รีเซต

[สัมภาษณ์] Work-Life Balance เวอร์ชันที่ดีที่สุดของ ปิว-ธีรภัทร มาฤาษี ทาเลนต์ Madan และ Lamonade

[สัมภาษณ์] Work-Life Balance เวอร์ชันที่ดีที่สุดของ ปิว-ธีรภัทร มาฤาษี ทาเลนต์ Madan และ Lamonade
แบไต๋
15 กรกฎาคม 2566 ( 20:54 )
25

ปิว ธีรภัทร มาฤาษี เป็นคนอายุ 30 ปีที่ทำงานหลายอย่างจนไม่น่าเชื่อว่านี่คือโปรไฟล์ของคน ๆ เดียว ทั้งงานประจำในออฟฟิศ ที่เริ่มต้นจากงานด้านการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ก่อนจะข้ามมาทำงานด้าน E-Commerce กับแอปพลิเคชันชั้นนำ รวมทั้งงานเสริม ทั้งการเป็นครูสอนติวเตอร์ภาษาอังกฤษ รวมทั้งยังทำงานในฐานะยูทูบเบอร์ในแชนแนลส่วนตัว Pewiimar

ยังไม่นับรวมการเป็นพิธีกรงานอีเวนต์สายวายที่ได้รับคำชื่นชมจากแฟนคลับไม่แพ้กับตัวศิลปิน และรวมถึงการก้าวเข้ามาเป็นทาเลนต์ของ Madan และควบตำแหน่งครีเอทีฟให้กับ Lamonade อีก แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนย่อมสงสัยระหว่างบรรทัดก็คือ จุดเริ่มต้นของการทำงานหลากหลายของตัวเขาเริ่มมาจากไหน และทำงานหนักขนาดนี้ หลายคนย่อมสงสัยว่าเขาเองมีวิธีการจัดการเวลา แบ่งเวลาในการทำงานและพักผ่อนอย่างไรไม่ให้เบิร์นเอาต์ไปเสียก่อน


อัปเดตหน่อยว่าตอนนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่บ้าง

ถ้าเอางานที่ปิวทำในปัจจุบันจริง ๆ ต้องบอกว่ามีส่วนทั้งที่เป็นงานประจำค่ะ แล้วก็มีงานเบื้องหน้าด้วย ส่วนที่เป็นงานประจำก็จะอยู่ในอุตสาหกรรม Tech ที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ค่ะ แต่ถ้าเป็นงานเบื้องหน้าก็คือการเป็นพิธีกรของ Madan ที่ปิวทำก็จะเป็นคอนเทนต์ที่มีชื่อว่า ‘Just Why’ เป็นแนว Reaction หรือ Recap ซีรีส์

แล้วก็จะมีอีกส่วนก็คือการเป็นพิธีกรใน Live ประจำทุกเดือนค่ะ เวลามีศิลปินมาถ่ายแบบ ส่วนของเบื้องหลังก็จะรับหน้าที่ในการเป็นทาเลนต์ และครีเอทีฟของ Lamonade คอยช่วยดูแลคอนเทนต์ของน้อง ๆ ที่เป็นทาเลนต์ของ beartai ทุกคน คอยดูให้ว่าแต่ละคนเหมาะจะทำอะไร ประมาณนี้ค่ะ

ที่พอทราบข้อมูลมาคือ โปรไฟล์การทำงานของคุณถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว คุณเข้ามาในวงการ Tech ได้อย่างไร

ต้องเล่าก่อนว่า ประสบการณ์ 4 ปีแรกที่ปิวเข้ามาทำงานในวงการนี้ก็คือจะเป็นการดูแลในส่วนของการตลาดสินค้าพวกอุปโภคบริโภค FMCG (Fast Moving Consumer Goods) แล้วต่อมามันเริ่มมีเทรนด์ของการสั่งสินค้าออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ปิวก็เลยรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันใกล้ตัวปิวมากกว่า ก็เลยย้ายไปทำงานด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ Tech ค่ะ ซึ่งที่แรกก็คือ Lazada ซึ่งสิ่งที่เราทำ พอมันเป็นสิ่งที่ทำอยู่บนออนไลน์ ในที่ที่คนจะได้ใช้ในสิ่งที่เราคิดขึ้นมา เป็นสิ่งที่เราทำปุ๊บแล้วเห็นผลทันทีเลย มันก็เลยเป็นสิ่งที่สนุกและก็มีความเป็นตัวเรา หลังจากนั้นก็ยังวนเวียนอยู่กับ E-Commerce มาตลอดค่ะ

ในวงการ E-Commerce คุณทำหน้าที่อะไรบ้าง และอะไรคือความสนุกที่คุณพูดถึงเมื่อครู่

พาร์ตที่ปิวดูแลเกี่ยวกับ E-Commerce หลัก ๆ เลยก็คือการคิดสิ่งที่เรียกว่าเป็น Campaign Marketing ค่ะ ซึ่งสิ่งที่ทำก็จะเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยเห็นนี่แหละ เช่นพวก 11.11, 9.9 หรือ Payday ง่าย ๆ ก็คือเวลาที่ทุกคนเห็นมหกรมลดราคา นั่นคือสิ่งที่ปิวทำ ก็คือจะต้องคิดว่าจะสื่อสารกับลูกค้ายังไง กลยุทธ์การตลาดจะทำอะไร จะมีอะไรที่เป็นตัวดึงลูกค้าเข้ามาใช้งานในแพลตฟอร์มของเรา

ความยากก็คือ ในวงการ Tech หรือ E-Commerce จะต่างจากบริษัททั่วไปก็คือมันต้องเร็ว และแต่ละฟังก์ชันต้องทำงานเยอะ ถ้าอยากจะทำแบบนี้ จะมีคนหาโปรโมชันให้เราไหม จะทำสินค้าลดราคา 9 บาท มีสินค้ามากพอให้ทำหรือเปล่า ร้านค้าสามารถทำได้ไหม ทุกอย่างมันจะเชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่แค่ว่าเราอยากทำสิ่งนี้แล้วมันจะเกิดขึ้นได้เลย เราเลยต้องคุยกับแต่ละฝ่ายเพื่อให้สิ่งที่เราทำมันเกิดขึ้นได้จริง ๆ

อีกความยากก็คือ ถ้าเอาช่วงปี 2020 ที่เป็นช่วงโควิด สังเกตได้เลยว่าพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นความยากในปัจจุบันก็คือ พอโรคระบาดเริ่มน้อยลง คนเริ่มกลับมาซื้อของแบบออฟไลน์ คำถามคือแล้วคนจะยังซื้อของออนไลน์อยู่ไหม หรืออะไรกันแน่ที่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนยังซื้อออนไลน์ เพราะราคาเหรอ หรือเพราะมีของให้เลือกมากกว่า หรือเพราะว่าไม่ต้องออกจากบ้านเหรอ หรือจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่เทรนด์ของโควิด แล้วถ้าคนออกไปซื้อของนองบ้านแล้ว เราจะรักษายอดไว้ได้ยังไง มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ E-Commerce ในปี 2023 ค่ะ

ย้อนถามไปตอนเด็ก ๆ หน่อยว่าคุณเป็นคนแบบไหน

ตอนเด็ก ๆ ปิวว่าตัวปิวเองเป็นคนที่กล้าแสดงออก แต่ไม่มั่นใจ หมายถึงว่ามันอาจจะไม่ได้มีเวทีให้เราแสดงออกมากมาย หรือไม่ได้มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง จริง ๆ ตัวปิวเองเป็นเด็กกิจกรรม ถ้าเอาตั้งแต่ประถมก็คือ ปิวเคยอยู่วงโยธวาทิตมาก่อน เล่นฟลุต เล่นแซกโซโฟน เพราะเห็นคนอื่นทำกิจกรรมแล้วรู้สึกสนุก พออยู่วงโยธวาทิตได้ 2 ปีก็ลองขยับไปอยู่วงขับร้องประสานเสียงของโรงเรียน เพราะว่าตอนนั้นชอบร้องเพลง

อยู่ได้ประมาณสัก 3 ปีก็รู้สึกว่าเสียงเริ่มเปลี่ยน ก็เลยลองหาอะไรที่เหมาะกว่า ก็เลยไปอยู่ในวงดนตรีไทย ไปเล่นขิม เหมือนเป็นคนที่ชอบหากิจกรรมเสริมของตัวเอง สร้างเวทีแสดงออกให้ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ อะไรแบบนี้ค่ะ ถ้าสังเกตก็คือ ปิวมักจะไม่ค่อยมีเวทีไหนที่ปิวแสดงแบบเดี่ยว ๆ แต่มักจะเป็นกลุ่ม ๆ แต่ถ้าเป็นงานเดี่ยว ๆ มันจะมีความรู้สึกไม่กล้า

ลึก ๆ ปิวเป็นคนที่อยากแสดงออกนะ แต่ว่าพอปิวอยู่โรงเรียนชายล้วน มันก็เลยไม่ค่อยมีเวทีให้กับปิวมากขนาดนั้น เหมือนพอเห็นเราเป็นแบบนี้ เขาก็จะคิดว่าเป็นตัวแทนของโรงเรียนที่อาจจะไม่เหมาะที่จะคัดเลือกไป มันก็จะดูขัดแย้งเหมือนกันว่า สิ่งที่เราทำก็มีครูคอยสนับสนุนอยู่ แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้สนับสนุนด้วย ก็เลยมีความกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่ แต่พอมีความเปิดรับมากขึ้น มันก็ค่อย ๆ ทลายกำแพงตรงนี้ลงไป

คุณบอกว่าตัวเองชอบเวทีเล็ก ๆ เคยคิดอยากลุยเวทีใหญ่ ๆ บ้างไหม

มีค่ะ ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ปิวอยู่วงขับร้องประสานเสียง ก็มีครูที่เชียร์ให้เราไปประกวดร้องเพลง แต่ตอนนั้นก็ยอมรับว่ามันอาจจะยังไม่ได้มีเวทีที่เปิดกว้างขนาดนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องของบุคลิกด้วย ก็เลยไม่ได้ไป ปิวก็เลยโฟกัสที่จะไปเวทีที่โฟกัสด้านความสามารถจริง อย่างตอน ม.5 ปิวได้ไปแข่งตีขิมกับรายการคุณพระช่วย สมัยที่เขามีช่วงคุณพระประชัน ก็ได้เป็นตัวแทนของศูนย์วัฒนธรรมไปแข่งขัน ซึ่งมันเป็นอีกจุดหนึ่งทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ามองกันที่ความสามารถก็น่าจะพอไปได้ แต่สมัยนี้ก็ถือว่าเปิดกว้างมากกว่าสมัยนั้นมาก ๆ แล้วค่ะ

เหมือนคุณเป็นคนที่ทำอะไรหลากหลายมาก ลึก ๆ คุณชอบกิจกรรมไหนมากที่สุด หรือมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นอะไรมากที่สุด

จริง ๆ ปิวเป็นคนที่ไม่ได้มีความฝันตายตัวอะไรขนาดนั้น เหมือนเป็นคนที่พยายามหาตัวตนของตัวเองไปเรื่อย ๆ ตอนปี 1 ปิวก็เคยเป็นติวเตอร์สอนหนังสือ แล้วก็เป็นต่อมาประมาณ 7-8 ปี ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็ชอบทำสันทนาการ เป็นประธานค่าย แล้วก็มาเป็นพิธีกรอีเวนต์ ทำงานที่เกี่ยวกับการพูด จนมาตกผลึกว่าจริง ๆ แล้วปิวเองเป็นคนชอบเรื่องที่เกี่ยวกับการพูด

ลึก ๆ ปิวอาจจะไม่ได้เป็นคนชอบการสอนหนังสือขนาดนั้น แต่ปิวชอบตรงที่มันทำให้เราใช้ทักษะการพูดที่ทำให้คนฟังเราได้ ในขณะที่การเป็นพิธีกร ทำสันทนาการก็ใช้การพูดของเราให้เป็นประโยชน์เหมือนกัน ปิวก็เลยชอบงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการพูด งานเสริมที่ปิวทำก็เลยไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับงานออฟฟิศ แต่เป็นงานที่เหมือนเข้ามาเติมเต็มให้กับเรา หรือจริง ๆ การที่ปิวได้เข้ามาทำงานออฟฟิศส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีคนที่เห็นทักษะด้านการนำเสนอของเรา

คุณทำงานด้านการพูด แล้วตัวคุณเองเป็นคนพูดเก่งแค่ไหน

ต้องบอกแบบนี้ค่ะ ด้วยความที่ปิวเองเป็นคนที่มีภาวะผู้นำค่อนข้างสูง ทุกคนก็จะชอบเรียกเราว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งเราก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น แต่ด้วยบุคลิกของเราที่เป็นคนกล้าพูด มีความมั่นใจที่จะพูด ภาพของเราที่ออกไปก็เลยเป็นแบบนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่ไม่เขินอายเวลาพูดกับคนในกลุ่ม อะไรแบบนี้ แต่พอเวลาต้องพรีเซนต์หน้าห้องเรียนตอนเด็ก ๆ ก็จะมีอาการเขิน ๆ บ้างเวลาอยู่กับคนหมู่มาก เหมือนแกล้งอาย แต่จริง ๆ เราก็ทำได้

แล้วคุณมาทำอาชีพพิธีกรได้อย่างไร

ถ้างานพิธีกรงานแรกจริง ๆ จะเป็นงานเล็ก ๆ เลยค่ะ ก็คืองานที่คณะ เป็น MC ของงานต่าง ๆ ที่คณะ เช่oงานไหว้ครู งานจบการศึกษา ถ้างานแรกเลยก็คงเป็นงานไหว้ครูของทั้งคณะตอนปี 2 ซึ่งเป็น MC 2 ภาษา ปิวก็จะรับหน้าที่พูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็ไม่ได้เงินอะไร แม้ว่าจะตื่นต้น เพราะว่าเป็นงานใหญ่ มีคนในงานประมาณ 200 คน

แล้วก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นทางคณะบดี บราเดอร์ร่วมในงานด้วย แต่เขาก็คงเห็นว่าจะควบคุมทุกอย่างได้ เราไม่ได้เป็นคนหิวสปอตไลต์ แต่ว่าพอได้ยินเสียงปรบมือ หรือมีคนชอบในสิ่งที่เราทำ มันก็ทำให้เราความสุข หรือตอนที่เราเป็นติวเตอร์ ความสุขของปิวไม่ใช่แค่สอนแล้วเขารู้เรื่อง แต่คือการที่เด็กเดินมาบอกว่า ขอบคุณนะที่ทำให้เขาสอบผ่าน

สิ่งที่คุณกลัวที่สุดในการเป็นพิธีกรคืออะไร

ปิวคิดว่ามี 2 อย่าง นั่นก็คือการไม่ฟัง เพราะปกติพิธีกรจะต้องเป็นคนสั่งการให้งานนั้นเป็นไปได้ด้วยดี แต่ว่าจะมีพิธีกรบางประเภทที่เน้นพูด ชอบพูด เน้นเอนเตอร์เทนคน แต่ไม่ได้ส่งเสริมงานหรือศิลปิน เพื่อให้งานมันดูกลมกล่อม อันนี้คือสิ่งที่ปิวน่าจะไม่ทำ อีกเรื่องคือกลัวในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่นคิวเปลี่ยน หรือการจัดการงานที่ไม่ดี บางทีเราเป็นพิธีกร เราก็จะรู้สึกว่าต่อให้เราเตรียมตัวมาดีแค่ไหน แต่การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนหน้างานก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากลัว มันทำให้งานที่ปิวจะทำต่อไปมันแอบยากนิดหนึ่ง

การเป็นพิธีกรสายวายเป็นหลัก มันยากง่ายหรือมีเสน่ห์กว่างานอีเวนต์อื่น ๆ บ้างไหม

ปิวใช้คำว่ามันมีลักษณะเฉพาะของแต่ละคู่ก็แล้วกันค่ะ เพราะถ้าเปรียบเทียบสมัยก่อนถ้าต้องเป็นพิธีกรที่มีคู่ดาราทีวีดัง ๆ มันก็จะมีเรื่องที่เขาอยากชูจุดเด่นขึ้นมา แล้วก็มีเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่พอเป็นดาราคู่วายหรือคู่จิ้น ก็จะเป็นบทบาทสมมติที่แฟน ๆ จิ้นหรือสร้างกันขึ้นมา ความพิเศษก็อยู่ตรงที่แฟนคลับของแต่ละคู่ก็จะมีความคาดหวังที่ไม่เหมือนกัน

เพราะบางคู่ก็จะชอบให้ชง ให้หอมแก้ม ให้จิ้มแก้ม ในขณะที่บางคู่ถ้าทำแบบนี้ แฟนคลับอาจจะไม่ชอบ เพราะการจิ้นของเขามาจากซีรีส์ แต่ถ้าจะเกิดขึ้นบ้างก็ให้มองเป็น Magic Moment อยากให้เกิดขึ้นมาเอง แต่เธอเป็นพิธีกร เธอไม่ต้องไปชงให้เขา ถ้ามันจะเกิดเดี๋ยวมันจะเกิดเอง แต่ละคู่จะมีข้อควรระวัง จุดเด่น จุดสังเกตที่ไม่เหมือนกัน

เพราะปิวเคยเจอบางคู่ที่ให้ชงหนัก ๆ เลย แฟนคลับถึงจะชอบ แต่ถ้าไม่ชงเลย แฟนคลับก็จะถามว่า ทำไมพิธีกรไม่ทำหน้าที่เลย แต่อีกคู่พอชงเยอะ แฟนคลับก็จะบอกว่าชงเยอะไป พอได้แล้ว ศิลปินไม่อยากทำแล้ว เหมือนเราไปบังคับเขา เป็นสิ่งที่ปิวมองว่ามันต่างจากดาราแมส ๆ ที่ความต้องการของคนดูมีความคล้าย ๆ กัน

แล้วการเป็นพิธีกรให้ความสุข เติมเต็มอะไรกับคุณได้บ้าง

สำหรับปิว การเป็นพิธีกรมันให้ความสุขทางใจ วันหนึ่งปิวคาดหวังนะว่างานพิธีกรจะเป็นงานหลักของปิวได้ แต่ว่าตอนนี้อาจจะยังเป็นแค่ก้าวแรก ๆ เพราะตอนนี้ปิวก็ 30 แล้ว ถ้าเทียบกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่มีความสามารถ หรือเริ่มหาโอกาสได้ตั้งแต่เด็ก ๆ ก็อาจจะถือว่าช้ากว่าแหละ แต่เราก็สู้นะ แต่ว่าสิ่งที่ให้กับเราได้ก็คือการเติมเต็ม

หรืออย่างงาน MC ที่ก่อนหน้าปิวไปเป็นพิธีกรในงานอีเวนต์คอนเสิร์ตที่เราต้องแปล 2 ภาษาให้เขา ก็มีอินเตอร์แฟนเดินเข้ามาขอบคุณที่เราช่วยแปลให้ เพราะถ้า Fan Meeting ที่ไทยไม่ได้แปลให้เขา เขาก็ไม่เข้าใจ อย่างเช่นโปรเจกต์ล่าสุดที่เป็นพิธีกร 2 ภาษา เพราะว่าในงานมีอินเตอร์แฟนครึ่งหนึ่ง ก็ประทับใจเหมือนกัน แม้ว่าตอนรันงานจะมีปัญหา

ด้วยความที่เราทำการบ้านมาระดับหนึ่ง รู้ว่าแฟนคลับต้องการอะไร วันนั้นก็เลยมีคนเข้ามาถ่ายรูปกับเราด้วย บางคนมาขอกอด พอเข้าไปเช็กในโซเชียล มีคนแท็กมาขอบคุณ บอกว่าชอบมาก หวังว่างานหน้าจะเจอกันอีก เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้เขารู้สึกเติมเต็มได้ ก็ แล้วเราเองก็รู้สึกเติมเต็มไปด้วยนะ

การเป็นพิธีกรอาจจะไม่ได้มีแฟนคลับ แต่ว่าทุกครั้งที่เขาพูดถึงเรา เช่นบอกว่า ขอบคุณนะคะ งานวันนี้สนุกมากเลย ไว้งานหน้าเจอกันใหม่นะ คือเขาไม่ได้ชื่นชมเราในฐานะศิลปินน่ะ แตเขาชื่นชมในฐานะที่เขาซัปพอร์ต ส่งเสริมศิลปินให้โดดเด่นมากขึ้น หรือทำให้งานวันนั้นมันดี ปิวรู้สึกว่าคำพูดพวกนี้แหละมันเติมเต็มเรา เป็นกำลังใจให้เราทำต่อไป เป็นจุดที่ทำให้รู้ว่าปิวยังคงอยากทำงานตรงนี้อยู่

เข้าเรื่องการทำงานบ้าง ด้วยความที่คุณทำงานเยอะแยะขนาดนี้ คุณมีวิธีการแบ่งเวลายังไงให้ลงตัว

จริง ๆ ปิวคิดว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดีด้วยแหละที่ทางบ้านเข้าใจว่าเราทำงานค่อนข้างเยอะ เขาก็เลยอาจจะไม่ได้มาจู้จี้กับเรา ภาพที่หลายคนมองปิวภายนอกก็คือคนที่จัดการเวลาได้ดีทั้งงานประจำแล้วก็อีเวนต์ อาจจะเพราะว่าตัวเราเองไม่ค่อยชอบปล่อยเวลาให้ว่าง เวลาจะมีคลิปออนแอร์ ปิวอยู่บน BTS ก็ตรวจได้เลย ทุกช่วงที่ไม่ได้ปล่อยเวลาเฉย ๆ ก็จะเอามาใช้ทำงานให้ครบ แต่ก็จะมีว่าบางทีงานบ้านก็ไม่ได้ทำ เสื้อผ้าก็ไม่ได้ซัก ก็ใช้วิธีฝากคนอื่นซักไป ซึ่งคนอื่นก็อาจจะยังจำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่ปิวก็ขอทางบ้านว่า ขอทิ้งพาร์ตตรงนี้ไปเลย

คุณเคยมีอาการเหนื่อย แบบว่าอยากพัก อยากปล่อยหัวโล่ง ๆ บ้าง อะไรแบบนี้บ้างไหม

มีค่ะ จริง ๆ ปิวเองเป็นคนที่ไม่ชอบเที่ยว คือหมายถึงว่า ถ้าวันไหนรู้สึกเหนื่อย ก็จะขอนอนอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะว่าการเที่ยวมันก็เหนื่อย การออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมอะไรมันก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่ว่าเดี๋ยวนี้ปิวพยายามจะใช้ชีวิตแบบสุขนิยมมากขึ้น หมายถึงว่า ถ้าเหนื่อยก็พัก เอาเท่าที่ไหว เพราะว่าแต่ก่อนปิวทำงานเยอะมาก สมัยก่อนตอนที่ยังไม่ได้เป็นพิธีกร ทำงานประจำเสร็จก็ไปสอนหนังสือต่อ 6-7 วันต่อสัปดาห์ มันจะมีช่วงหนึ่งที่ทำงานโหมมากจนถึงขั้นเข้า ICU ไปเลย

วันที่เข้าโรงพยาบาลถือเป็นคำตอบที่ถามตัวเอง เหมือนที่คนพูดว่า ทำงานหนักเพื่อสุดท้ายเอาไปให้หมอ ซึ่งปิวไม่เคยเข้าใจประโยคนี้เลยจนต้องนอนไอซียู แล้วก็ถามตัวเองว่า ฉันมาทำอะไรตรงนี้นะ ทุกวันนี้ก็เลยต้องยึดหลักว่า เอาเท่าที่ไหว แล้วจัดการตารางตัวเองดี ๆ ทุกเช้าปิวตื่นขึ้นมาก็จะต้องลงตารางในปฏิทิน ขนาดนอนปิวยังลงไว้เลย อย่างน้อยให้มันได้เตือนเราว่า ถึงเวลานอนของเธอแล้วนะ ถ้าเธอจะต่อโอทีจะยังไงต่อ

เหมือนคุยกับตัวเองตลอด ถ้าจะรับงานเพิ่มก็ดูตาราง แล้วก็คุยกับตัวเองว่าไหวไหม ถ้าแน่นก็ไม่รับ มันเป็นการจัดการในรูปแบบที่อาจจะดูค่อนข้างเคร่งกับตัวเอง บางทีตั้งเวลานอนเที่ยงคืน แต่บางทีก็เลต ตี 1 ตี 2 แต่อย่างน้อยเราก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น

แล้วในแง่สุขภาพใจล่ะ คุณเคยทำงานถึงขั้น Burn Out บ้างไหม

ไม่ถึงขั้นนั้นค่ะ เพราะตัวปิวเองไม่เคยให้ตัวเองไปถึงขั้นนั้น สมมติว่าไปถึงขั้นนั้น แบบที่ต้องกรี๊ดออกมา เราก็คงต้องย้ายออกมา เพราะเราคงเปลี่ยนองค์กรไม่ได้ เพราะเราก็เป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ แต่ตัวเราเองทำได้ ถ้าไม่เปลี่ยนตัวเองก็ต้องเปลี่ยนสถานที่ไปเลย หรือถ้าเป็นงานอื่น ๆ ที่เรารับมา ก็ไม่ถึงกับ Burn Out เพียงแต่ว่าถ้ามันเยอะไปก็จะลดงานลงมาหน่อย

และได้ทำงานที่ชอบด้วย

ใช่ พอเราได้ทำงานที่ชอบ จริง ๆ ชอบแหละ แต่ก็เหนื่อย (หัวเราะ) แต่ว่ามันเป็นความเหนื่อยที่มีจุดประสงค์ อย่างเช่นเป็นพิธีกรอีเวนต์ตั้งแต่ 8 โมงถึง 2 ทุ่ม พอกลับบ้านมาเราก็อิ่มใจ เหมือนเป็นแรงให้ทำงานในวันพรุ่งนี้ต่อ ปิวเป็นคนให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่เราทำ

มีประโยคที่บอกว่า ถ้าได้ทำงานที่ชอบแล้ว ก็จะเหมือนไม่ได้ทำงานไปทั้งชีวิต คุณคิดอย่างไรกับประโยคนี้

จริง ๆ ปิวก็รู้สึกแบบนั้นแหละ เพราะอย่างก่อนที่ปิวจะเข้ามาเป็นพิธีกร หรือทำเบื้องหลังให้กับ Lemonade ให้กับน้อง ๆ ปิวทำเกินหน้าที่ตลอด ไม่เคยบอกว่าทำไมฉันได้เงินเท่านี้ ทำไมไม่มีคนช่วยฉันเลย เพราะว่ามันสนุก และเป็นสิ่งที่เราอยากทำทำมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ปิวอยากเรียนนิเทศมาก แต่ว่าที่บ้านก็ไม่ค่อยมั่นใจการเรียนของเราเท่าไหร่

แต่พอมาทำตรงนี้ มันเหมือนเป็นการเติมความฝัน เติมความสุข ก็อาจจะจริงที่ทุกวันนี้ปิวเหมือนไม่ได้ทำงาน แต่เหมือนเป็น To do list ที่ปิวต้องจดว่าวันนี้ตื่นมาจะทำอะไรบ้าง ปกติจะชอบมีคนบอกว่า ฉันไม่รักวันจันทร์ ฉันรักวันศุกร์ ปิวไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย เพราะว่าตั้งแต่ทำงานมาปิวทำงานทุกวันไม่เคยหยุด ถ้าวันไหนหยุดก็แค่พักผ่อนนอนเฉย ๆ

คุณในฐานะที่มีประสบการณ์การทำงานมาประมาณหนึ่ง มีอะไรอยากแนะนำคนทำงานบ้างไหม เพื่อหลีกเลี่ยงการเบิร์นเอาต์ หรือความตึงเครียดต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงาน

สำหรับคนทำงาน ปิวว่าน่าจะเป็นเรื่องของการจัดการความรู้สึก เพราะปิวเองก็เป็นคนที่มีคนโทรมาปรึกษาเรื่องนี้มาก เรียกได้ว่าเป็นหมอหรือจิตแพทย์เลยก็ว่าได้ เพราะว่าทุกคนเห็นเราใช้ชีวิตในการทำงานที่มีความสุข การทำงานเป็นไปได้ด้วยดี เลยโทรมาปรึกษาเราว่าจะทำยังไง ถ้าถามว่าทำไมปิวพูดถึงเรื่องการจัดการความรู้สึก เพราะว่าตัวปิวเองไม่เคยโทรไปปรึกษาใคร เพราะปิวคิดว่าเวลาโทรไปปรึกษาใคร มันจะเกิดกำแพงบางอย่างที่ต่อให้เขาอยากจะช่วยให้คำแนะนำเรานั่นแหละ แต่เรามักจะเล่าไม่หมด

มันยากมากที่เราจะเล่าทุกอย่างในใจ ในความคิดของเราออกมาให้คนหนึ่งฟัง แม้เราจะบอกว่า เธอฟังให้จบก่อนแล้วค่อยให้คำปรึกษา แต่สุดท้ายสิ่งที่เราเล่ามันก็ไม่เหมือนกัน เพราะบางทีเราก็ไม่ได้สบายใจที่จะเล่าให้เขาฟัง 100% เพราะบางคนก็ยังกลัวการตัดสินจากคนอื่นอยู่ดี เราอยากให้เขาเล่าให้ฟังจากมุมมองของเรา อยากจะได้ยินคำแนะนำที่เราอยากให้เขาพูด

สิ่งที่ปิวแนะนำได้คือ ให้พูดกับตัวเอง ปิวเป็นคนพูดกับตัวเองเยอะมาก ไม่ต้องพูดหน้ากระจกก็ได้ ปิวว่าอันนั้นอุดมคติไปหน่อย (ยิ้ม) แค่พูดกับตัวเองลึก ๆ ในใจ นอนบนเตียงแล้วก็ถามว่า วันนี้เหนื่อยไหม ถ้าเหนื่อยก็พักผ่อน เป็นการถามกับตัวเราเองว่าเรารู้สึกยังไง หนักไปไหม เบาไปไหม เพราะถ้าเราเจอตรงไหนที่ Toxic เราก็จะได้คำตอบ ถ้าเราถามคนอื่น ซึ่งบางทีเรามีคำตอบในใจแล้วแหละ แต่แค่ไม่มั่นใจในคำตอบเฉย ๆ

ทุกวันนี้ถามว่าปิวมีเรื่องเครียดหรือเศร้าไหม ก็มี แต่หลังจากที่เข้าไอซียู ปิวรู้สึกว่าชีวิตมันสั้นมาก ทุกวันนี้เลยใช้วิธีการนอน ถ้าเหนื่อยก็แค่นอน พยายามไม่ไปฝืนหรือทำอะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราจริง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ละเลยหน้าที่นะคะ แต่หมายถึงว่าเราต้องมีการจัดการลำดับความสำคัญในสิ่งที่เราจะต้องทำ ก็ลองดูว่า ถ้าไม่ทำสิ่งนี้แล้วพรุ่งนี้ยังไม่ตาย ก็พักเถอะ

ปิวว่าบางครั้งการระบายมันก็ดี แต่บางครั้งมันก็เหมือนราดน้ำมันเข้ากองไฟ ถ้ายิ่งทำสิ่งนั้นมันอาจจะทำให้ไฟยิ่งร้อนกว่าเดิม ปิวเลยเลือกที่จะคุยกับตัวเอง คุยกับกำแพง อย่างน้อยคำพูดที่ไม่ดีก็จะได้ไม่ไปอยู่กับใคร เพราะขนาดเราเป็นคนฟังคนอื่น บางทีเราก็ยังเครียดไปด้วยเลย เราเลยไม่มั่นใจว่าคนอื่นจะพร้อมมารับความเครียดของเราด้วยมั้ยนะ

หลังจากที่นอนไอซียูวันนั้น ปิวเลยรู้สึกว่าไม่อยากให้เรื่องไม่ดีไปตกที่ใคร แต่ปิวก็ยังรับฟังได้ เพราะว่าก็มีบางคนที่ยังอยากระบายจริง ๆ แต่คนที่โทรมาก็จะได้รับการเตือนกลับไปว่า หลังจากที่พูดแล้วจะยังไงต่อ หรือแค่อยากระบายเฉย ๆ เป็นการเตือนสติเขาเฉย ๆ ว่า อันนี้คือหายแล้วใช่ไหม หรืออยากได้อะไรเพิ่มเติม เพราะทุกคนเวลาเจอคำถามนี้แล้วก็จะเริ่มคิดได้ว่าในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในระดับไหนแล้ว

อีกอย่างที่อยากถามด้วย อยากรู้ส่วนตัวด้วยก็คือ ด้วยการทำงานทุกอย่างมันก็ต้องเกี่ยวข้องกับคน และปัญหาหลายอย่าง สาเหตุก็มาจากคนนี่แหละ ทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกค้า คนที่ต้องดีลงานด้วย ฯลฯ คุณเองมีวิธีการจัดการกับเรื่องนี้ยังไง

อันนี้จริง ๆ ก็เป็นเรื่องของการจัดการความรู้สึกตัวเองนี่แหละค่ะ คือแต่ก่อนปิวเป็นคนที่ต้องทำงานกับลูกค้า แล้วโดนลูกค้าว่า ปิวทำมาแล้วทุกรูปแบบนะ ทั้งพังงานเขา เช่น ถ้าเขาอยากได้อันนี้ แต่เราไม่ทำให้ เพราะเขาพูดจากับเราไม่ดี แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีขึ้น หรือพยายามพิสูจน์ตัวเองในสิ่งที่เขาดูถูกว่า จะต้องทำให้ได้ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเหมือนกันอยู่ดี ณ วันที่เขาจะดูถูกเรา ต่อให้เราทำดีเท่าที่เขาพูด หรือดีกว่าที่เขาพูด เขาก็จะดูถูกอยู่ดี

มันเลยเป็นการจัดการความรู้สึกที่ว่า ถ้าเธอพูดว่าเราทำผิด มันเป็นจริงไหม ในหัวปิวจะคิดเป็นตรรกะว่าถ้าทำอะไรแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าจริง ปิวจะแก้ให้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ปิวก็จะไม่แก้ แล้วสุดท้ายสิ่งที่พูดก็ทะลุผ่านหูไป ก็จบ หรือถ้ามีคนมาด่าเรา ก็ต้องคิดว่าคนนี้เราต้องฟังไหม ถ้าเป็นหัวหน้า ยังไงก็ต้องฟัง แต่ฟังแล้วยังไงต่อ ด่ากลับเหรอ หรืออยู่เฉย ๆ ในหัวปิวจะมี 2 กิ่งนี้เสมอ ถ้าอยู่เฉย ๆ ก็วางทุกอย่างในห้องประชุมคืนเขาไป

ปิวจะเป็นคนที่ไม่เก็บสิ่งเหล่านี้เอามาเครียดต่อ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเครียดหรือทุกข์ มาจากตัวเราเองทั้งนั้นเลย ปิวเลยก็จะไม่หยิบสิ่งนั้นมาเผา มาแทงตัวเองซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ

จุดเริ่มต้นของการเป็นทาเลนต์กับทาง Madan เริ่มต้นมาจากไหน

จริง ๆ ต้องถือว่าเป็นโชคชะตาพรหมลิขิตเหมือนกันค่ะ เพราะว่าต้วปิวเองทำช่อง YouTube ตอนประมาณปี 2021 ก็มีโอกาสได้ทำรายการชื่อ ‘อาหารตา’ ที่ชวนน้อง ๆ หนุ่ม ๆ ไปกินข้าว ซึ่งหนึ่งในคนที่เราชวนก็คือแพน (ศรุต เตียตระกูล) ที่เป็นทาเลนต์ของ beartai อยู่แล้ว เพราะว่าแพนก็เป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนอยู่แล้ว แพนก็เลยมาเป็นแขกรับเชิญให้ ทีนี้จับพลัดจับผลู พอดีว่า madan.fun เองกำลังหาทาเลนต์เพิ่มเติม แพนก็เลยส่งคลิปอันนั้นไปให้ทางบรรณาธิการดูว่าสนใจไหม อยากคุยไหม ซึ่งก็ตรงกับที่ Madan เองกำลังต้องการหาพอดี ก็เลยลองถ่าย Pilot ปรากฏว่า บ.ก. ชอบ ก็เลยได้ลงทางช่องจริง ๆ เลย

ลงลึกหน่อยว่าคุณทำคอนเทนต์อะไรบ้างกับทาง Madan

คอนเทนต์ของ Madan ที่ปิวทำก็จะมี 2 อย่างค่ะ อันแรกก็คือรายการที่ชื่อว่า ‘Just Why’ เป็นรายการที่สร้างมาเพื่อปิวเลย เนื้อหาก็จะเป็นแนว Reaction หรือ Recap ซีรีส์วาย หรือไม่ก็พาไปบุกเบื้องหลังคอนเสิร์ต Fan Meeting หรือ Vlog ที่เกี่ยวกับศิลปินซีรีส์วาย อันนี้ก็จะเป็นพาร์ตหนึ่ง แล้วก็จะมีส่วนช่วยคิดเนื้อหากับทาง บ.ก. ด้วยว่า เนื้อหาแบบนี้ถ้าอยู่ใน Madan น่าจะดีหรือที่ปิวอยากทำ แล้วก็จะมีคอนเทนต์ที่ยืนพื้นก็คือ Live ที่จะมีประจำทุกเดือนค่ะ เพราะว่าเราเองก็จะมีความใกล้ชิด มีเคมีที่ส่งเสริมกับศิลปินและรวมถึงเราเองด้วย

การที่คุณเคยทำงานเกี่ยวกับวงการสายวายมาก่อน พอมาทำกับ Madan แล้ว มีความท้าทายอย่างไรบ้าง

อันนี้อาจจะเป็นความลับนางฟ้าที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือ คือปิวเองไม่เคยดูซีรีส์วายมาก่อนเลยค่ะ ไม่เคยอยู่ใกล้สายวายมาก่อนเลย คือปิวเองก็ชอบเรียนรู้นะ หมายถึงว่าถ้ามันเป็นหน้าที่ที่ปิวจะต้องทำ ก็ทำได้นะ ไม่ได้ฝืน ถ้าจะต้องดูเพื่อเรียนรู้ก็ดูได้ อย่างการ Recap ซีรีส์วาย ปิวก็ต้องไปนั่งดูซีรีส์มาก่อน แล้วลิสต์หัวข้อขึ้นมาเพื่อเอาไปคุยกับ บ.ก.

หรือ Reaction ที่หลายคนอาจจะมองว่ามันง่าย แค่ตั้งกล้องแล้วก็พูดอะไรก็พูด แต่สิ่งที่ปิวต้องทำคือต้องดูเพื่อให้รู้ว่าเนื้อเรื่องเป็นยังไง ตัวละครมีใครบ้าง ดูจบแล้วมีอะไรที่อยากจะบอกกับคนดู หลังจากลิสต์หัวข้อแล้วก็ต้องคุยกับ บ.ก. อีกว่าถ้าหัวข้อประมาณนี้จะพอได้ไหม ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้คนดูเข้าใจและอินไปกับเราด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนในทีม Madan ตกใจก็คือ ปิวเล่น Twitter ไม่เป็น เพราะปกติคอนเทนต์หรือแฟนคลับสายวายก็มักจะไปคุยกันในทวิตเตอร์ แล้วเราจำเป็นต้องใช้เพราะจะได้เข้าไปอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับศิลปิน จำได้ว่าทีมงานต้องมาสอนปิวให้เล่นทวิตเตอร์เลยด้วยซ้ำ แต่ว่าตอนนี้ทุกคนเห็นปิวทวีตจนลืมไปแล้วว่าปิวคือคนที่เล่นทวิตเตอร์ไม่เป็นเมื่อ 2 ปีก่อน

ใน Madan มีศิลปินสายวายเข้ามามากมาย ส่วนตัวคุณประทับใจคู่ไหนหรือคนไหนเป็นพิเศษ

ถ้าเอาจริง ๆ ก็ไม่เชิงสายวาย เพราะว่า Madan จะมี 2 ขาใช่ไหมคะ นั่นก็คือสายวาย แล้วก็สายศิลปิน T-Pop ที่เป็นวงด้วย อย่างตอนนี้ที่ปิวชอบก็จะมีน้อง ๆ วง LAZ1 ที่เราชอบและเอ็นดูเขา ปิวเองไม่ได้มีศิลปินที่ชอบถึงขนาดเป็นเมน (สมาชิกที่ชอบที่สุดในวง) เพราะว่าศิลปินที่เราทำงานด้วยแล้วประทับใจ มักจะมีฟีลความเป็นน้อง เหมือนเราเอ็นดูเขาเป็นน้องมากกว่า แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นแฟนคลับขนาดนั้น

แล้วในฐานะที่คุณรีแอ็กชันซีรีส์หลายเรื่อง มีเรื่องไหนที่คุณอยากแนะนำ อยากป้ายยาเราไหม

เท่าที่ปิวรีแอ็กชันซีรีส์มา มีซีรีส์ที่ปิวชอบ และเชื่อว่าทุกคนก็น่าจะชอบอย่แล้ว นั่นก็คือ คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ (KinnPorsche The Series) ที่ฉายเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เรียกว่าเป็นซีรีส์วายที่มาพลิกวงการเลยก็ว่าได้ เพราะปกติซีรีส์วายมักจะมาในรูปแบบของนักศึกษาบ้าง ทำงานออฟฟิศบ้าง แต่เรื่องนี้เนื้อเรื่องจะเป็นซีรีส์มาเฟีย

ซึ่งจริง ๆ ถ้าตัดความเป็นวายออกไป มันก็คือซีรีส์ดี ๆ เรื่องหนึ่งเลย เพราะว่ามันดีทั้งบท การแสดง เสื้อผ้าหน้าผม โปรดักชันที่เขาลงทุน มอบความบันเทิง ความสนุกได้ดีเลย ปิวเลยมองว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นการยกระดับซีรีส์วาย หรือซีรีส์ขึ้นมาเลยก็ได้ เป็นเรื่องที่ปิวมักจะแนะนำคนที่ไม่ดูซีรีส์วายเลย มาดูซีรีส์เรื่องนี้เยอะมาก

แล้วถ้าเขายังไม่อยากดูล่ะ อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คุณจะแนะนำจุดเด่นของซีรีส์วายอย่างไรกับเขาคนนั้น

เสน่ห์ของความเป็นซีรีส์วาย ที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง หรือตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงถึงชอบดูซีรีส์วาย ปิวคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของจินตนาการ เท่าที่ปิวเคยดูซีรีส์มาหลาย ๆ เรื่อง ส่วนใหญ่ซีรีส์มักจะสร้างมาจากหนังสือนิยาย เขาก็เลยมาดูความคาดหวังจากสิ่งที่เขาเคยจินตนาการสิ่งที่เขาประทับใจจากหนังสือ อยากดูว่าสิ่งที่เขาจินตนาการจากหนังสือมาเป็นซีรีส์มันจะหน้าตาออกมาเป็นยังไง ใครเป็นคนแสดง เสื้อผ้า เซตติงจะเป็นอย่างไร เหมือนที่เขาเรียกกันว่าจิ้น ก็คือเป็นการจินตนาการถึงตัวละคร อะไรทำนองนี้

ซึ่งบางคนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะนึกว่าซีรีส์วายคือซีรีส์เกย์หรือเปล่า ปิวว่าการมองแบบนี้ไม่ได้แปลว่าถูกหรือผิด แต่ปิวมองว่ามันก็เหมือนเรื่องราวที่มีตัวละคร 2 ตัวรักกัน อย่างที่บอกว่าปิวเองไม่เคยดูซีรีส์วายมาก่อน การจะบอกว่า LGBTQIA+ มักจะดูซีรีส์วายนั้นเป็นเรื่องไม่จริง เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้หญิง

ในอนาคตปิวไม่อยากให้มีคำว่าวายนำหน้าด้วยซ้ำ เพราะว่าซีรีส์ทุกเรื่องควรจะเปิดกว้างให้กับความรักในหลาย ๆ รูปแบบ ขึ้นชื่อว่าสื่อบันเทิง ไม่ว่าความรักจะเป็นแบบไหน จะเป็นเพศไหน มันก็คือความบันเทิงเหมือนกัน ถ้าไม่ได้มีการแบ่งหมวดหมู่ ปิวว่าวงการบันเทิงไทยน่าจะไปได้อีกระดับหนึ่งเลย

ถ้าสมมติว่าวันหนึ่ง ปิวมีด้อมแฟนคลับเป็นของตัวเอง เหมือนศิลปินหลาย ๆ คน ปิวจะตั้งชื่อด้อมของตัวเองว่าอะไร

โห (นึกนาน) ยากเลย เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน เป็นสิ่งที่ยากสุด ๆ ชื่อด้อมว่า ‘คุณพี่สาว’ ก็แล้วกัน เพราะว่าส่วนใหญ่ปิวจะค่อนข้างอายุมากกว่าน้อง ๆ ศิลปิน มีน้อยคนมากที่โตกว่าเรา ทุกคนก็เลยจะมองเราในลุคพี่สาว อะไรแบบนี้

คำถามสุดท้าย ถ้าคุณได้มีโอกาสคิดคอนเทนต์ให้กับ Madan และให้คุณเป็นโฮสต์ให้กับคอนเทนต์นั้น ๆ คุณอยากทำอะไรมากที่สุด

ปิวว่าปิวอยากจะคุยกับศิลปินแบบ Deep Talk ยิ่งถ้าเป็นศิลปินที่เคยทำงานด้วยกัน มันจะไม่ใช่แค่ความสนุกที่ได้เอามาให้คนดู แต่มันจะเป็นความรู้สึกจริง ๆ อีกด้านหนึ่ง เพราะบางทีเวลาเราเห็นศิลปิน เรามักจะไม่ค่อยรู้ว่ามีอีกมุมหนึ่งที่เป็นแบบนี้ พอเราทำงานมาสักระยะเวลาหนึ่ง เราก็อยากจะนำเสนออะไรแบบนี้ และเชื่อว่าแฟนคลับหรือคนที่ดูก็จะรู้สึกรักเขามากขึ้น หรือเจอแฟนคลับฐานใหม่ ๆ ที่รักเขาในแบบที่เขาเป็นมากขึ้น

ถ้าคุณได้มีโอกาส Deep Talk จริง ๆ คุณจะคุยกับศิลปินคนไหนเป็นคนแรก

(ตอบทันที) ต้องเป็นคอปเตอร์ (ภานุวัฒน์ เกิดทองทวี) เพราะจริง ๆ ไอเดียของคอนเทนต์นี้เกิดจากคอปเตอร์ เพราะว่าพอปิวได้รู้จักกับน้องมากขึ้น ตอนแรกเราทำงานในฐานะศิลปินกับพิธีกร แล้วพอได้มาเป็นครีเอทีฟที่ Lemonade และเป็นทาเลนต์ ก็ได้มีโอกาสคุยกันมากขึ้นเป็นฟีลแบบพี่น้อง ซึ่งความรู้สึกมันต่างออกไปในทุก ๆ ครั้งที่เจอกัน ถ้าได้มีรายการนี้ก็น่าจะเป็นการดึงเอาเสน่ห์ของศิลปินแต่ละคนออกมาให้คนดูเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง