเนอร์ เพื่อที่ให้มีคอนเทนต์ใหม่ ๆ ไปเสนอลูกค้าฝั่ง B2B ได้อย่างดี ก็มีการเติบโตอยู่ตลอดนะฮะ
ReadAWrite ต้นน้ำของงานเขียน
นอกจาก MEB แล้ว อีกบริการหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ ReadAWrite แหล่งกบดานใหม่ของผู้ที่รักการอ่านและเขียน ทำไมเมพถึงสร้างบริการรี้ดอะไรท์ขึ้นมา คุณรวิวรตอบเราว่า มันเริ่มต้นจากเราคิดว่าควรจะมีต้นน้ำของงานเขียนในแพลตฟอร์มของเราเอง คือเราทำ MEB มา มันเติบโตได้ดีมีคอนเทนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในภาพของธุรกิจคือเป็นปลายน้ำ เป็นคอนเทนต์เกิดที่อื่น แล้วก็ค่อยเอามาลงขายใน MEB ในฐานะอีบุ๊ก ซึ่งตอนยุคแรกก็มีเว็บต้นน้ำของงานเขียนอื่น ๆ นะ เว็บนิยายอะไรต่าง ๆ แต่เว็บเหล่านั้นยังไม่รู้ตัวว่าเขาสามารถหารายได้จากการขายคอนเทนต์ ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นฟรีแพลตฟอร์มมีทราฟฟิกเยอะ ๆ แล้วก็ขายโฆษณา ทำหน้าที่ตัวเองเป็นสื่อ
เราจึงมองเห็นตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าแพลตฟอร์มเหล่านี้เริ่มทำตัวเองเป็นต้นน้ำ และเริ่มขายคอนเทนต์เอง MEB จะได้รับผลกระทบในฐานะปลายน้ำ เราเลยสร้างต้นน้ำของเราขึ้นมาคือ ReadAWrite ซึ่งหลังจากที่เปิดตัว ก็เป็นจริงอย่างที่คาด เมื่อร้านอื่น ๆ ก็เริ่มขายคอนเทนต์ด้วย แต่ ReadAWrite ก็ทำได้ดีด้วยแนวคิดแบบเดียวกับ MEB แบบคือพยายามใส่ปัจจัยบวก เอาใจใส่ลงรายละเอียด
คุณกิตติพงษ์เล่าเสริมว่า เราอยากให้รี้ดอะไรท์เป็นคอมมูนิตี้ที่สร้างนักเขียนนักอ่านที่ดีโดยที่ไม่ต้องสนใจเรื่องกำไร เอาแค่มันไม่ขาดทุนเลี้ยงตัวเองได้ เน้นว่าให้เป็นแพลตฟอร์มควรจะเป็น มันต้องดีสำหรับนักอ่าน ไม่ใช่แบบเด้งโฆษณาต้องดูวีดีโอ 30 วิไม่เอาเด็ดขาด ส่วนนักเขียน ถ้าเรื่องไหนที่ดูโอเค เราก็เปิดโอกาสให้ขึ้นแบนเนอร์ได้ อยากจะให้เราเชียร์ก็ส่งมาให้เราขึ้นให้ ก็พยายามทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่นักเขียนได้เติบโต
ถ้าเทียบจำนวนผู้อ่าน ReadAWrite มียอดคนใช้งานต่อเดือนมากกว่า MEB สัก 10 เท่า เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่อ่านฟรี
กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
คุณรวิวร เล่าถึงการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 แพลตฟอร์มว่า มีการสร้างสะพานเชื่อมให้ 2 แพลตฟอร์ม มันเข้าถึงกันง่าย อย่างการสมัครสมาชิกใน ReadAWrite สามารถลงงานขายต่อใน MEB ได้เลยหรือว่านักอ่านนักเขียนใน MEB ก็ไปใช้ ReadAWrite ได้เลย แล้วนักเขียนที่ลงเอาผลงานลงไป ReadAWrite สามารถมีลิงก์เพื่อซื้ออีบุ๊กของตัวเองตรงจาก MEB ได้เลย ทำให้ทั้งสองแพลตฟอร์มเป็นพี่น้องกัน ซึ่งประสานการทำงานกันละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ
และอีกสิ่งที่ชัดเจนคือ MEB ขึ้นชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ส่วนแบ่งรายได้ต่อเจ้าของผลงานที่แฟร์ พอเราเปิดตัว ReadAWrite มาเราก็ใช้เรตเดียวกัน ดังนั้นคนพอใจกับ MEB เขาข้ามมาใช้ ReadAWrite สะดวกมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นบรรทัดฐานให้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มลักษณะนี้ค่อนข้างให้ส่วนแบ่งที่โหดร้าย อาจจะ 50/50 หรือบางแพลตฟอร์มเมื่อนานมาแล้ว ให้นักเขียน 30% แล้วแพลตฟอร์มเอาไป 70% แต่ ReadAWrite ให้นักเขียน 70% ตั้งแต่แรก เป็นสิ่งที่เราเข้าใจ Pain Point และตอบโจทย์ตรงนี้
แต่เราจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการตีพิมพ์เป็นเล่ม เพราะเห็นว่าเป็นบทบาทที่สำนักพิมพ์เขาถืออยู่ ทุกวันนี้เรื่องที่อยู่ใน MEB หรือ ReadAWrite ที่ได้รับความนิยม ก็มีสำนักพิมพ์มาเอาเรื่องเหล่านี้ไปทำให้มันกลมกล่อมยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการบรรณาธิการ แล้วก็ตีพิมพ์เป็นเล่ม ซึ่งเราพยายามไม่ไปทับไลน์พาร์ทเนอร์ของเรา ให้ทุกคนทำส่วนที่ตัวเองถนัด สำนักพิมพ์เขาเก่งเรื่องดูแลต้นฉบับ โปรโมทต้นฉบับ คัดเลือกต้นฉบับ ส่วนเรามีความสามารถในการทำแพลตฟอร์ม รู้จุด รู้แหล่งลูกค้า รู้ว่าจะทำอะไรให้ลูกค้าพอใจได้มากที่สุด
อนาคตของ eBook กับหนังสือเล่มจะเป็นยังไง
คุณรวิวรปิดท้ายการสนทนาครั้งนี้ว่า อีบุ๊กกับหนังสือเล่ม ในอดีตมักมองภาพว่าเป็นศัตรู จะต้องมีฝั่งหนึ่งอยู่ ฝั่งหนึ่งตาย แต่ภาพเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว
อีบุ๊กกับหนังสือเล่มต้องเป็นพันธมิตรกัน เพื่อนำวัฒนธรรมการอ่านให้ไปต่อได้
รวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MEB
อีบุ๊กถือเป็นหัวหอกทะลวงฟันเพื่อทำให้พฤติกรรมการอ่านยังอยู่ในโลกที่คนใช้งานดีไวซ์เป็นหลัก เมื่อสมาร์ตโฟน มันทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมได้จบในตัว ถ้าไม่มีสิ่งที่พาหนังสือติดไปได้ สุดท้ายวัฒนธรรมการอ่านก็จะถูกทิ้งหายไป ทั้งหนังสือและอีบุ๊กจึงต้องเสริมกัน บางจังหวะไม่สะดวกอ่านดีไวซ์ หนังสือเล่มก็มีให้อ่าน บางจังหวะหนังสือเล่มติดตัวเราไม่ได้ เอาอีบุ๊กไปก็ยังได้อ่าน
ช่างภาพ: ศักดนัย กลางประพันธ์
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์