รีเซต

[สัมภาษณ์] ฐากูร ชาติสุทธิผล Head of FoodStory POS, LINE MAN Wongnai กับระบบจัดการร้านอาหารครบวงจร

[สัมภาษณ์] ฐากูร ชาติสุทธิผล Head of FoodStory POS, LINE MAN Wongnai กับระบบจัดการร้านอาหารครบวงจร
แบไต๋
10 กันยายน 2566 ( 23:00 )
121

ธุรกิจร้านอาหารถือว่าเป็นธุรกิจที่ใคร ๆ ก็สามารถลงมาเล่นในสนามแข่งขันนี้ได้เช่นกัน แต่จะมีเพียงแค่ไม่กี่ร้านอาหารที่สามารถจูงใจลูกค้าให้มาเป็นขาประจำจากรสชาติอาหารที่ถูกปาก เปิดร้านถูกจังหวะกระแสสังคม และความพิถีพิถันของร้าน

อย่างไรก็ดี สนามการแข่งขันของร้านอาหารในประเทศไทยถือเป็นสนามการแข่งขันที่ดุเดือด ดังนั้นร้านอาหารต่าง ๆ ก็ต้องมองหาระบบที่มาช่วยจัดการบริหารหลังบ้านจวบจนไปถึงหน้าร้าน

และระบบที่กำลังพูดถึงนั้นก็คือ POS (Point of Sale System) หรือระบบขายหน้าร้าน ซึ่งหลายคนอาจเห็นเครื่องมือนี้อยู่หน้าเคาน์เตอร์สั่งอาหารเป็นประจำ ช่วยให้การสั่งอาหารง่ายดายมากยิ่งขึ้น และการจ่ายเงินก็สะดวกเข้ากับยุคสมัยสังคมไร้เงินสด ใช้การสแกนจ่าย โดยเครื่องมือตัวนี้แหละที่เข้ามาทลายระบบร้านอาหารแบบเดิม ๆ ช่วยบริหารจัดการร้านอาหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และวันนี้ beartai ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฐากูร ชาติสุทธิผล Head of FoodStory POS, LINE MAN Wongnai ซึ่งเขาพึ่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ LINE MAN Wongnai สด ๆ ร้อน ๆ และในวันนี้จะมาเจาะประเด็นว่าทำไมร้านอาหารในประเทศไทยต้องปรับตัวกับยุคสมัยใหม่ และเลือกใช้เทคโนโลยีมาใช้ในร้านอาหาร

จุดเริ่มต้นของ FoodStory

ฐากูร : เมื่อ 11 ปีที่แล้วนะครับทีมของพวกเราเริ่มต้นจาก 3 คนได้เห็นปัญหา Pain Point ว่าทำไมในประเทศไทยยังไม่มีระบบบริหารจัดการร้านอาหาร โดยเราก็มีเป้าหมายที่ต้องการสร้างระบบตัวหนึ่งที่สามารถจัดการทั้งหน้าร้าน และหลังร้านได้ครบจบในที่เดียวผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน และแท็บแล็ต

อย่างแรกที่เห็น Pain Point คือ ร้านอาหารส่วนใหญ่เลือกใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสำหรับการจดออเดอร์ โดยที่พนักงานต้องเดินวุ่นภายในร้านทั้งรับออเดอร์ลูกค้า ติดตามออเดอร์ และเก็บเงินลูกค้า ซึ่งรูปแบบการทำงานทั้งหมดก็ต้องมาจมอยู่กับคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องที่มันไม่สะดวกเลยทีเดียว

ถ้ามันจะดีกว่ามั้ยถ้าย้ายระบบต่าง ๆ จากคอมพิวเตอร์ไปอยู่บนหน้าจอสมาร์ตโฟน และแท็บแล็ต ทั้งสามารถรับออเดอร์ส่งตรงไปยังห้องครัว, ติดตามความคืบหน้าออเดอร์ และเก็บเงินในแต่ละโต๊ะได้เช่นกัน ครบจบ All-in-One “นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ FoodStory และผมพร้อมกับทีมงานขอเป็นตัวแทนที่จะมาปฏิวัติวงการธุรกิจอาหารของประเทศไทย

คำถามแรกที่เจ้าของร้านอาหารต้องพบเจอหลังจากเลือกใช้ POS

ฐากูร : เรื่องแรกคือความปลอดภัยที่เขาอาจจะมีความกังวลว่า ก่อนที่จะใช้มาระบบ POS ข้อมูลทุกอย่างก็จะอยู่ภายในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวทั้งหมด แต่พอมาใช้งานระบบ POS ข้อมูลทุกอย่างจะถูกจัดเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ซึ่งอุปสรรคนี้เป็นเรื่องที่ทีมของพวกเราให้ความรู้กับผู้ประกอบการว่า การที่ข้อมูลทุกอย่างอยู่บนระบบคลาวด์จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเมื่อระบบมีการอัปเดตออกฟีเจอร์ใหม่เราก็สามารถส่งมอบให้ผู้ประกอบการได้ทันทีทันใด

คำถามต่อมาคือ การสมัครสมาชิกรายเดือน ที่ผู้ประกอบในสมัยนั้นอาจจะยังไม่คุ้นชินว่าทำไมเราจะต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์รายเดือน หรือรายปี ซึ่งต่อเนื่องกับคำถามก่อนหน้าเมื่อมีฟีเจอร์ใหม่ก็สามารถปล่อยอัปเดตได้ทันที และต้องอธิบายกับเจ้าของร้านอาหารว่า การสมัครสมาชิกในแต่ละขั้นพวกเขาจะได้สิทธิพิเศษสูงสุดคืออะไร และพวกเขาไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสมัครสมาชิกรายเดือนราคาแพงตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งสิ่ง ๆ นี้ก็จะช่วยให้เขาสามารถเติบโตพร้อมกับธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อทุกอย่างคือ ‘ต้นทุน’ ทำไมเจ้าของร้านอาหารต้องเลือกใช้ POS

ฐากูร : ในเรื่องของต้นทุนคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด สมมติว่าอาหารราคา 100 บาท ต้นทุนอาหารก็คิดเป็น 30-35 บาทแล้วนะครับ ฉะนั้นเมื่อต้นทุนของอาหารเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีก็จะส่งผลต่อเรื่องกำไรเป็นอย่างมาก ซึ่งระบบ Inventory Management ของเราก็มาแก้ไขปัญหาเหล่านี้

โดยระบบ Inventory Management เป็นระบบเช็กสต็อก และ​ SKU (Stock keeping unit) ต่าง ๆ อย่างเช่น SKU หนึ่งรายการจะต้องมีการปรุงที่ในหนึ่งเมนูนั้นจะต้องมีการตวงวัตถุดิบเช่น น้ำตาลทราย น้ำปลา เกลือ แล้วเวลานับสต็อกสินค้าหลังร้านส่วนใหญ่จะเช็กแบบเป็นกลุ่มที่ซื้อมาเป็นลังภายใน 1 ลังก็มี 10 ถุง แต่เวลานำไปปรุงเราใช้การตวงด้วยช้อน ซึ่งระบบของเราก็มีความละเอียดที่สามารถเช็คได้ถึงขึ้นการตวงช้อน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตุนสต็อกหลังร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องเติมของมากจนเกินไป และยังช่วยลดปริมาณ Food Waste ได้ภายในตัว

จากผลตอบรับของผู้ประกอบการเจ้าของร้านอาหารพบว่าพวกเขาก็สามารถเพิ่มกำไรได้อยู่ที่ 2-9% ที่ขึ้นอยู่กับว่าเขาจัดการ Food Waste และปริมาณสต็อกได้มากน้อยเพียงได้

ยอด ชินสุภัคกุล Chief Executive Officer of LINE MAN Wongnai และ ฐากูร ชาติสุทธิผล Head of FoodStory POS, LINE MAN Wongnai

FoodStory POS มาอยู่ในชายคาเดียวกันของ LINE MAN Wongnai จะได้เห็นการพัฒนา POS อะไรใหม่ ๆ บ้างในอนาคต

ฐากูร : อย่างแรกเราได้เป็นพาร์ตเนอร์กับ LINE MAN Wongnai มาตั้งแต่ปี 2018 ที่พวกเราได้เรียนรู้ และพัฒนาธุรกิจร่วมกัน หลังจากการมาอยู่ชายคาเดียวกันยิ่งทำให้เราเนี่ยสามารถตัดสินใจได้เด็ดขาด เบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้น และมีเป้าหมายที่ตรงกัน ในก่อนหน้านี้ Wongnai POS ก็มีแพ็กเกจแบบรายวัน และ FoodStory POS ก็จะมีแพ็กเกจรายวันออกมาเช่นกันทำให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถตัดสินใจเลือกใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

ต่อมาคือเรื่องของการเชื่อมต่อ FoodStory POS เข้ากับหลังบ้าน LINEMAN Wongnai อย่างมีประสิทธิภาพเพราะการเชื่อมต่อทำให้ร้านอาหารสามารถเพิ่มรายได้ และยอดขายตาม ๆ กันไป

วิกฤตโรคระบาด ‘โควิด-19’  

ฐากูร : ตั้งแต่การมาของโรคระบาดโควิด-19 พวกเราได้เห็นการเติบโต และการเปิดใหม่ของร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการมาของร้านเปิดใหม่ก็มาพร้อมกับการปิดตัวเช่นกัน ในช่วงปีแรกก็มีการปิดตัวมากกว่า 50% และ 3 ปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นอีก 65% พวกเราก็หวังที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีคู่ค้ากับร้านอาหารทำให้พวกเขาประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

การมาของโรคระบาดทำให้เรายิ่งพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาคือเรื่องการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด ลดการสัมผัสคือการสแกน QR Code พร้อมเพย์ เพียงแค่เปิดแอปธนาคาร และสแกนจ่ายเงิน นอกจากนี้ก็มีการพัฒนาของการสั่งอาหารรูปแบบใหม่ สั่งอาหารผ่านเมนูเว็บไซต์ลูกค้าสั่งอาหารเข้าตรงไปที่ห้องครัว ลดภาระของพนักงาน ให้พนักงานสามารถทำงานบริการอื่น ๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และลดข้อผิดพลาดของการรับออเดอร์

การพัฒนาฟีเจอร์ที่กล่าวข้างต้นก็ทำให้ลดการสร้างขยะภายในร้าน และบิลใบเสร็จก็อยู่ในรูปแบบ Paper less มากขึ้น

การมาของ ‘แอปเป๋าตัง และโครงการคนละครึ่ง’

ฐากูร : ตอนที่รัฐบาลได้ประกาศโครงการคนละครึ่งออกมาเราก็ได้มีการเชื่อมต่อระบบหลังบ้านอย่างเบ็ดเสร็จในเวลาอันสั้นสนองความต้องการของเจ้าของร้าน และลูกค้า ผลตอบรับทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมียอดขายมากกว่าร้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

และเราก็ดีใจมาก ที่เทคโนโลยีของเราสามารถทำให้ร้านอาหารทั่วประเทศสามารถผ่านวิกฤต
มาได้

คิดยังไงกับเทรนด์​ AI และคิดจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้งานไหม

ฐากูร : ในมุมมองของ AI เรายังมีความกังวลเรื่องของข้อมูลร้านอาหารต่าง ๆ เพราะข้อมูลของบางร้านอาหารส่งผลต่อ Engagement ระหว่างพนักงาน และลูกค้า ซึ่งการนำ AI มาใช้อาจส่งผลให้การตอบรับ Engagement ลดลง และข้อกังวลของเรื่อง Data Privacy ในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่หนึ่งที่เราได้ใช้งาน AI คือแสดงเรื่องสุขภาพร้านอาหารควรจะปรับตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และให้คำแนะนำเสริมเข้าไป พร้อมกับให้ AI ช่วยให้คำแนะนำเมนูร้านอาหารยอดนิยมเพื่อเพิ่มยอดขาย

มองเห็นภาพในอีก 5-10 ปีของธุรกิจร้านอาหารเปิดใหม่ภายในประเทศไทยยังไงบ้าง

ฐากูร : พวกเราไม่ได้มองภาพอนาคต 5-10 ปีเอาไว้ชัดเจนสักเท่าไหร่ เพราะว่าธุรกิจของร้านอาหารภายในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีเรื่องใหม่ ๆ ให้ท้าทายอยู่เป็นประจำ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือ วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โดยเราได้วางแผน และพัฒนาระบบใหม่ ๆ ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์แบบไม่คาดคิดในอนาคต เพื่อรองรับปัญหาของร้านอาหารบางร้านที่อาจปรับตัวไม่ทัน

ผมให้นิยาม 3 คำสำหรับคนเริ่มต้น Startup ต้อง ถึก ดื้อ และด้าน

FoodStory POS มีจุดเริ่มต้นจากบริษัท Startup มีมุมมอง หรือประสบการณ์ที่อยากจะแชร์บ้างไหมครับ
เพราะคุณต้องเผชิญกับชาเลนจ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น มีทีมงานจำกัด เงินทุนจำกัด จากผลสำรวจในสหรัฐฯ Startup มากกว่า 90% ต้องปิดตัวลง มีเพียงแค่ 10% ที่อยู่รอดช่วงเริ่มต้น ซึ่งพวกคุณต้องมีแรงจูงใจ และมีความดื้อในการพัฒนา Solution ออกมาให้ได้เพราะ “เรานั้นกำลังนำพาสิ่งใหม่ ๆ สู่สายตาชาวโลก

ซึ่งในความดื้อเนี่ยจะช่วยให้เราเนี่ยมีวิสัยทัศน์ตรงกับตอนแรกที่เราวางเอาไว้ นอกจากนี้เราก็ต้องรับฟังคำแนะนำจากคู่ค้าธุรกิจที่เราทำงานร่วมด้วย

จากประสบการณ์การทำ FoodStory POS เราก็ได้พาร์ทเนอร์ที่ดีจากคู่ค้าร้านอาหารชั้นนำของประเทศไทย ทำให้เรามีความรู้ และความเข้าใจธุรกิจอาหารที่มีสาขา และมีพนักงานหลักร้อยทำให้เราได้รับคำแนะนำไปสร้าง Core Product ออกมาจนถึงปัจจุบัน “สำหรับคนเริ่มต้นสตาร์ตอัพควรจะรับคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด” เพื่อนำมาปรับปรุง และมาเป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง