รีเซต

‘ไม่อยากมีลูก’ ความคิดของคนรุ่นใหม่ กำลังทำสังคมบิดเบี้ยวจริงหรือ?

‘ไม่อยากมีลูก’ ความคิดของคนรุ่นใหม่ กำลังทำสังคมบิดเบี้ยวจริงหรือ?
แบไต๋
13 กันยายน 2566 ( 16:51 )
105

“ทำไมแต่งงานแล้วไม่รีบมีลูก เดี๋ยวก็ไม่ทันใช้กันพอดี แล้วใครจะมาคอยดูแลยามแก่เฒ่า” นี่คือคำพูดที่ถูกกรอกหูคนไทยมานานแสนนาน ให้มีความกตัญญูตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ ที่เลี้ยงเรามาจนเติบใหญ่ แต่ปัจจุบัน ความคิดเหล่านี้กำลังค่อย ๆ เลือนหายไปจากคนรุ่นใหม่ แม้จะแต่งงานสร้างครอบครัวไปแล้ว แต่ก็ยังไม่อยากมีลูก ไม่อยากมีภาระ ลำพังแค่จะเอาชีวิตรอดในแต่ละวันก็เหนื่อยมากพอแล้ว อะไรทำให้คนหมู่มากในเจนหนึ่ง ๆ ละทิ้งสัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เช่น การขยายเผ่าพันธุ์ได้ แล้วการไม่มีลูกมันหมายความว่ายังไงหากมองในมุมเศรษฐกิจ

ไม่มีลูก ไม่มีภาระ

ด้วยค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ต้องใช้ ทำให้มาตรฐานของการเป็นพ่อแม่ที่ดีสูงขึ้น และการต้องเลี้ยงลูกในสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน ทั้งเรื่องของสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง สังคมที่เหลื่อมล้ำ ไปจนการเมืองโลกที่โอนเอน ทำให้มุมมองของคน Gen Z เกิดการเปรียบเทียบโลกในมุมมองที่แย่ลง และการจะเลี้ยงลูก 1 คนให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่สมบูรณ์นั้น อาจต้องใช้เงินประมาณ 2,000,000 บาท เป็นอย่างต่ำ เพื่อดูแลเด็กคนหนึ่งตั้งแต่เริ่มตั้งท้องไปจนถึงจบการศึกษา และสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้

นอกจากเรื่องการเงินแล้ว ยังต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบ ความพร้อมและเวลาที่ต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับการดูแลชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น การจะไปเที่ยวสังสรรค์ ปาร์ตี้ หรือใช้ชีวิตแบบอิสระเหมือนตอนที่ยังไม่มีลูกอาจทำได้ไม่บ่อยนัก ยิ่งในยุคที่สังคมยิ่งโหดร้าย และพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเพราะต้องทำงานนอกบ้าน ก็เหมือนกับการทำลายชีวิตคนหนึ่งทางอ้อมเช่นกัน

ไม่มีลูกถึงกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง? 

จากการวิเคราะห์โดยองค์กร International Strategic Analysis พบว่า อัตราการเกิดที่ต่ำลงอย่างเฉียบพลันทั่วโลกจะนำไปสู่การที่มีแรงงานเข้าสู่ตลาดงานน้อยลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีคนวัยทำงานต่ำลงจะต่ำไปอีก ส่วนฝั่งผู้บริโภคก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะสังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ส่วนภาคแรงงานแม้จะเข้าสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรมอัตโนมัติ มีหุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่ทดแทนมนุษย์แล้ว แต่ก็ทดแทนความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ไม่ได้

โจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาการมีลูกต่ำหรือไม่อยากมีลูก อาจต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนมากพอจะทำให้ประชาชนมั่นใจว่า การจะให้เด็กคนหนึ่งเกิดมาในโลก มาอยู่ในประเทศที่ไม่อนุญาตให้คนที่มีชีวิตอยู่ลืมตาอ้าปากได้ คงจะต้องล้มเลิกไปก่อน

อยู่กันแค่ 2 คน ก็มีความสุขดี

หนึ่งในแนวคิดที่ทำให้คนไม่อยากมีลูกคือ DINK คำแสลงที่นิยามถึงคู่รัก ย่อมาจาก ‘Double Income, No Kids’ หมายถึง คนที่ทำงานมีรายได้ทั้งคู่ ฐานะทางการเงินดี แต่ไม่ได้อยากมีลูก

โดยแนวคิดนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 ถือเป็นวิถีชีวิตที่คนรุ่นใหม่อยากเป็นมากขึ้น DINK ยังเป็นได้ทั้งคู่รักที่เพิ่งอยู่ด้วยกัน คู่รักเพศเดียวกัน หรือคู่รักที่ลูกเติบโตออกไปใช้ชีวิต มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้วอีกด้วย

แล้วทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูก? หรือไม่ได้รู้สึกกว่าการไม่มีลูกคือชีวิตคู่ที่ไม่สมบูรณ์ แค่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มีเงินในกระเป๋าไว้ใช้จ่าย หรือซื้อของที่อยากได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บออมไว้เป็นค่าใช้จ่ายของลูกในอนาคต เมื่อตัวหารลดลงบวกกับมีรายได้มั่นคงทั้งสองทาง ทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัว DINK มั่นคงมากขึ้น และมักร่ำรวยกว่าครอบครัวที่มีลูก เพราะไม่มีค่าให้จ่ายสำหรับลูก

หนุ่มสาวทั่วโลกไม่อยากมีลูก

เห็นได้จากคนรุ่นใหม่ในหลายมุมโลก ที่เริ่มหันมาใช้ชีวิตตามแนวคิดนี้มากขึ้น เช่น กลุ่มเจน Z จำนวน 1,024 คน ในสหรัฐอเมริกาที่เกิดหลังปี 2540 วางแผนอนาคตไว้ว่าจะได้ชีวิตแบบ DINK สักวันหนึ่ง และอยากเป็นครอบครัวที่มีรายได้สองทาง แบบไม่ต้องมีลูก โดย 98% ของคนกลุ่มนี้ เห็นด้วยว่าการจะใช้ชีวิตแบบมีความสุขเงินคือสิ่งสำคัญที่สุด และการจะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ต้องมีความมั่นคงทางการเงิน

อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจนคือ รายได้ของครอบครัว DINK ที่ มากกว่าครอบครัวทั่วไป โดยค่าเฉลี่ยสำหรับครอบครัว DINK อยู่ที่ประมาณ 4,800,000 บาท ส่วนครอบครัวที่ไม่ใช่ DINK จะมีรายเฉลี่ยราว 3,600,000 บาท 

นอกจากฝั่งตะวันตกแล้วหนุ่มสาวจากฝั่งเอเชียอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ก็มองว่าการใช้ชีวิตแบบ DINK เริ่มเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดย 46% จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,241 คนที่อายุ 20-40 ปี เป็น ‘คู่รักที่ไม่มีลูก’ จะแชร์ค่าครองชีพ และครึ่งหนึ่งมีเงินเหลือไปฝากออมทรัพย์ ขณะที่ 81.3% บอกว่าพวกเขาชอบการบริโภคตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และ 93.2% รู้สึกว่าไม่ต้องกังวลใจ หากจะไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ในวันหยุด

แม้การสำรวจนี้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นคาดว่าเปอร์เซ็นต์ของคู่สมรสที่ไม่มีลูก จะเพิ่มขึ้นเป็น 21.2% ของครัวเรือนญี่ปุ่นภายในปี 2578

ส่วนในประเทศไทยของเรา เริ่มมีแนวโน้มการใช้ชีวิตแบบ DINK มากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ‘สำนักงานสถิติแห่งชาติ’ ตั้งแต่ปี 2549-2561 สะท้อนว่าประเทศไทยมีโครงสร้างที่เรียกว่า ‘ครัวเรือนไร้ลูกหลาน’ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยปี 2561 พบครัวเรือนที่ไม่มีลูกหลานถึง 37.4% ของครัวเรือนทั้งหมด เรียกง่าย ๆ ว่าเพิ่มขึ้นถึง 43.3% จากปี 2549 ที่มีอยู่ 26.1% เท่านั้น

อัตราเกิดต่ำ บังคับสามีทำหมัน ทำทัศนะสังคมไทยบิดเบี้ยว

หากดูจากข้อมูลเด็กเกิดใหม่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่า ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 502,107 คน จากเป้าหมาย 700,000 คน แต่มีคนตายมากถึง 595,965 คน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี และเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ประเทศไทยมีจำนวนคนตายมากว่าเด็กเกิดใหม่ ถือว่าเป็นอัตราที่สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งอัตราการเกิดที่ลดลงจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้งเกิดภาวะพึ่งพิง วัยแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น 

ร้อนไปถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจใหม่ถึงความเชื่อว่า “การมีลูกมากจะยากจน เรื่องนี้ต้องเอาออกจากสมองของคนไทย และการที่คนไทยไม่ยอมมีลูก โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้ ความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ หลายคู่พอแต่งงานปุ๊บ ก็บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะหากเราไม่เพิ่มฐานประชากร เราจะแข่งขันกับใครไม่ได้” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครอบครัวยังมีความเชื่อว่า การเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เป็นเรื่องดี เป็นการตอบแทนบุญคุณ แต่หากจะหวังว่ามีลูกไว้ให้กลับมาเลี้ยงตอนแก่ อาจกลายเป็นการลงทุนที่เสี่ยงพอสมควร สังเกตได้จาก คนที่หวังให้ลูกเลี้ยงส่วนใหญ่มักจะผิดหวัง หรือไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ แต่กลับกันคนที่ไม่ได้หวังให้ลูกมาเลี้ยง ส่วนใหญ่ลูก ๆ จะเต็มใจเลี้ยงทั้งนั้น

สุดท้ายแล้ว การจะมีลูกหรือไม่ มันคือการตัดสินใจร่วมกันระหว่างสามีภรรยา

ที่ไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้ว่าการมีลูก ดีกว่า หรือ ไม่มีดีกว่า 

ที่มา : investopedia, bccjacumen, rubyhome, isa-world.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง