รีเซต

ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล คนไทยผู้อยู่เบื้องหลังแอนิเมชันระดับโลกของ Sony Pictures

ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล คนไทยผู้อยู่เบื้องหลังแอนิเมชันระดับโลกของ Sony Pictures
แบไต๋
20 สิงหาคม 2566 ( 23:14 )
81
ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล คนไทยผู้อยู่เบื้องหลังแอนิเมชันระดับโลกของ Sony Pictures

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Spider-Man: Across the Spider-Verse’ หรือชื่อไทยว่า ‘สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม’ เป็นผลงานอันล้ำค่าที่ครองใจผู้ชมจากทั่วโลกไปไม่น้อย การันตีด้วยรายได้ทั่วโลกที่ทำเงินไปสูงถึง 686 ล้านเหรียญ (24,400 ล้านบาท) ขึ้นแท่นเป็นหนังแอนิเมชันทำเงินสูงสุดของ Sony ไปแล้วเรียบร้อย

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นหนังที่แหวกขนบแอนิเมชันธรรมดาทั่วไปจนเข้าขั้น ‘บ้าคลั่ง’ เลยก็ว่าได้ ยอมใจในความทุ่มเทของทีมงานจากสตูดิโอ Sony Pictures เขาจริง ๆ ซึ่งหนึ่งในความสมบูรณ์แบบนั้น มีคนไทยที่มีส่วนร่วมในการให้ชีวิตกับฝูงแมงมุมเหล่านี้ด้วย

เขาคือ ช้าง – ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล จากหนุ่มสถาปนิกสู่การเบนเข็มเข้าวงการ Computer Graphic ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบริษัททำด้าน Visual Effect (VFX) นามว่า Chaya Pictures และเป็นส่วนหนึ่งในสตูดิโอระดับโลกอย่าง Sony Pictures เจ้าของผลงานมากมาย เช่น Cloudy with a Chance of Meatballs, Alice in Wonderland, Hotel Transylvania, The Angry Birds Movie รวมไปถึงไฮไลต์อย่างแอนิเมชันสไปเดอร์แมนทั้ง 2 ภาค ทั้ง Spider-Man: Into the Spider-Verse และ Spider-Man: Across the Spider-Verse

ผลงานของสตูดิโอ Sony Pictures

จุดเริ่มต้นสายอาชีพ

ต้องบอกก่อนว่าตัวผมเรียนจบสถาปนิกมา แล้วสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครใช้คอมพิวเตอร์ทำงานสถาปนิกเท่าไหร่ ผมก็เลยใช้คอมพิวเตอร์ลองออกแบบภาพตึก ภาพอาคารดู ตอนนั้นรับงานเป็นฟรีแลนซ์แล้วรู้สึกสนุกดี พอทำมาได้ 2 ปี ก็เลยอยากไปเรียนต่อด้าน Computer Graphic ส่วนตัวผมเป็นคนชอบดูหนังอยู่แล้วด้วย สมัยนั้น ค่าย Pixar มันมีหนังที่เหมือนเป็น ‘นวัตกรรม’ ของโลกภาพยนตร์ พวก Monsters Inc, Finding Nemo, The Incredibles อะไรพวกนี้ ผมก็เลยรู้สึกว่าอยากลองไปเส้นทางนี้ดู

ตัวอย่างผลงานจาก Pixar

เบนเข็มจากสถาปนิก สู่การทำ CG โฆษณา

แต่ก่อน วงการนี้มันยังใหม่มาก บริษัทในไทยก็ยังไม่ค่อยมี ตอนนั้นที่ไปเรียนก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ ไม่ได้คิดว่าจะต้องไปทำงานต่างประเทศหรือจะต้องไปทำกับ Hollywood แค่รู้สึกว่าอยากรู้ อยากทำเป็น ก็เลยไปเรียน ง่าย ๆ แค่นั้นเลย สุดท้ายก็สมัครไปเรียนที่นิวยอร์ก เป็นรูปแบบปริญญาโท เรียน 2 ปี สาขา Computer Art ตอนจะเรียนจบเขาก็ให้ทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) เป็นแอนิเมชันประมาณ 3 นาทีครึ่ง แต่ต้องทำนานถึง 8 เดือน ซึ่งทุกคนต้องทำ

วันที่เราจบ มันจะมีการเปิดผลงานของเราขึ้นโรงภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัย มีเชิญคนข้างนอกเข้ามาดูด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกแมวมองจากบริษัทต่าง ๆ ของนิวยอร์ก วันต่อมา ผมก็ได้รับอีเมลจากบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง เรียกเข้าไปสัมภาษณ์งาน ผมก็ตัดสินใจเข้าไปทำงานที่บริษัทโฆษณาแห่งนี้แหละ เก็บสะสมประสบการณ์ไป


อยากรู้ อยากทำเป็น ก็เลยไปเรียน ง่าย ๆ แค่นั้นเลย

เส้นทางสู่การร่วมงานกับ Sony Pictures

ระหว่างที่ทำงาน ผมก็นึกได้ว่าผมมี Thesis อยู่ ซึ่งเพื่อน ๆ ก็ชมว่าผลงานของเรามันเจ๋งดีนะ เราเองก็อยากรู้ว่าผลงานของเรามันจะไปไกลได้ขนาดไหน เลยลองส่งประกวดดู ส่งไปทั่วโลกเลยทั้งงานเล็กและงานใหญ่ ปรากฏว่าได้รางวัลกลับมาเยอะเหมือนกัน มี 2 รางวัลที่ได้เป็นรางวัลใหญ่ อันแรกเป็นรางวัลของทาง Adobe อีกรางวัลเป็นของ Student Academy Awards เปรียบเหมือนเป็นรางวัลออสการ์ของเหล่านักเรียนเลย

วันที่ผมชนะรางวัล จู่ ๆ ก็มีอีเมลเข้ามา ปรากฏว่าเป็นอีเมลของ Vice President จากทาง Sony ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินเวที Student Academy Awards นี้แหละ เชื่อไหมว่าผมยังเก็บอีเมลเขาไว้อยู่เลย ตอนแรกก็แทบไม่เชื่อว่าเป็นอีเมลจริงหรือเปล่า แต่พอเช็กแล้วก็ เฮ้ย ของจริงเว้ย! เขาบอกว่า “Congratulations… ” ตอนนั้นเราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าถ้าชนะรางวัลแล้วจะยังไงต่อ แต่ในอีเมลเขาบอกละเอียดเลยว่า “ตอนเข้ามารับรางวัล ให้เข้ามาสัมภาษณ์งานที่ Sony ด้วย”

ความรู้สึกตอนนั้นก็ดีใจ แต่ก็ชั่งใจอยู่นิดหน่อย เพราะเตรียมแพ็กกระเป๋าจะกลับบ้านที่ไทยแล้ว แต่เพื่อนผมก็บอกว่า “เอ็งจะบ้ารึเปล่า คนอื่นเขาไม่ได้โอกาสนี้กันนะเว้ย” (ฮา) ผมก็เลยตัดสินใจตอบรับไป สรุปพอผมรับรางวัลอะไรเสร็จ วันต่อมาผมก็ไปสัมภาษณ์งานเลย ซึ่งมันประหลาดมากนะ ผมไม่มีคลิปนำเสนอผลงาน (Demo Reel) ผมถือแค่ Thesis ของผมเข้าไปสัมภาษณ์งาน จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่มี Demo Reel เลย นั่นแหละครับก็เป็นประตูแรกที่ผมได้เข้าไปทำงานกับ Sony

บรรยากาศการทำงานใน Sony Pictures

เข้าไปปุ๊บ ผมทำงานเป็น Junior Lighting ให้กับหนังเรื่องมหัศจรรย์ลูกชิ้นตกทะลุมิติ (Cloudy with a Chance of Meatballs) ผมจำได้ว่าช่วงนั้นเป็นการทำงานที่สนุกมาก ทีมมันเล็ก คนยังไม่เยอะมาก ประมาณหลักร้อยคน แต่ทีมผมมีประมาณ 10 คนเอง

ปัจจุบันผมเป็น Senior Lighting Technical Director พูดให้เข้าใจแบบง่าย ๆ การ Lighting คือการวางแสงให้กับช็อตนั้น ๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความสวยงาม ถ้าเป็นช็อตที่ต้องการสื่ออารมณ์ก็ต้องสื่อความหมายถึงอารมณ์ที่ต้องการด้วย

ช่วงแรกมันกดดันตรงที่เครื่องไม้เครื่องมืออะไรมันใหม่หมด แต่ด้วยบรรยากาศในการทำงานของทีม มันเลยทำให้เราไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรขนาดนั้น ก็ช่วย ๆ กัน แต่เราก็ต้องถีบตัวเองอยู่พอสมควร เพราะมันมีคนอยากเข้ามาทำงานตรงนี้อยู่ตลอดเวลา ผมใช้เวลาอยู่ 2-3 เดือนกว่าจะคุ้นเคยกับเครื่องมือการทำงานของเขา หลังจากนั้นก็เริ่มไหลลื่นละ

ในแง่การทำงาน วันนึงผมจะต้องโดนตรวจงานอย่างต่ำ ๆ ก็วันละ 3 ครั้ง โหดสุดมากถึงวันละ 5 ครั้งเลย เขาก็จะมีการตรวจงานแบ่งเป็นรอบ ๆ รอบนึงเป็นคนนี้ตรวจ อีกรอบเป็นอีกคนตรวจ เรียงตามลำดับขั้นตำแหน่งผู้สร้างของหนังเรื่องนั้น ๆ ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นทาง Director ลงมาตรวจด้วยตัวเองเลย หลังจากนั้นก็แก้งานกันไปจนได้ซีนที่สมบูรณ์แบบออกมาจริง ๆ 

อันนี้เล่าให้ฟังนะครับ ตอนเขาคอมเมนต์งานเรา เขาจะไม่คอมเมนต์ตรง ๆ ว่าต้องปรับตรงนู้น ตรงนี้ แต่เขาจะคอมเมนต์ประมาณว่า “ตรงนี้มันยังดู Soft เกินไป ตรงนี้แข็งเกินไป” คือเขาคอมเมนต์ค่อนข้างเป็นเชิงนามธรรม (Abstract) ซึ่งเราก็ต้องไปตีโจทย์เอาเองว่าจะต้องแก้ยังไง

คุยถึงโปรเจกต์หฤโหดในแอนิเมชันเรื่อง Spider-Man

เล่าอย่างนี้ ตอนนั้นผมกำลังทำโปรเจกต์หนัง Angry Bird อยู่ แล้วปกติทุกเดือน ทุกทีมจะต้องมาประชุมรวมกันเพื่อพูดคุยอัปเดตโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่กำลังจะทำต่อ ๆ ไป ทีนี้เขาก็พูดถึงโปรเจกต์ Spider-Man ตอนนั้นผมนึกไม่ออกว่ามันจะออกมาเป็นยังไง เลยไม่ได้สนใจอะไร มาเห็นอีกทีตอนมีตัวอย่างหนังออกมา พอเห็นปุ๊บก็ “โห ไม่เหมือนที่คิดไว้เลยแฮะ” ผมสงสัยว่าเขาทำกันยังไง เลยลองทักไปถามเพื่อนที่ทำว่า “เห้ย ทำกันยังไงวะ บอกหน่อยดิ” เพื่อนก็บอกว่าไม่บอก แต่ให้มาทำด้วยกันเลย สรุปแล้วผมตัดสินใจไม่นาน โปรเจกต์มันน่าทำก็เลยไปทำ ไม่รู้หรอกว่ามันโหดหรือไม่โหด

โปรเจกต์ Spider-Man เป็นโปรเจกต์ที่โหดนะ ทำงานกันโหดมาก มันมีชั่วโมงการทำงานที่เยอะและมากกว่าปกติ ความเรื่องมากก็จะเยอะกว่าปกติเช่นกัน บางคนก็ไม่ชอบ บางคนก็รับได้ ส่วนตัวแล้วผมสนุกกับหนังภาคแรก สนุกมาก ๆ ด้วย มันเป็นแอนิเมชันที่มีพื้นที่ให้เราปล่อยความครีเอทีฟได้เยอะกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ อยากทำอะไรบ้า ๆ ก็ทำมาเลย ทำให้มีอะไรแปลก ๆ ในหนังเยอะมาก ดังนั้น คนที่ชอบทำอะไรตามสั่ง จะไม่ค่อยเหมาะกับโปรเจกต์หนังเรื่องนี้เท่าไหร่


คนที่ชอบทำอะไรตามสั่ง จะไม่ค่อยเหมาะกับโปรเจกต์หนังเรื่องนี้เท่าไหร่

ภาค 1 กับภาค 2 ความโหดต่างกันมากขนาดไหน

ผมว่าภาค 2 โหดกว่าเยอะนะ สำหรับคนที่มาทำภาค 2 เลยแบบที่ไม่เคยผ่านภาคแรกมาก่อนเนี่ยจะรู้สึกทรมานมาก เพราะภาคแรกเซ็ตมาตรฐานไว้สูงมาก ภาคต่อไปก็ยิ่งต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม คือตอนจบภาคแรกเนี่ย เพื่อนส่วนใหญ่จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “จะไม่ทำภาค 2 อีกแล้ว” แต่ตัวผมคิดว่าผมได้ประสบการณ์ที่ดีมากจากการทำงานภาคแรกนะ ซึ่งยอมรับเลยว่ามันก็หนักจริง ๆ

หนังสไปเดอร์แมนภาค 2 นี่หนักกว่าเดิมหลายเท่า เพราะเราไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของสไปเดอร์แมนแค่ยูนิเวิร์สเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่มันมีโลกของสไปเดอร์แมนอีกหลายตัว แล้วแต่ละตัวก็จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ทำให้ต้องจำให้ได้ว่าเครื่องมือสำหรับทำสไปเดอร์แมนตัวนี้เราต้องใช้เครื่องมือไหน อะไรยังไง

ปกติการทำ First Look ให้กับตัวละครในหนังเรื่องอื่น ๆ อย่างช้าสุดพรุ่งนี้ก็ต้องได้เห็นแล้ว แต่สำหรับหนังสไปเดอร์แมนกว่าจะได้โฉมแรกออกมาต้องกินเวลาเป็นอาทิตย์ เพราะขั้นตอนการทำมันเยอะมาก ตัวละครหลายตัวมีส่วนประกอบเยอะกว่าปกติ

ยกตัวอย่างตัวละคร มิเกล โอฮาร่า (Spider-Man 2099) มีส่วนประกอบในตัวมากถึง 11 ส่วน ซึ่งจะต้องเอาทุกส่วนมารวมกันแล้วถึงจะเรนเดอร์ออกมาได้ แล้วประกอบกันเป็นชุดของมิเกล ถ้าสังเกตดี ๆ เสื้อของมิเกลเขาจะมีความวิ้ง ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นแหละครับความยากสำหรับการทำตัวละครออกมาเพียงแค่ตัวเดียว

ตอนทำภาค 2 เนี่ย ผมได้คุยกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในสตูดิโอเดียวกัน ทุกคนเห็นตรงกันว่า “ไม่น่าจะมีใครทำได้แบบนี้แล้ว” ผมไม่ได้จะบลัฟใครนะ แต่เพราะว่ามันใช้เงินสูงมาก แล้วยิ่งต้องใช้กำลังสูงมากในการสร้างปิรามิดลูกนี้ออกมา ซึ่งคนอื่นอาจจะมีเงิน แต่คงไม่มีใครบ้าสร้างหรอก

มิเกล โอฮาร่า (Spider-Man 2099) ตัวละครที่มีขั้นตอนการสร้างสุดซับซ้อน

กระแสข่าวคนลาออกหลายร้อยคน เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า

ผมต้องบอกก่อนว่าเวลาสื่อทั่วโลกเล่นข่าว เขาชอบเล่นแต่ข่าวร้าย พอหนังมันประสบความสำเร็จ สื่อก็ได้ความสนใจตรงนั้นไป ถ้าถามว่าคนลาออกหลักร้อยคนจริงไหม ต้องบอกว่าจริงครับ แต่จริงแค่บางส่วน ถ้านับในจำนวนหลักร้อยคน มีคนที่ผมรู้จักแค่ 4 คนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีใครลาออกเพราะโปรเจกต์หนัง คนนึงออกเพราะเหตุผลด้านสุขภาพ อีกคนก็ออกเพราะบ้านโดนพายุถล่ม สภาพจิตใจเขาไม่ได้ อะไรประมาณนี้ มันไม่ใช่ว่าทั้งร้อยคนที่ถอนตัวไปจะออกเพราะโดนทารุณกรรมจากการทำหนังเรื่องนี้

อย่างของผมเซ็นสัญญาไว้ถึงแค่เดือนสิงหาคม แล้วเขาดันมายืดสัญญาต่อ ผมมีโอกาสบอกว่าผมจะไม่ต่อสัญญาก็ได้ ขอให้บอกเขาก่อน เดี๋ยวเขาก็จัดการได้ ผมบอกน้องที่ทำด้วยกันว่าเราไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น ต่อให้เราลาออกวันนี้ หนังมันก็เสร็จอยู่ดี นี่มันไม่ใช่โรงงานนรก (ฮา)


ผมบอกน้องที่ทำด้วยกันว่าเราไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น ต่อให้เราลาออกวันนี้ หนังมันก็เสร็จอยู่ดี นี่มันไม่ใช่โรงงานนรก

หวังให้ Spider-Man: Across the Spider-Verse ไปถึงออสการ์เลยไหม

ทุกคนหวังครับ ผมก็หวังนะ คือเราต้องดูคู่แข่งด้วย คู่แข่งที่น่ากลัวปีนี้ก็จะมี Elemental กับเรื่องนินจาเต่า ตอนสไปเดอร์แมนภาคแรกผมก็ไม่คิดว่าจะได้ ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าหนังซูเปอร์ฮีโรจะได้รางวัลออสการ์ เพราะปกติก็จะสลับกันระหว่าง Pixar กับ Disney อะไรประมาณนี้ (ฮา)

พูดถึงแอนิเมชันสไปเดอร์แมนภาค 3 กันบ้าง

คือภาค 2 มันจบซะแบบนี้ ยังไงก็ต้องมีภาค 3 อยู่แล้วครับ (ฮา) หนังมันทำกำไรเยอะด้วย ไม่มีเหตุผลที่สตูดิโอจะไม่ทำต่อ แต่ตอนนี้ยังไม่เริ่มทำนะ คนทำงานภาค 2 ทุกคนตอนนี้ยังไม่มีใครพร้อมที่จะทำภาค 3 เราเหนื่อยกันมาก ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คิดว่าคงไม่ใช้ระยะเวลาในการทำนานไปกว่าภาค 2 มากเท่าไหร่ อาจจะอยู่ในช่วง 1-3 ปีนี้

วงการแอนิเมชันในไทย จะพัฒนาต่อไปได้อีกไกลแค่ไหน

ตอนนี้อุตสาหกรรมแอนิเมชันในไทยก็เริ่มเติบโตบ้าง มีบริษัทที่ทำด้านนี้เพิ่มขึ้น แต่มันก็ไม่ได้เริ่มมาง่าย ๆ นะ คือเหมือนมันมีกำแพงกั้นอยู่ ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะสามารถมาทำได้ บางคนเริ่มมาจากการทำโฆษณาก็มี แต่ถ้าใครจะมาสายแอนิเมชันจริง ๆ เช่น การขยับหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ มีฟันเฟืองเยอะแยะ ก็ต้องมีความรู้ประมาณนึง ไม่งั้นงานพัง

ผมว่าวงการแอนิเมชันเมืองไทยยังพัฒนาไปได้อีก ส่วนหนึ่งที่ผมมาเปิดออฟฟิศเองก็เพื่ออยากได้งานคุณภาพเหมือนกับที่เราอยู่อเมริกา แต่ได้ผลงานออกมาจากเมืองไทย ผมเลยต้องเลือกน้อง ๆ ที่เก่ง ๆ เพราะทรัพยากรบุคคลสำคัญมากสำหรับงานสายนี้ ตัวผมเองก็ไม่สามารถทำผลงานออกมาเองได้ถ้าไม่มีน้อง ๆ ที่เก่งรองลงมาเรื่อย ๆ ผมคุยกับเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันที่มีกิจการเป็นของตัวเองแล้วเนี่ย เขาพูดเหมือนกันว่า “เก่งไม่ต้องมากก็ได้ ขอแค่ Attitude ดี” 


ทรัพยากรบุคคลสำคัญมากสำหรับงานสายนี้เก่งไม่ต้องมากก็ได้ ขอแค่ Attitude ดี

ช่างภาพ: วสันต์ บุญหนุน
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง